เนื้อหาในหมวด ข่าว

\

"ต้อม ไกรวิทย์" เผยธุรกิจร้านตัดผมหยุด 3 สาขา เปิดสู้ต่อเพื่อลูกน้อง 20 ชีวิต

รายการ เรื่องลับมาก (no censor) ออกอากาศทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 14.20-15.00 น. ทางเนชั่นทีวี ช่อง 22 วันนี้ (29 เมษายน 2563) ดร.เสรี วงษ์มณฑา เปิดใจสัมภาษณ์ ต้อม-ไกรวิทย์ พุ่มสุโข เจ้าของร้าน Sukho salon , ศิริพจน์ ตุ่มศิริ ที่ปรึกษาสมาคมช่างผม-เสริมสวยแห่งประเทศไทย และ นายแพทย์ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย กรณีคลายล็อกดาวน์ธุรกิจร้านตัดผม ร้านเสริมสวย ที่อนุญาตเฉพาะตัด สระ ไดร์ เท่านั้น และต้องหยุดทำความสะอาดฆ่าเชื้อทุก ๆ 2 ชั่วโมง ให้จองคิวเข้ารับบริการ ไม่ให้นั่งรอในร้าน ตรงนี้มีความคิดเห็นอย่างไร และร้านตัดผมได้รับผลกระทบอย่างไร ในช่วงที่ผ่านมา 

ต้อมหยุดไปนานแค่ไหน?

ต้อม : "รวมๆ ก็เดือนกว่าแล้วค่ะ ทั้ง 3 สาขาพร้อมกันเลยค่ะ พอประกาศวันที่ 21 วันที่ 22 ก็ปิดหมด"

ผลกระทบมากน้อยแค่ไหน?

ต้อม : "ผลกระทบเรื่องแรกคือลูกน้อง ต้องยอมรับว่าเด็กหรือบุคลากรที่มีอาชีพช่างทำผม ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีการเตรียมการล่วงหน้ากับชีวิตเท่าไหร่ อีกอย่างชีวิตเขามาจากต่างจังหวัด รายได้ก็ถูกส่งกลับบ้านซะส่วนใหญ่ ก็เลยไม่ได้เตรียมเงินให้ตัวเอง พอถูกสั่งปิดปุ๊บ เราก็บอกว่าคนไหนที่อยู่ต่างจังหวัดให้ยูกลับบ้านต่างจังหวัด เพราะกลับบ้านยังมีข้าวกิน แต่อยู่ที่นี่มีแค่รายจ่ายอย่างเดียว รายได้เป็นศูนย์แน่นอน เราซัปพอร์ตเขาในระดับหนึ่ง แต่ถึงขนาดอยู่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ก็ยาก"

จ่ายเงินเดือนเขามั้ย?

ต้อม : "จ่ายค่ะ ถึงจะทำไม่เต็มเดือนแต่เราคิดให้เต็มเดือนอยู่แล้ว ส่วนที่สองต้องมานั่งดูก่อนว่าใครต้องกลับบ้านต่างจังหวัด เราบอกว่ากลับเถอะเพราะเราเห็นวี่แววว่ามันไม่รู้ทิศทางแน่นอน สองในส่วนที่ไม่กลับต้องแจ้งให้เรารู้ ลูกน้องต้อมมีประมาณ 20 คน 3 สาขา เราต้องรู้ว่าเราต้องให้ความช่วยเหลืออย่างไรบ้าง เรื่องกินสำคัญมาก อย่างน้อยถ้าคุณกลับไม่ได้เราจะช่วยคุณเรื่องอาหารการกิน ทุกวันนี้เราก็ทำไปช่วยคนอื่นอยู่แล้ว เราไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องใหญ่"

เขาได้รับการเยียวยามั้ย?

ต้อม : "ตามมาตรการที่เราต้องดูแลในรูปแบบบริษัท คนไหนมีประกันสังคมเราต้องเตรียมเรื่อง จัดทำเรื่องให้เขา ให้เขาเซ็นเอกสารอะไรก็ตาม แต่ในส่วนที่เขาไม่ได้ส่งประกันสังคม เขาเป็นอาชีพอิสระ บางคนเป็นพาร์ทไทม์ เราก็รีบแจ้งว่าคุณต้องรีบทำเอกสารเดี๋ยวจะไม่ทันการณ์ เพราะรู้ว่าระบบมันยุ่งยากนิดนึง แล้วก็เช็กว่าเขาได้เงินหรือไม่ได้เงินมั้ย"

ตอนเปิดเขามีเงื่อนไข ให้ตัดสระไดร์ รายได้จาก 3 อย่างคุ้มเปิดมั้ย?

ต้อม : "ไม่พอ (หัวเราะ) อยู่ยากค่ะ เพราะต้องยอมรับว่ากิจการร้านทำผม เราอยู่ได้ด้วยงานเคมี ทำสี ดัดผม หรือทำทรีตเมนต์ หลักๆ การตัด สระ ไดร์ ไม่ใช่รายได้หลัก ต้องยอมรับเรื่องนี้"

แล้วจะเปิดมั้ย?

ต้อม : "เปิดค่ะ คือวินาทีตรงนี้ต้อมว่าไม่ใช่แค่ตัวเองต้องมองเผื่อลูกน้อง สมมติเด็กบางคนเขาแค่รับทราบข่าวสารโดยทั่วๆ ไป เขาก็จะทราบแค่ว่า 1 พ.ค. ได้เปิดแล้ว เราก็ยังไม่ได้คอนเฟิร์มกับเขา แต่บอกเขาว่าถ้าคุณกลับมาจากต่างจังหวัดมากรุงเทพฯ คุณต้องกักตัวเองก่อน 14 วัน ไม่งั้นพี่ไม่ให้มาทำงาน มันอันตรายร้าน อันตรายลูกค้า"

มันไม่คุ้ม แต่จะเปิดเพราะอะไร?

ต้อม : "ตัวเราเองอยู่กับบ้าน เราอยู่คอนโด กล่องสี่เหลี่ยมเครียดมาก ต้อมว่าการที่ได้เราได้ออกมาทำงาน ทำความสะอาดร้าน ได้พูดคุยกับลูกน้อง จิตพวกเขาก็จะดีขึ้น อย่างน้อยขอให้เขามาเจอ"

การขาดทุนตรงนี้ก็ซื้อจิต?

ต้อม : "ซื้อจิตเขาด้วย แล้วมันเหมือนแฟมิลี่ มันยังมีการแลกเปลี่ยน อาหารการกินเป็นยังไง เขามาอยู่ในอาณาจักรที่เราจะดูแลเขาได้ง่ายขึ้น"

โซเชียลดีสแทนซิ่งทำได้มั้ย?

ต้อม : "ทำได้สำหรับร้านที่มีสเกลขนาดใหญ่หน่อย โดยปกติการสร้างสเตชั่นร้านต้อม ระยะเกิน 1 เมตรอยู่แล้ว ก็ให้เว้น เพราะสเปซเราพอ เราต้องรับลูกค้าเป็นรอบ ลูกค้าที่จองมาเราก็ลงบุ๊คส์ มารอในร้าน หน้าร้านไม่ได้ มาตามนัดเท่านั้น สองถ้าวอล์กเข้ามา อะพอยเมนต์เท่านั้น เราต้องยอม หนึ่งเขาจะมาขังอยู่ตรงนี้ไม่ได้ เบอร์โทรศัพท์เขาเดี๋ยวเราตาม"

เขาให้ทำความสะอาดทุก 2 ชม. ไหวมั้ย?

ต้อม : "ต้อมทำความสะอาดตลอดเวลา ในกรณีโรคระบาด อินดิแอร์สำคัญมาก ต้อมมีสเปรย์ตัวที่เป็นขวด หัวที่ฉีดแล้วฟู่หน่อย เราต้องประชุมเด็กก่อนเปิดอยู่แล้ว"

ถึงแม้ให้เปิด แต่คนกลัวแล้วไม่ไป คิดถึงเรื่องนี้มั้ย?

ต้อม : "ตอนแรกต้อมคิด หลังจากปิดไปไม่ถึงเดือน ต้อมรับโทรศัพท์ลูกค้าเยอะมาก ทำให้รู้เลยว่าเรื่องตัดผมเป็นเรื่องใหญ่ของชีวิตผู้ชาย เฮ้ย ชีวิตเราไม่เคยคิดเลยว่ามันจะเป็นเรื่องใหญ่ขนาดนี้  บางคนทนไม่ได้จริงๆ นะ บางคนส่งแมสเซสเข้ามาในไลน์ของร้านบอกว่าคุณต้อมมีเรื่องเดือดร้อนให้ช่วย จำเป็นจริงๆ ต้องการเบอร์ช่างคนนี้ในร้านคุณต้อม เขาทนไม่ไหวแล้ว ระหว่างความน่ากลัวของโรคกับความน่ากลัวของผม อะไรน่ากลัวกว่า เขากลัวผม"

"คุณศิริพจน์ ตุ่มศิริ" ที่ปรึกษาสมาคมช่างผม ช่างเสริมสวย เขาจะให้เปิดแต่มีเงื่อนไขมากมาย เงื่อนไขต่างๆ อันไหนที่รับได้ อันไหนรับไม่ได้?

ศิริพจน์ : "ใส่หน้ากากรับได้ อยู่ห่างกันรับได้ ห้ามมาอยู่ในร้าน จองเท่านั้นรับได้"

สระไดร์เท่านั้น ไม่ให้มีการทำอย่างอื่น?

ศิริพจน์ : "เรารับได้ แต่ถามว่าอยู่ได้มั้ย"

ต้อม : "อยู่ไม่ได้"

ตอนนี้เขาเลือกให้ช่างบริการตามบ้าน?

ศิริพจน์ : "ถ้าถามความเสี่ยง ผมได้ยินคุณหมอตามสื่อบางท่านแต่จำไม่ได้ เขาบอกว่าทำได้ ถ้ามีลม อากาศปลอดโปร่ง แต่ตรงนั้น ช่างกับลูกค้ามั่นใจซึ่งกันและกันแค่ไหน มันจะเป็นพาหะที่ไปรับจากคนนี้ มาให้คนนั้นหรือเปล่า"

ต้อม : "ตอนนี้เขากำลังเริ่มไฝว์กันแล้วค่ะ  เพราะเดลิเวอรี่ เขาจัดตั้งเป็นเพจชัดเจนมาก บังเอิญตอนนั้นไม่มีข่าวที่จะเปิด เริ่มมีกลุ่มไฝว้ว่าตกลงสิ่งที่กำหนดว่าห้ามใกล้ชิดกันในระยะเท่านั้นๆ ไปตัดตามบ้านไม่มีผลเหรอ หนำซ้ำ มีบริการทำเคมีถึงบ้านแล้ว"

ที่ร้านมีเงื่อนไขทำได้แค่ตัดสระไดร์ แต่ที่บ้านโกรกย้อมทรีตได้หมดเลย?

ศิริพจน์ : "ปกติร้านสะอาดอยู่แล้ว แล้วเราไปเพิ่มเข้าไปอีก เราสกรีนวัดอุณหภูมิ แต่ไปข้างนอก ช่างไปสกรีนลูกค้าได้มั้ย ไปบ้านนึงตัดสามสี่คน เอาคนข้างบ้านมาด้วย เพราะไปตัดครั้งนึงต้อง 3-4 คนไม่งั้นไปแล้วไม่คุ้ม คนนี้ก็ไปเรียกบ้านโน้นบ้านนี้มาตัดตรงนี้ ฉะนั้นช่างไม่ใช่ผู้รู้ที่จะไปรับประกัน"

ไม่เห็นด้วยกับเดลิเวอรี่?

ศิริพจน์ : "ไม่เห็นด้วย"

ต้อม : "เดลิเวอรี่มีมานานแล้ว ถึงจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ในความรู้สึกของต้อม เดี๋ยวกลุ่มนี้จะถูกลดทอนลงมาเอง"

ที่ร้านมีมาตรการคุมอะไรต่างๆ แต่ขณะเดียวกัน ร้านมีมาตรฐานความสะอาดไม่เท่ากัน จะทำยังไงให้สะอาดได้มาตรฐาน?

ศิริพจน์ : "สมาคมห่วงจุดนี้ พูดกันอยู่ประจำว่าเราไม่สามารถไปควบคุมให้อยู่ในมาตรฐานเดียวกันได้ อย่างร้านซาลอน บาร์เบอร์ วิธีการเขาต่างกัน ถ้าช่างอาชีพต้องการเปิดต้องร่วมกันทำ เพื่อเปิดและอยู่ได้"

รับได้แต่อาจอยู่ไม่ได้ อยากขออะไรรัฐบาลเพิ่มเติม?

ต้อม : "ความจำเป็นของการอยู่รอด ทุกฝ่ายต้องวินวินหมด ห้างเองถ้าปิดสนิทคุณก็เดือดร้อน แม้คุณจะช่วยเรื่องค่าเช่า แต่จะช่วยได้เท่าไหร่ ถ้ารัฐบาลสามารถมีมาตรการในการควบคุมประสานระหว่างเจ้าของสถานที่ให้เช่ากับผู้เช่า เช่นกำหนดไปเลย เบื้องต้นอาจขอความร่วมมือ ให้ลดค่าเช่าให้เขา 50-70 เปอร์เซ็นต์ก็แล้วแต่เพื่อให้เขาอยู่ได้ คุณก็อยู่ได้ ดีกว่าคุณซีโร่ถูกมั้ยคะ ต้องทำความเข้าใจว่าทุกธุรกิจมีค่าใช้จ่ายคงที่ เจ้าของสถานที่บางที่ไม่มีค่าใช้จ่ายแล้ว คุณต้องเห็นใจ อย่างคุณซื้อตึกไปแล้ว ลอยลำ ส่วนในแง่ห้างค่อนข้างจะว่าหนักก็หนัก จะว่าลำบากก็ลำบาก แต่ทุกธุรกิจก็เหมือนกันหมด ร้านอาหารก็ต่างกันเรื่องสแตนดาร์ดตอนนี้ต้องทราบว่าภาครัฐเขาพยายามประสานอยู่แล้ว เขาเข้าไปคุมได้ขนาดไหนก็อยู่ที่จรรยาบรรณเจ้าของร้าน" 

หมอดนัย ทำไมต้องมีเงื่อนไข มีอะไรเสี่ยง ทำยังไงให้หายเสี่ยง?

นพ.ดนัย : "จริงๆ อุปกรณ์เหล่านี้เป็นอุปกรณ์ต้องสัมผัสกับลูกค้า ทุกอย่างเสี่ยงหมด แต่ถ้าเราดูแลความสะอาดทุกครั้งก่อนให้บริการ อันนั้นจบ ยืนยันว่าโดยมาตรฐานวิชาชีพของช่างตัดผมหรือเสริมสวยซึ่งได้รับการอบรมมาอย่างดีตรงนี้เชื่อมั่นได้ ถ้าเราทำความสะอาดก่อนทุกครั้งก่อนให้บริการ หรือหลังให้บริการ ทำความสะอาดอีกรอบก็จบนะ" 

ต้อม : "ไดร์เป่าผม เรามีวิธีเป่าอยู่แล้ว ปกติเราไม่เป่าเข้าหน้าคนอยู่แล้ว ตอนนี้ช่างทำผมเองอาจต้องฝึกใหม่ต้องเป่าออก บางทีการเป่าเพื่อให้เศษผมหลุดกระจายออก ถ้าจะเป่าเอาทรง คุณอาจต้องเจอหน้าลูกค้า แต่สวนใหญ่การไดร์ผม ลูกค้าใส่แมสก์ตลอดเวลาอยู่แล้ว ตรงนี้มันมั่นใจระดับหนึ่งได้ ทุกคนในร้านก็ต้องใส่ตลอดเวลา แล้วอุณหภูมิที่ใช้ อาจต้องตกลงกับลูกค้าว่าไม่มีการใช้ลมเย็น" 

รายได้เขาอยู่ที่เรื่องเคมี ทรีตเมนต์ ย้อม อันนี้ยังไม่อยากให้ย้อมเพราะอะไร?

นพ.ดนัย : "เรื่องเงื่อนไขตรงนั้นต้องดูเป็นรายๆ ไป ข้อเท็จจริงส่วนหนึ่งคือถ้าเป็นลูกค้าประจำ เราชัวร์ตรงนี้ ทำได้เลย มันไม่ได้ห้าม แต่เป็นการเตือนให้ระวังมากขึ้น โดยเฉพาะคนที่ไม่มั่นใจ" 

ต้อม : "เรื่องมั่นใจไม่มั่นใจเราบอกไม่ได้หรอกค่ะ การป้องกันตัวพื้นฐานเราทำได้อยู่แล้ว แต่สิ่งที่อยากเสริม เรื่องการทำเคมี ในแง่ความสะอาด มันฆ่าเชื้อในระดับหนึ่งอยู่แล้ว เราอาจทำในรูปแบบง่ายๆ เช่นการทัสอัพโคน ปิดผมขาว มันสามารถคุมในเวลา 2 ชม. แต่ถ้าจะยืดเวลาให้ร้าน วิธีการรอบการทำความสะอาดเป็น 3 ชม. เราสามารถคอมพรีทได้หลายอย่าง แต่จะให้มาอยู่ในร้าน 5-6 ชม.ก็ไม่ไหว"

อยากบอกอะไรรัฐบาล?

ต้อม : "อย่างแรกเลยคือต้องขอบคุณรัฐบาลที่ช่วยพิจารณาเรื่องนี้ให้กลุ่มช่างทำผม ทีนี้กลุ่มช่างทำผมก็ใจเย็นๆ กันนิดนึง ยังไม่มีบทสรุปที่ชัดเจน อย่าเพิ่งร้องกันเยอะมาก ในเรื่องไดร์เป่าผม เคมี เมื่อกี้ท่านก็พูดเองว่าท่านไม่ได้ไปกำหนดเรื่องนี้ ดังนั้นเราทำงานกันได้ เพียงแค่ว่าเราเมเนจเวลาให้ดี ความสะอาด การดูแลให้คิดถึงตัวเองเป็นหลักว่าเราจะดูแลยังไง ให้ความร่วมมือกันคนละฝ่าย"

มีข้อแนะนำอะไรให้ร้านเสริมสวย?

นพ.ดนัย : "อย่างที่คุณต้อมพูดว่าเรายกระดับการให้บริการอยู่แล้ว สองลูกค้าเองสามารถตรวจสอบได้ร้านค้าต่างๆ เหล่านี้โอเคมั้ย ถ้าโอเคก็ไปใช้บริการ ส่วนภาครัฐเองก็ทำงานเข้มข้นอยู่แล้วในการตรวจสอบ"