ไบเดนสั่งด่วน สหรัฐฯ เข้าร่วม “คณะมนตรีสิทธิมนุษยชน” อีกครั้ง
กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา เผยว่า สหรัฐฯ จะเข้าร่วมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Human Rights Council หรือ UNHRC) อีกครั้งโดยทันที หลังจากมีคำสั่งจากประธานาธิบดีโจ ไบเดน โดยการเคลื่อนไหวในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงแก้ไขนโยบายของอดียประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งถอนตัวจากคณะมนตรีดังกล่าวในปี 2018 ซึ่งเป็นแผนการของไบเดนที่จะฟื้นฟูนโยบายต่างประเทศที่ให้ความสำคัญกับ “ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และความเท่าเทียม”
รัฐบาลของทรัมป์วิพากษ์วิจารณ์คณะมนตรีของสหประชาชาติ โดยชี้ว่า ความขาดน่าเชื่อถือ เนื่องจากรวมเอาประเทศที่ไม่เคารพสิทธิมนุษยชนอย่างจีนและเวเนซูลาเข้ามาด้วย ขณะที่อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศไมค์ ปอมเปย์ ก็กล่าวหาว่าคณะมนตรีนี้ให้ความสำคัญกับอิสราเอลอย่างไม่สมดุล
“เราตระหนักว่าคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนยังมีข้อบกพร่อง ต้องการการปฏิรูปเพื่อให้สอดรับกับระเบียบวาระ สมาชิก และเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ อย่างไรก็ตาม การถอนตัวของเราในเดือนมิถุนายน 2018 ไม่ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่มีความหมายใด ๆ แต่สร้างภาวะสุญญากาศให้กับความเป็นผู้นำของสหรัฐฯ ซึ่งประเทศเผด็จการได้ใช้ประโยชน์จากมัน” แอนโทนี บลินเคน รัฐมนตรีต่างประเทศ กล่าว
แม้จะมีข้อบกพร่อง แต่คณะมนตรีก็ได้ทำงานเพื่อนสร้างสิทธิมนุษยชนพื้นฐานที่กำลังถูกลิดรอน โดยเขาระบุว่า “ทั้งเสรีภาพในการแสดงออก การตั้งภาคี และการชุมนุมทางศาสนาหรือความเชื่อ ตลอดจนสิทธิขึ้นพื้นฐานของผู้หญิง เด็กผู้หญิง กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ และชุมชนชายขอบ”
อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ จะไม่เข้าร่วมคณะมนตรีที่มีสมาชิก 47 ประเทศ โดยทันที แต่จะทำหน้าที่สังเกตการณ์ ซึ่งจะสามารถแสดงความคิดเห็นในที่ประชุมได้ ทั้งยังมีส่วนร่วมในการเจรจาต่าง ๆ เช่นเดียวกับเสนอทางแก้ไข
การกลับเข้าร่วมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนเป็นความพยายามล่าสุดของรัฐบาลไบเดน ในการฟื้นฟูตำแหน่งผู้นำโลกของสหรัฐฯ ในระดับนานาชาติ โดยไบเดนได้ยกเลิกการถอดตัวจากองค์การอนามัยโลก พร้อมกับเข้าร่วมกับข้อตกลงปารีสอีกครั้งเช่นกัน นอกจากนี้ รัฐบาลไบเดนยังได้ยกเลิกนโยบายต่างประเทศของทรัมป์อีกหลายฉบับ