อู่ตะเภา แหลมฉบัง รอฟังศาลปกครอง!! รัฐบาล ต้องปรับตัว ขั้นตอนต้องไม่มั่ว เพราะต่างชาติคอยจับตา
ในยุคที่ฟ้ามีตา คดีปรัมปราก็ถูกรื้อฟื้น..เสาตอม่อปี 2556 คือ อนุสรณ์สถานที่ไม่ควรใช้คำว่า "ค่าโง่" แต่ควรใช้คำว่า ค่าโกงจากการประพฤติมิชอบของรัฐที่ทำธุรกิจกับภาคเอกชน ที่ตัดสินแล้วโดยศาลปกครอง
เมื่อภาครัฐผิดจริง โดยกระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ต้องจ่ายเป็นค่าเสียหายให้กับเอกชน คือบริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด
โดยศาลปกครองสูงสุดพิจารณาในวันที่ 22 เม.ย. 2562 หลังจากรอคอยมา 15 ปี ในที่สุดฟ้าก็มีตา ทำไม่ดี ยังไงก็มีคนเห็น ทำให้ประเด็นมาตรา 157 ต้องถูกหยิบยกมาศึกษา
ยุคนี้มีโครงการรัฐร่วมโครงการกับเอกชนมากมาย เช่น อู่ตะเภา และท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 ที่เรื่องยังค้างอยู่ที่ศาลปกครอง เพราะยุคนี้คนตรวจสอบไม่ต้องพึ่งโคนันยอดนักสืบ
แต่อ่านข่าวก็พบการผิดสังเกตหลายประเด็นรวมถึง การผลุบ ๆ โผล่ ๆ ของรายชื่อ นาริตะ ที่โผล่มาหลังหมดเขตการยื่นซองถึง 1 เดือนเต็ม เกิดคำถามว่ามาได้ ใครแอบเปิดประตูตอนดึกหรือไม่?
นอกจากนี้ยังมีประเด็นฟ้องศาลปกครองของ NCP สู้ไม่ถอยประมูลสร้างแหลมฉบังเฟส 3 ให้คณะกรรมการหยุดพิจารณาซองที่เหลือทั้งหมดก่อนจนกว่าศาลปกครองจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่นต่อไป เบื้องต้นนั้นศาลรับฟ้องแล้วได้หมายเลขคดี 818/2562 ทำให้ต้องยกมาติดตามเป็นกรณีศึกษาเพราะ
ที่ผ่านมาเคยมีบทความสรุป 14 ปีศาลปกครอง มีคดีฟ้องร้องหน่วยงานรัฐมากถึง 104,673 คดี พิจารณาเสร็จเพียง 83,223 คดี ซึ่ง “มหาดไทย-คมนาคม-เกษตร” ถูกฟ้องมากสุด จึงเกิดคำถามว่า ต้องยกระดับการทำงานสู่มาตรฐานมืออาชีพหรือไม่?
ข้อขัดแย้งกับภาครัฐที่เห็นตามหน้าหนังสือพิมพ์ ทำให้สังคมจึงเริ่มให้ความสนใจเรื่องมาตรา 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญา เนื่องจากประชาชนตื่นตัวกับเรื่องสิทธิและเสรีภาพกันมากขึ้น
แนวโน้มที่ประชาชนจะเรียกร้องเอาผิดกับเจ้าพนักงานเมื่อพบเห็นเจ้าพนักงานกระทำความผิดต่อหน้าที่จึงมีเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน โดยหลักแล้วมาตรานี้เป็นเรื่องการเอาผิดเจ้าพนักงานที่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
เจ้าพนักงาน หมายความถึงผู้ปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยได้รับการแต่งตั้งตามกฎหมาย ซึ่งคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 700/2490 ได้อธิบายถึงความหมายของเจ้าพนักงาน ว่าหมายถึง “ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งโดยทางการของรัฐไทย ให้ปฏิบัติราชการของรัฐไทย”
เนื่องจากบุคคลซึ่งเป็นเจ้าพนักงานนั้นถูกกำหนดให้มีบทบาทในสังคมที่เหนือกว่าบุคคลธรรมดาบางประการ ซึ่งมีผลมาจากอำนาจหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติ และต้องอยู่ในขอบเขตของกฎหมาย
จึงต้องมีการบัญญัติกฎหมายขึ้นมาเพื่อคุ้มครองและควบคุมบุคคลผู้เป็นเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่ ทำให้จะปฏิบัติตามใจชอบมิได้
กรณีฟ้องร้องที่คาในศาลปกครอง เช่น กรณีกลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นซีพี (NCP) ที่ยืนยัน ได้ดำเนินการยื่นเอกสารข้อเสนอด้านคุณสมบัติทั่วไปโดยถูกต้องครบถ้วนตรงตามเงื่อนไขที่กำหนด
และมีมูลค่าผลประโยชน์ตอบแทนตลอดอายุสัญญาสัมปทาน 35 ปี มีมูลค่าผลประโยชน์ตอบแทนเป็นจำนวนเงินที่สามารถแข่งขันกับคู่แข่งรายอื่นได้อย่างแน่นอน แต่ทำไมจะมาปรับตกแบบไม่ได้แข่งขัน จะขัดขากันก่อนเสียงนกหวีดดังเชียวหรือ?
กรณีที่ยกมาจึงน่าสงสัย โดยเมื่อวันที่ 26 เม.ย.ทางกลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นซีพี (NCP) ได้ใช้สิทธิยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางเพื่อให้พิจารณาเพิกถอนคำสั่งของ กทท. ที่มีต่อกลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นซีพี (NCP) ดังกล่าว
รวมถึงจะขอให้ศาลพิจารณาเพื่อกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวเพื่อระงับการดำเนินกระบวนการคัดเลือกเอกชนเพื่อร่วมลงทุนในโครงการพิพาทในขั้นตอนต่อไปไว้จนกว่าศาลปกครองกลางจะมีคำพิพากษา”
แต่หากกรรมการพิจารณาซองยังฝืน จะไม่รอคำสั่งศาล รีบเปิดโดยฝืนคำสั่ง แล้วมานั่งเสี่ยง บ้านเลขที่157 อยู่คนเดียวเพื่ออะไร และจากนี้ไปคงมีคนนำมากล่าวถึงไม่มากก็น้อย เพราะมีความเสี่ยงสูงมากที่จะเข้าข่าย เสียค่าโง่ ดำเนินการโดยมิชอบ
ดังนั้นทางที่ดีควรเดินแบบตรง มั่นคงในผลประโยชน์ประเทศ เปิดซองให้รู้กันไป ใครให้ผลประโยชน์สูงกว่าก็ชนะ ใครเปิดซองแล้วแพ้ ก็ยอมรับ นี่แหละประเทศไทยจึงจะเป็นประเทศที่น่าลงทุน งานของศาลปกครองก็จะน้อยลง ขอเพียงทุกคนมองประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก!!!