เนื้อหาในหมวด สุขภาพ

10 ปัจจัยเสี่ยงเบาหวานแฝง รีบตรวจก่อนแสดงอาการ

10 ปัจจัยเสี่ยงเบาหวานแฝง รีบตรวจก่อนแสดงอาการ

ผู้ป่วยเบาหวานส่วนใหญ่ไม่รู้ตัว ว่าตัวเองมีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน รู้อีกทีก็ตอนมีอาการหนัก จนอาจะเป็นเบาหวานระยะรุนแรงไปแล้ว แต่หากคุณมีปัจจัยเสี่ยงตามด้านล่างเกิน 3 ข้อ เราว่าถึงเวลาที่คุณต้องไปตรวจเบาหวานแล้วล่ะ

 

  • อายุเกิน 45 ปี
  • อายุ 45 ปีถือวาเป็นช่วงอายุที่มีความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานมากกว่าช่วงอายุอื่นๆ แต่ถึงกระนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าอายุน้อย หรือมากกว่า 45 ปีจะมีความเสี่ยงน้อยกว่า ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ของแต่ละบุคคลด้วย แต่อายุ 45 ปีเมื่อไร หากยังไม่เคยเข้ารับการตรวจเบาหวาน ก็ควรไปเสียหน่อย

     

  • น้ำหนักเกินมาตรฐาน
  • มาตรฐานอยู่ที่เท่าไร คำนวณได้ง่ายๆ จากค่า BMI โดยนำน้ำหนักหน่วยกิโลกรัม หารด้วยค่าของความสูงหน่วยเมตรยกกำลังสอง (คูณกันสองครั้ง) เราก็จะได้เป็นค่า BMI ออกมา

    ต่ำกว่า 18.5 จัดว่าผอม

    18.5-22.9 น้ำหนักปกติ

    23-24.9 น้ำหนักเกิน

    25-29.9 อ้วนระดับ 1

    มากกว่าหรือเท่ากับ 30 อ้วนระดับ 2

    ใครที่ได้ค่า BMI มากกว่า 23 จึงถือว่าอยู่ในภาวะน้ำหนักเกินมาตรฐาน

     

  • มีพ่อแม่พี่น้องเป็นโรคเบาหวาน
  • หลายคนอาจจะทราบกันดีอยู่แล้วว่า โรคเบาหวานไม่ได้มีความเสี่ยงจากพฤติกรรมการทานอาหารของเราอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงเพิ่มจากกรรมพันธุ์ด้วย ดังนั้นหากพบพ่อแม่พี่น้อง หรือญาติๆ ของตัวเองเป็นโรคเบาหวานมาก่อน เราก็ควรเข้ารับการตรวจด้วย

     

  • มีความดันโลหิตสูง
  • หากใครเคยเข้ารับการตรวจร่างกาย แล้วนางพยาบาลเคยบอกว่า “คนไข้มีความดันค่อนข้างสูงนะคะ” นั่นหมายความว่าคุณมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเบาหวานด้วยเช่นกัน ความดันโลหิตสูง คือความดันที่มากกว่า 140/90 มม. ปรอทขึ้นไป ให้พยาบาลวัดให้ หรือจะซื้อเครื่องวัดความดันมาวัดที่บ้านก็ได้

     

  • มีไขมันในเลือดสูง
  • ข้อนี้อาจจะต้องเป็นผู้ที่เคยเข้ารับการตรวจร่างกายด้วยการเจาะเลือดมาแล้ว หากมีค่า HDL น้อยกว่า 35 มก./ดล. และ/หรือ มีค่าไตรกลีเซอไรด์มากกว่า 250 มก./ดล. ก็อาจเป็นไปได้ว่าคุณมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเบาหวานได้

     running-exercise

  • ขาดการออกกำลังกาย
  • หากรู้ตัวว่าแทบไม่ได้ออกกำลังกายเลย ตื่น ทำงาน/เรียน กลับบ้าน นอน ไม่มีกิจกรรมใดๆ หรือไม่ได้หาเวลาออกกำลังกายมานานร่วมเดือน อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ร่างกายไม่แข็งแรง เสี่ยงภาวะอ้วน จนเสี่ยงเป็นเบาหวานด้วยอีกต่อหนึ่ง

     

  • เคยเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์
  • สำหรับคุณผู้หญิง ขณะที่ตั้งครรภ์ รกจะสร้างฮอร์โมนขึ้นมาหลายชนิด ทำให้ร่างกายมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน อาจนำไปสู่ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง จนกลายเป็นเบาหวานได้ แต่หลังคลอด ระดับน้ำตาลมักกลับสู่ภาวะปกติ หากเคยประวัติแบบนี้ ก็อาจเสี่ยงเป็นเบาหวานหลังคลอดได้เช่นกัน

     

  • เป็นโรคอื่นๆ ที่มีความสัมพันธ์กับภาวะดื้ออินซูลิน
  • เช่น เป็นโรคมะเร็งตับอ่อน ตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง มักพบในผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์จัด เนื้องอกที่ต่อมหมวกไต หรือผลข้างเคียงจากการรับยาสเตียรอยด์ หรือยาอื่นๆ

     

  • มีประวัติเป็นโรคหลอดเลือดแข็ง หรือตีบ
  • โรคหลอดเลือดแข็ง หรือตีบ เป็นโรคที่เกิดจากภาวะไขมันในเลือดสูง ที่เข้าไปอุดตันจนทำให้การลำเลียงเลือดไม่สะดวก หลอดเลือดเลยแข็ง หรือตีบ และอาจส่งผลต่อไปถึงภาวะที่อวัยวะบางส่วนขาดเลือดได้ โดยโรคนี้อาจเป็นก่อน หลัง หรือเป็นระหว่างที่เป็นโรคเบาหวานด้วยก็ได้

     

  • เคยตรวจพบว่ามีภาวะเบาหวานแฝง
  • ข้อสุดท้ายสำหรับผู้ที่เคยตรวจสุขภาพ แล้วแพทย์แจ้งว่ามีภาวะที่จะเป็นโรคเบาหวาน แต่ในขณะนั้นคุณอาจไม่ให้ความสำคัญกับคำเตือนของแพทย์ เพราะยังไม่เห็นว่าร่างกายจะมีความผิดปกติอะไร แต่การตรวจพบภาวะเบาหวานแฝง เป็นสัญญาณเตือนที่สำคัญ และชัดเจนที่สุด ว่าคุณมีความเสี่ยงมากที่จะเป็นเบาหวานจริงๆ ดังนั้นอย่านิ่งนอนใจเด็ดขาด

     

    วิธีปรับพฤติกรรมให้มีความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานน้อยที่สุด ก็ง่ายๆ แค่ปรับพฤติกรรมในการทานอาหาร ลดแป้งลดน้ำตาล ลดน้ำหนักไม่ให้อยู่ในภาวะน้ำหนักเกินมาตรฐาน ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำให้เพียงพอ และเข้ารับการตรวจเบาหวานทุกๆ 3-6 เดือน เท่านี้ก็อุ่นใจได้มากแล้วล่ะค่ะ ขอให้ไม่เป็นเบาหวานกันนะคะ

    เช็กก่อนกิน “คีโตเจนิค” เหมาะกับใคร ใครควรกิน-ไม่ควรกิน

    เช็กก่อนกิน “คีโตเจนิค” เหมาะกับใคร ใครควรกิน-ไม่ควรกิน

    คีโตเจนิค คืออะไร หากคุณอยู่ในกลุ่มที่ไม่ควรกิน คีโตเจนิค ก็ควรลดน้ำหนักด้วยวิธีอื่น เพราะอาจส่งผลอันตรายต่อร่างกายได้

    10 โรคร้ายที่เกิดจาก “ต่อมไร้ท่อ” ทำงานผิดปกติ

    10 โรคร้ายที่เกิดจาก “ต่อมไร้ท่อ” ทำงานผิดปกติ

    ต่อมไร้ท่อ คืออะไร อยู่ที่ไหนของร่างกาย มีอวัยวะหลายส่วนที่อยู่ในเครือข่ายของต่อมไร้ท่อ ซึ่งหากเกิดความผิดปกติของส่วนใดส่วนหนึ่ง ก็อาจกระทบกับการทำงานของอวัยวะส่วนนั้น หรืออาจจะกระทบไปทั้งร่างกายเลยก็เป็นได้