เนื้อหาในหมวด ข่าว

เลือกตั้งสหรัฐฯ กับชัยชนะครั้งประวัติศาสตร์ของผู้หญิง

เลือกตั้งสหรัฐฯ กับชัยชนะครั้งประวัติศาสตร์ของผู้หญิง

ผลการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐอเมริกา บ่งชี้ว่า ผู้หญิงมีโอกาสเข้าไปสู่สภาผู้แทนราษฎรอย่างน้อย 100 คน ส่วนวุฒิสภามีผู้หญิงเพิ่มแล้ว 10 คน จากที่มีอยู่ในสภาอยู่แล้ว 10 คน ทำให้ปัจจุบันสหรัฐฯ มีผู้หญิงอยู่ในสภามากที่สุดเท่าที่เคยมีมา

สื่ออเมริกันชี้ว่า การที่ผู้หญิงได้รับเลือกมากขนาดนี้มาจากกระแส #metoo ที่บูมในสหรัฐอเมริกาติดต่อกันเป็นเวลานาน และยังแสดงให้เห็นว่าประชาชนต่อต้านพฤติกรรมของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่แสดงพฤติกรรมเหยียดเพศอย่างสม่ำเสมอตลอดวาระที่ผ่านมา 2 ปี

ด้าน ซูซาน บอร์โด จากมหาวิทยาลัยเคนทักกีบอกว่า “ตั้งแต่ปี 2016 คนรับรู้มากขึ้นว่าสังคมชายเป็นใหญ่ที่มีอำนาจเป็นอย่างไร ส่วนหนึ่งเนื่องจากเราเลือกประธานาธิบดีที่คลั่งความเป็นชายชาตรีขนาดนั้น”

>> จับตาเลือกตั้งกลางเทอมสหรัฐฯ "โดนัลด์ ทรัมป์" กับวาระ 2 ปีที่เหลือ

การมีผู้หญิงเข้ามาในสภาเป็นจำนวนมาก นอกจากจะส่งเสริมให้ผู้หญิงมีตัวแทนในการออกกฎหมายอย่างเท่าเทียมแล้ว ผลวิจัยจากมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ยังพบด้วยว่า จะมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพผู้หญิงออกมามากกว่าปกติถึง 2 เท่า งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลี และมหาวิทยาลัยชิคาโก ก็แสดงให้เห็นว่าสมาชิกสภาที่เป็นสตรีนำเงินงบประมาณเข้าสู่ท้องถิ่นได้มากกว่า ส.ส.ชายในปริมาณถึง 49 ล้านดอลลาร์ และที่สำคัญที่สุดการมีนักการเมืองหญิงมากในวันนี้ ทำให้สัดส่วนผู้หญิงที่จะเข้าสู่วงการการเมืองก็จะมากขึ้นในอนาคตตามไปด้วย

ทีมข่าวขอพามาดูเรื่องราวของ ส.ส.ใหม่ที่น่าติดตามกัน

อเล็กซานเดรีย โอคาซิโอ-คอร์เตซ ส.ส.เชื้อสายลาตินคนใหม่อายุแค่ 29 ปี จากพรรคเดโมแครตคนนี้กลายเป็น ส.ส.ที่อายุน้อยที่สุดเท่าที่สหรัฐฯ เคยมี หลังได้รับเลือกตั้งโดยกวาดคะแนนเกือบ 80% จากชาวนิวยอร์กในเขตเลือกตั้งแถบควีนส์และบรองซ์ ซึ่งเป็นบ้านเกิดของตัวเอง เอาชนะผู้ท้าชิงจากรีพับลิกันอย่าง โจ คราวลีย์ ที่ครองเก้าอี้มาตั้งแต่ปี 1999

ประวัติของเธอไม่ธรรมดา เคยเป็นทั้งสาวเสิร์ฟและครูติวหนังสือ เคยทำงานช่วย บาร์นี แซนเดอร์ ส.ส.เดโมแครตหาเสียง พอลงสมัครเองเธอก็เป็นผู้สมัคร ส.ส.ที่ออกตัวเลยว่ามีแนวคิดสังคมนิยมและพร้อมจะเป็นความหวังให้ผู้หญิงและชนกลุ่มน้อยในอเมริกา โดยชูนโยบายหลักคือการส่งเสริมประกันสุขภาพถ้วนหน้า ยกเลิกองค์กรปราบปรามผู้อพยพ และสร้างโครงการรับประกันการจ้างงาน

ราชิดา ทไลบ์ พรรคเดโมแครต อายุ 42 ปี เกิดในครอบครัวชาวปาเลสไตน์ที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานที่ดีทรอยท์ ได้รับเลือกเป็น ส.ส.จากเขตการเลือกตั้งในรัฐมิชิแกนที่เคยเป็นพื้นที่ของ จอห์น คอนเยอร์ ส.ส.พรรครีพับลิกันที่ลาออกไปก่อนหน้านี้ด้วยเหตุคุกคามทางเพศ นโยบายของเธอเน้นเรื่องเงินเดือนขั้นต่ำ ต่อต้านการลดสวัสดิการ และการลดหย่อนภาษีให้กลุ่มทุนใหญ่

ส่วน อิลฮาน โอมาร์ พรรคเดโมแครต อายุ 36 ปี เป็นผู้ลี้ภัยจากโซมาเลีย เคยอยู่ในค่ายอพยพที่เคนยา 4 ปีก่อนมาตั้งถิ่นฐานในสหรัฐอเมริกา ก่อนหน้านี้เธอเคยได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภามลรัฐมินิโซตามาแล้ว ครั้งนี้เธอขยับขึ้นมาเป็น ส.ส.ของมินิโซตาหลังเอาชนะ เจนนิเฟอร์ ซีลินสกี ผู้ลงสมัครพรรครีพับลิกันมาได้ นโยบายหลักของโอมาร์คล้ายกัน คือส่งเสริมสวัสดิการถ้วนหน้าและสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยไม่เก็บค่าเทอมจากนักศึกษา

สิ่งที่น่าสนใจคือ ประชาชนมินิโซตาตัดสินใจเลือก ส.ส.ที่เป็นผู้ลี้ภัย ทั้งที่ก่อนหน้านี้ทรัมป์ประกาศนโยบายกีดกันผู้ลี้ภัยอย่างชัดเจน

เดบรา ฮาแลนด์ พรรคเดโมแครต สมาชิกชนเผ่าปัวโบลแห่งลากูนา ได้รับเลือกเป็น ส.ส.จากประชาชนในเขต 1 รัฐนิวเม็กซิโก นโยบายที่เธอใช้หาเสียงคือการต่อสู้กับภาวะโลกร้อนและส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน โดยกล่าวว่า “ถ้าเราไม่มีโลก เราก็ไม่มีอะไรเลย” นอกจากนี้ยังส่งเสริมการลดความเหลื่อมล้ำ และสนับสนุนสวัสดิการสุขภาพถ้วนหน้า

ส่วน ชาริซ เดวิดส์ พรรคเดโมแครต เป็นสมาชิกของชนเผ่าโฮชัก เอาชนะผู้ลงสมัครจากรีพับลิกัน เควิน ยอเดอร์ ในเขต 3 ของรัฐแคนซัสซึ่งครอบคลุมบริเวณเมืองหลวงของรัฐ ก่อนเป็น ส.ส. เธอเป็นทนายความ นักสู้ในสังเวียน MMA ที่แข่งขันศิลปะการต่อสู้ผสมผสาน และเป็นเลสเบียน

นอกจากนี้ ยังมีผู้หญิงอีกหลายคนที่สามารถเข้ามาสู่แวดวงการเมืองระดับชาติของสหรัฐอเมริกา อาทิ เอียนนา เพรสลีย์ ซึ่งเป็นผู้หญิงเชื้อสายแอฟริกันคนแรกของรัฐแมสซาชูเซตต์ในสภาครองเกรส โจอานา เฮย์ส ที่จะกลายเป็นผู้หญิงเชื้อสายแอฟริกันคนแรกของรัฐคอนเนกติคัตในสภาคองเกรสเช่นกัน ขณะที่ เวโรนิกา เอสโคบาร์ และ ซิลเวีย การ์เซีย ต่างเป็นสาวเชื้อสายลาตินที่ได้รับเลือกเข้าสภาผู้แทนราษฎรเป็นครั้งแรกของรัฐเท็กซัส

ขณะที่การเลือกตั้งครั้งนี้ ยังมีผู้หญิงได้รับเลือกเข้าไปเป็นวุฒิสมาชิกและผู้ว่าการรัฐอีกจำนวนหนึ่งด้วย ถือเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของการเมืองสหรัฐ และของโลกด้วยเช่นกัน

ทรัมป์ เผชิญเหตุลอบสังหารครั้งที่ 2 จับมือปืนซุ่มยิง ขณะออกรอบอยู่ที่สนามกอล์ฟ

ทรัมป์ เผชิญเหตุลอบสังหารครั้งที่ 2 จับมือปืนซุ่มยิง ขณะออกรอบอยู่ที่สนามกอล์ฟ

โดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ เผชิญกับเหตุการณ์พยายามลอบยิงครั้งที่ 2 ขณะออกรอบในสนามกอล์ฟของตัวเอง

ทำความรู้จัก \

ทำความรู้จัก "นิกกี เฮลีย์" คู่แข่ง "ทรัมป์" ชิงตัวแทนพรรครีพับลิกัน ลงสมัคร ปธน.สหรัฐฯ

ทำความรู้จัก “นิกกี เฮลีย์” คู่แข่งคนสำคัญของ “โดนัลด์ ทรัมป์” ในการลงสมัครชิงตำแหน่งตัวแทนพรรครีพับลิกัน เพื่อลงชิงชัยในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2024 นี้

เดือนแรกก็เหนื่อยแล้ว! รวมเหตุการณ์ “การเมืองสหรัฐ” ในเดือนมกราคม 2021

เดือนแรกก็เหนื่อยแล้ว! รวมเหตุการณ์ “การเมืองสหรัฐ” ในเดือนมกราคม 2021

แค่เดือนแรกของปี 2021 การเมืองสหรัฐก็ลุกเป็นไฟ มีแต่เรื่อง "เซอร์ไพรส์" ให้ทั่วโลกได้ติดตาม แล้วมีเหตุการณ์อะไรบ้าง Sanook รวบรวมมาให้ได้อ่านกันแล้ว

ตำรวจสภาอย่างน้อย 38 นาย ติด “โควิด-19” หลังเหตุจลาจลรัฐสภาสหรัฐ

ตำรวจสภาอย่างน้อย 38 นาย ติด “โควิด-19” หลังเหตุจลาจลรัฐสภาสหรัฐ

เจ้าหน้าที่ตำรวจสภากว่า 38 นาย และเจ้าหน้าที่กองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิมากกว่า 150 นาย ติดเชื้อโควิด-19 หลังเข้าไปทำหน้าที่ในเหตุการณ์ความวุ่นวายที่ผู้สนับสนุนโดนัลด์ ทรัมป บุกเข้าไปในรัฐสภา เมื่อวันที่ 6 มกราคมที่ผ่านมา