เนื้อหาในหมวด หนัง-ละคร

9 เรื่องน่ารู้ก่อนดู Beauty and the Beast

9 เรื่องน่ารู้ก่อนดู Beauty and the Beast

หลังจากที่เราได้ชมไลฟ์แอ็คชั่นที่บอกเล่าเรื่องราวของแม่มดมาเลฟิเซนต์ใน Maleficent ไปแล้ว ตามต่อกันด้วยเรื่องราวราวของเจ้าหญิงรองเท้าแก้วอย่างซินเดอเรล่าใน Cinderella และเมาคลีลูกหมาป่าใน The Jungle Book เมื่อปีก่อน ในปีนี้ Beauty and the Beast คือไลฟ์-แอ็คชั่นเรื่องล่าสุดของสตูดิโอดิสนีย์ ที่หยิบเอาแอนิเมชั่นเรื่องดังในอดีตมาปัดฝุ่นใหม่และใช้คนแสดง

 

 

1.จากตำนานครั้งเก่า
วรรณกรรมคลาสสิก “Beauty and the Beast” อันมีข้อคิดทรงพลังที่ว่า ความงามที่แท้จริงมาจากภายใน เริ่มมาจากวรรณกรรมในชื่อเดียวกันของฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 18
โดย “La Belle et la Bête” เวอร์ชั่นแรกที่ได้รับการตีพิมพ์โดยกาเบรียล-ซูซานน์ บาร์บ็อต เดอ วิลเลอเนิฟ ปัจจุบัน เรื่องราวนี้ยังคงร่ายมนต์สะกดนักเล่าเรื่องทั้งหลายเกี่ยวกับเรื่องราว “ความงดงามจากภายในสู่ภายนอก” ส่งผลให้มีการตีความหลายต่อหลายครั้งในสื่อทุกรูปแบบ แต่เวอร์ชั่นที่ได้รับการยกย่องอย่างมาก คือเวอร์ชั่นภาพยนตร์อนิเมชั่นที่ได้รับการเสนอชื่อชิงออสการ์ของดิสนีย์ในปี 1991

 

2.เกร็ดของ Beauty and the Beast เวอร์ชั่นปี 1991
Beauty and the Beast เป็นภาพยนตร์อนิเมชั่นเรื่องแรกที่ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลอคาเดมี อวอร์ด (รางวัลออสการ์) สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมและได้รับสองรางวัลออสการ์ (สาขาดนตรีประกอบและเพลงยอดเยี่ยม), สามรางวัลลูกโลกทองคำและสี่รางวัลแกรมมี อวอร์ด รวมถึงรางวัลอื่นๆ อีกมากมาย ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์อนิเมชั่นเรื่องแรกที่ทำรายได้ไปกว่า 100 ล้านเหรียญในบ็อกซ์ออฟฟิศในตอนแรกที่เข้าฉายและเป็นภาพยนตร์อนิเมชันดิสนีย์เรื่องแรกที่ถูกสร้างเป็นละครเวทีมิวสิคัล และได้เปิดการแสดงบนเวทีบรอดเวย์นาน 13 ปี มันถูกแปลเป็นแปดภาษาและเปิดการแสดงในกว่า 20 ประเทศ (รวมถึงในประเทศไทย)

 

3.การขยายเรื่องราวที่เราไม่เคยรู้
การนำเรื่องราวที่มีอยู่ดั้งเดิมเอามาสร้างใหม่นั้น การเล่าแต่เรื่องราวเดิมๆก็ดูจะน่าเบื่อจนเกินไป ดังนั้น Beauty and the Beast ในเวอร์ชั่นนี้จึงหยิบเอาเสี้ยวหนึ่งของชีวิตเจ้าชายก่อนที่พระองค์จะกลายเป็นอสูร และสิ่งที่เปลี่ยนให้พระองค์กลายเป็นคนที่สมควรจะต้องคำสาป นอกจากนั้น ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังเผยถึงรายละเอียดในชีวิตของเบลล์ก่อนที่เธอจะไปยังปราสาทและได้พบกับอสูร และช่วยอธิบายว่าทั้งคู่มีอะไรเหมือนกันและอะไรที่ทำให้พวกเขาเป็นพวกเขาอย่างทุกวันนี้

 

4.เบลล์
หลังจากที่สตูดิโอดิสนีย์ประกาศชื่อนักแสดงที่จะมารับบทบาทเป็น “เบลล์” ว่าคือ เอ็มม่า วัตสัน ก็เรียกได้ว่าสามารถทำให้หนังเรื่องนี้โดนจับตามองตั้งแต่ยังไม่ได้รับการสร้างด้วยซ้ำไป แน่นอนว่าวัตสันนั้นโด่งดังมาจากบทบาท เฮอร์ไมโอนี่ แกรนเจอร์จากแฟรนชายส์ Harry Potter นอกจากนี้เธอยังรับบทบาทผู้หญิงฉลาดๆในหนังหลายเรื่องอาทิ The Perks of Being a Wallflower,” “Noah” และ “The Bling Ring” นอกจากนี้วัตสันยังเป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนและทูตสันถวไมตรีของสหประชาชาติอีกด้วย

“ฉันชอบเรื่อง ‘Beauty and the Beast’ มาตั้งแต่สี่ขวบแล้วค่ะ” เธอเล่า “ฉันจำได้ว่าเบลล์เป็นหญิงสาวแสนเซี้ยวที่พูดในสิ่งที่เธอคิด มีความทะเยอทะยานและมีความเป็นตัวเองอย่างเหลือเชื่อ เธออยากจะเห็นโลกกว้าง และมีความสัมพันธ์กับอสูรในแบบที่ไม่มีใครยอมลงให้ใคร ซึ่งสำหรับฉันแล้ว มันเป็นความสัมพันธ์ที่วิเศษสุดและน่าสนใจแบบที่ฉันไม่เคยเห็นมาก่อนในเทพนิยายน่ะค่ะ” เอ็มม่า วัตสันกล่าว

ก่อนหน้าปี 1991 ตัวละครหญิงส่วนใหญ่ในแอนิเมชั่นดิสนีย์มักถูกมองว่าเป็นตัวละครที่ถูกกระทำและแบนราบ แต่เบลล์แหวกขนบดังกล่าว เธอสนใจวรรณกรรม มีความคิดเป็นของตัวเองและไม่หวาดกลัวอะไรง่ายๆ เธอกลายเป็นต้นแบบที่มอบพลังให้กับสาวๆ ทั่วโลกและเป็นนางเอกเฟมินิสต์ร่วมสมัยคนแรกในภาพยนตร์แอนิเมชั่น

 

5.อสูร
สำหรับบทอสูร เจ้าชายผู้เอาแต่ใจและหยิ่งทะนง ที่ถูกแม่มดสาปให้กลายร่าง ทีมผู้สร้างได้พูดคุยกันหลายครั้งและเสนอชื่อหลายสิบชื่อก่อนที่พวกเขาจะตัดสินใจเลือก แดน สตีเวนส์ นักแสดงชาวอังกฤษ ผู้เป็นที่รู้จักกันดีที่สุดจากบทแมทธิว ครอว์ลีย์ ชายหนุ่มผู้หล่อเหลาและอ่อนไหวในซีรีส์ดังเรื่อง “Downton Abbey” เขาเคยร่วมงานกับคอนดอนมาแล้วเมื่อหลายปีก่อนใน “The Fifth Estate”

สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันสำหรับทีมผู้สร้างคือการกำหนดเส้นแบ่งระหว่างมนุษย์และอสูร เพราะมีบางตอนที่ความโกรธแค้นเข้าครอบงำเขา จนทำให้เขาแลดูเหมือนสัตว์ร้ายมากขึ้น แต่ก็มีบางเวลาที่เขาค่อนข้างจะอ่อนโยนทีเดียว “ผมกับบิล คอนดอน(ผู้กำกับ)คุยกันหลายครั้งเกี่ยวกับการที่เราจะเสริมรายละเอียดบางอย่างเข้าไปในตัวละครของผมเพื่อทำให้เขามีมิติมากกว่าอสูรในหนังแอนิเมชั่นน่ะครับ” สตีเวนส์กล่าว “มันเป็นเรื่องน่าสนใจทีเดียกับการพยายามหาจังหวะความเป็นมนุษย์เล็กๆ น้อยๆ ที่จะทำให้เขาดูมีความเป็นสัตว์น้อยลงและดูเป็นมนุษย์ที่ถูกขังอยู่ภายในร่างอสูรมากขึ้นน่ะครับ”

 

6.แกสตองและเลอฟู
สำหรับบทแกสตอง(ลุค อีวานส์) หนุ่มหล่อประจำหมู่บ้านผู้หลงตัวเอง และเลอฟู(จอช แก็ด) ลูกสมุนจอมเฟอะฟะของเขา ทีมผู้สร้างกังวลว่าการเลือกนักแสดงสำหรับทั้งสองบทนี้จะเป็นเรื่องยาก สำหรับตัวละครยอดนิยมอย่างตัวละครทั้งสองนี้จากภาพยนตร์แอนิเมชั่นเรื่องนี้ เป็นสิ่งสำคัญที่พวกเขาจะต้องเปลี่ยนกลายเป็นตัวละครมนุษย์ในแบบที่ผู้ชมคิดว่าน่าเชื่อในสิ่งแวดล้อมที่เป็นจริง มือเขียนบทได้ใส่ลักษณะนิสัยใหม่ๆ บางอย่างให้กับแกสตองเพื่อทำให้เขามีความร่วมสมัยและสมจริงมากขึ้น ด้วยการทำให้เขาเป็นวีรบุรุษสงครามผู้ปกป้องเมืองจากผู้รุกรานและเป็นคนที่โกรธได้ง่ายๆ บิล คอนดอนอธิบายว่า “ด้วยความที่เขาเป็นคนอารมณ์ร้อน เขาก็เลยควบคุมอารมณ์ไม่ได้ในตอนที่มีใครหรืออะไรก็ตามขัดใจเขา ซึ่งกลายเป็นวิธีน่าสนใจในการเปลี่ยนสิ่งที่ดูเป็นการ์ตูนให้กลายเป็นของจริงน่ะครับ”

 

7.ข้าทาสบริวารในวัง
บรรดาข้าทาสบริวารในวังประกอบไปด้วยลูมิแอร์ ข้ารับใช้ชาวฝรั่งเศสผู้สง่างามของเจ้าชาย ผู้ถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นเชิงเทียน รับบทโดยยวน แม็คเกรเกอร์ มาเอสโทร คาเดนซา ผู้ตอนนี้กลายเป็นฮาร์ปซิคอร์ด รับบทโดย สแตนลีย์ ตุชชี มาดาม เดอ การ์เดโร้บ รับบทโดยออดรา แม็คโดนัลด์ คำสาปเปลี่ยนร่างของเธอให้กลายเป็นตู้เสื้อผ้าขนาดใหญ่ในห้องนอนของเบลล์ที่ปราสาทอสูร ซึ่งเป็นห้องเดียวกับที่ตัวเธอเองเคยพัก ในตอนที่เธอยังเป็นนักร้องโอเปราผู้มาเยือน กูกู มบาธา-รอว์ รับบท พลัมเม็ตต์ สาวรับใช้แก่นเซี้ยวที่กลายเป็นไม้ขนไก่แสนสง่างาม เอียน แม็คเคลเลน รับบท ค็อกส์เวิร์ธ บัตเลอร์ขี้วิตกและจู้จี้จุกจิก ผู้ถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นนาฬิกาตั้งโต๊ะโบราณ

 

8.ปราสาทสุดอลังการ
การถ่ายทำหลักของ “Beauty and the Beast” เกิดขึ้นที่เชปเปอร์ตัน สตูดิโอส์ นอกกรุงลอนดอน และโลเกชันกลางแจ้งหลายแห่งในอังกฤษ ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม โดยทีมงานยึดศิลปะจากประเทศฝรั่งเศสกลางทศวรรษที่ 18 แม้ว่างานของแต่ละแผนกส่วนหนึ่งจะได้รับอิทธิพลจากภาพยนตร์อนิเมชันปี 1991 แต่ฉาก อุปกรณ์ประกอบฉาก เสื้อผ้า ทรงผมและเมคอัพก็ล้วนแล้วแต่เป็นไปตามชีวิตจริงในฝรั่งเศสศตวรรษที่ 18 ทั้งสิ้น การผสมผสานของสถาปัตยกรรมสไตล์ต่างๆ แต่สไตล์หลักๆ ที่ใช้คือเฟรนช์โรโกโก้ ซึ่งเป็นสไตล์ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในฝรั่งเศส ยุค 1740 ในการออกแบบสิ่งปลูกสร้างที่สง่างามอย่างพระราชวังแวร์ซายล์

วิลเลอเนิฟ หมู่บ้านสมตติที่เบลล์และพ่อของเธออาศัยอยู่ ถูกสร้างขึ้นในโรงถ่ายที่เชปเปอร์ตัน สำหรับฉากที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของงานสร้าง (28,787 ตารางฟุต) กรีนวู้ดและทีมงานของเธอได้แรงบันดาลใจจากหมู่บ้านกงก์ ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส สิ่งที่อยู่ในหมู่บ้านแห่งนี้ ที่ถูกตั้งชื่อตาม กาเบรียล-ซูซานน์ บาร์บ็อต เดอ วิลเลอเนิฟ คนเขียนเรื่องราว “Beauty and the Beast” ต้นฉบับ ประกอบไปด้วยกระท่อมของเบลล์ โรงเรียน ร้านเสื้อผ้า ร้านเหล้า โบสถ์และจัตุรัสกลางหมู่บ้าน

และฉากที่เป็นไฮไลท์สำคัญของเรื่องอย่างห้องบอลรูมของปราสาทก็เป็นอีกหนึ่งฉากขนาดมหึมา พื้นของห้องทำจากหินอ่อนปลอมขนาด 12,000 ตารางฟุตและแบบดีไซน์ของมันก็มาจากลวดลายที่ปรากฏบนผนังของวิหารเบเนดิคไทน์ แอ็บบีย์ในเมืองบราวเนา ประเทศเยอรมนี นอกจากนั้น สิ่งที่อยู่ในห้องนี้ด้วยคือแชนดีเลียร์กระจกสิบอัน ซึ่งแต่ละอันมีขนาด 14x7 ฟุต ตามแชนดีเลียร์จริงๆ จากพระราชวังแวร์ซายล์ ที่จะถูกทำให้แวววาว ก่อนจะถูกคลุมด้วยผ้าและติดไฟ

 

9.เพลงประกอบสุดตราตรึงใจ
สิ่งที่ทำให้ Beauty and the Beast ได้รับการจดจำเป็นอย่างมากคือเพลงประกอบภาพยนตร์ในชื่อเดียวกันกับตัวหนัง ซึ่งเป็นผลงานการประพันธ์ของอลัน เมนเคนและโฮเวิร์ด แอชแมน (ผู้ล่วงลับ) ในเวอร์ชั่นนี้เพลงที่อยู่ในแอนิเมชั่นยังคงถูกนำกลับมาใช้ทั้ง เพลงเปิดตัวที่คึกคัก “Belle,” เพลงคู่ที่สนุกสนานอย่าง “Something There,” บัลลาดที่ซาบซึ้งตรึงใจ “Beauty and the Beast” และเพลงที่หยุดทุกสายตา “Be Our Guest”

แต่ในหนังเวอร์ชั่นนี้จะมีเพลงใหม่อย่าง For Evermore เพลงบัลลาด ที่ขับร้องโดยแดน สตีเวนส์ ในฉากที่เขาปลดปล่อยเบลล์ไปจากปราสาทเพื่อให้ไปอยู่กับพ่อของเธอ แม้ว่าหัวใจเขากำลังแตกสลายอยู่ก็ตาม หรือเพลงอย่าง Days in the Sun เป็นเพลงอบอุ่นที่ขับร้องโดยตัวละครในปราสาทขณะที่พวกเขากำลังเตรียมตัวเข้านอนและกำลังนึกถึงวันเวลาเก่าๆ อันเป็นเพลงเกี่ยวกับความโหยหาและการที่ทุกคนในปราสาทมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันด้วยความเจ็บปวดใจจากการนึกถึงอะไรบางอย่างหรือใครซักคนที่พวกเขารักและห่วงใย
นอกจากนี้เนื้อเพลงดั้งเดิมบางท่อนของโฮเวิร์ด แอชแมนจากเพลง “Gaston” และ “Beauty and the Beast” ที่ไม่ถูกใช้ในภาพยนตร์อนิเมชันได้ถูกใส่กลับเข้าไปในตัวภาพยนตร์ด้วยเช่นกัน

สำหรับเพลงประกอบภาพยนตร์ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในอดีตก็ได้รับการนำมาขับร้องใหม่โดยสาวอาเรียน่า แกรนเด้และจอห์น เลเจนท์


เพลงประกอบภาพยนตร์ Beauty and the Beast 


ตัวอย่าง Beauty and the Beast

@PRETTYPLASALID

Love and Leashes ด้วยรักและ BDSM ที่ \

Love and Leashes ด้วยรักและ BDSM ที่ "ล่าม" เราสองเอาไว้

Love and Leashes อาจจะไม่ใช่การขึ้นจอครั้งแรกของความสัมพันธ์แบบ BDSM แต่การที่หนังเกาหลีจาก Netflix เลือกจะหยิบประเด็นนี้มาเป็นจุดขายหลักของเรื่อง และเคลือบความหวานภายใต้โทนโรแมนติกคอมมาดี้ ทำให้หนังเรื่องนี้มีอะไรหลายอย่างที่น่าสนใจกว่าที่คิด

The Tinder Swindler ปัดทินเดอร์หวังเจ้าชาย แต่ดันเป็นฝันร้ายของสาวโสด สนุกมากทาง Netflix

The Tinder Swindler ปัดทินเดอร์หวังเจ้าชาย แต่ดันเป็นฝันร้ายของสาวโสด สนุกมากทาง Netflix

ชีวิตในวัยเด็กเราล้วนถูกหล่อหลอมว่าการเติบโตมามีความ “ความรัก” ด้วยการเจอเจ้าชายรูปงาม หล่อ รวย น่าจะถือว่าเป็นนิพพานของหญิงสาวหลายๆคน แต่ใครจะไปคิดว่าการได้เจอชายในฝันอาจจะกลายเป็นฝันร้ายที่ติดตรึงอยู่ในความทรงจำไปยันวันตาย กับสารคดีสุดบันเทิงที่สนุกยิ่งกว่าหนังอาชญากรรมกับ The Tinder Swindler

The Disney Family Singalong รวมนักร้องเบอร์ใหญ่ และนักแสดงคนดัง มาส่งความสุขจากเพลงดังในค่ายดิสนีย์

The Disney Family Singalong รวมนักร้องเบอร์ใหญ่ และนักแสดงคนดัง มาส่งความสุขจากเพลงดังในค่ายดิสนีย์

เมื่อวันที่ 16 เมษายนที่ผ่านมา ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง ABC ได้ออกอากาศรายการพิเศษอย่าง The Disney Family Singalong ซึ่งได้บรรดานักร้องดังจากอเมริกามากมายมาร่วมขับร้องบทเพลงดังจาก หลากหลายแอนิเมชั่นของค่ายดิสนีย์ พร้อมกับขึ้นคำบรรยายเป็นคาราโอเกะให้ด้วย แต่ที่น่าตื่นเต้นที่สุดน่าจะหนีไม่พ้นบรรดานักแสดงดั้งเดิมของหนังเพลงเรื่องดัง High School Musical ที่กลับมารวมตัวเพื่อร่วมโปรเจ็คพิเศษครั้งนี้

รีวิว The Lion King ข้อจำกัดของ “ความสมจริง”

รีวิว The Lion King ข้อจำกัดของ “ความสมจริง”

แอนิเมชั่น The Lion King ในปี 1994 ถือเป็นผลงานอีกเรื่องของค่ายดิสนีย์ที่จัดได้ว่าประสบความสำเร็จทั้งรายได้และคำวิจารณ์ อีกทั้งหนังยังคว้าสองรางวัลออสการ์ในสาขาดนตรีประกอบยอดเยี่ยม (ฮานส์ ซิมเมอร์) และเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ("Can You Feel the Love Tonight" ดนตรีโดยเอลตัน จอห์น และเนื้อเพลงโดยทิม ไรซ์) กว่ายี่สิบปี The Lion King ถือเป็นผลงานคลาสสิคที่ได้รับการดัดแปลงไปเป็นละครเวที การ์ตูนภาคต่อทางโทรทัศน์ เพลงในหนังที่ตราตรึงอยู่ในความทรงจำของผู้ชม