เนื้อหาในหมวด สุขภาพ

อันตราย! ดื่มน้ำน้อย-ท้องผูกเป็นประจำ เสี่ยง “ภาวะอุจจาระอุดตัน”

อันตราย! ดื่มน้ำน้อย-ท้องผูกเป็นประจำ เสี่ยง “ภาวะอุจจาระอุดตัน”

เรื่องของการขับถ่ายไม่เข้าใครออกใครจริงๆ เพราะหากจำเป็นจะต้องใส่ชุดสวยไปงาน หรือรู้สึกอึดอัดตัวอยากถ่าย แต่ไม่ถ่าย เดือดร้อนตัวเองและเพื่อนที่ต้องหาสารพัดของกินช่วยถ่ายกันอย่างเร่งด่วน บางคนแย่กว่านั้น ท้องผูกหนักจนต้องพึ่งยาถ่ายอยู่บ่อยๆ บอกไว้เลยว่าระบบขับถ่ายพังแน่ๆ และที่สำคัญยังเสี่ยง “ภาวะอุจจาระอุดตัน” อีกด้วย

 

“ภาวะอุจจาระอุดตัน” คืออะไร?

ภาวะอุจจาระอุดตัน คือภาวะที่อุจจาระแห้ง และอุดตันบริเวณลำไส้ตรง จนไม่สามารถผ่านออกมาได้ เกิดจากการที่มีปัญหาท้องผูกรุนแรง หรือท้องผูกเป็นเวลานาน

 

ใครเสี่ยง “ภาวะอุจจาระอุดตัน”

ภาวะอุจจาระอุดตัน สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัยที่มีปัญหาเรื่องของการขับถ่าย หากเป็นเด็กเล็กอาจเกิดจากการไม่อยากถ่ายระหว่างการฝึกเข้าห้องน้ำ ติดเล่นจนไม่อยากหยุดเล่นเพื่อไปเข้าห้องน้ำ กลัวอาจารย์ดุระหว่างทำการเรียนการสอนจนอดทนอดกลั้นไม่ลุกจากเก้าอี้ หรือบางคนมีนิสัยที่ไม่ชอบถ่ายนอกบ้าน พยายามกลั้นเพื่อกลับไปปลดทุกข์ที่บ้าน

สำหรับผู้ใหญ่อาจมาจากการกลั้นอุจจาระระหว่างเดินทาง รถติด อยู่ในสถานการณ์ที่ไม่สามารถขอเข้าห้องน้ำได้ เช่น ระหว่างสอบ ประชุม และคนชราอาจเกิดจากการเคลื่อนไหวร่างกายที่ลดน้อยลง และกล้ามเนื้อหน้าท้องอ่อนแรงตามอายุ ไปจนถึงไม่สามารถลุกไปเข้าห้องน้ำได้เนื่องจากผู้ดูแลไม่พาไปห้องน้ำสม่ำเสมอ หรืออาจจะใช้ชีวิตอยู่คนเดียวและเดินเหินไม่สะดวก เป็นต้น

 

ปัจจัยเสี่ยง “ภาวะอุจจาระอุดตัน”

  • ดื่มน้ำไม่เพียงพอ มีส่วนทำให้อุจจาระแข็ง และแห้ง

  • รับประทานอาหารที่มีกากใยอาหารน้อยเกินไป เช่น ผู้ที่ไม่ทานผักผลไม้ และ/หรือทานอาหารที่มีส่วนประกอบเป็นแป้ง น้ำตาล และไขมันมากเกินไป

  • ไม่ค่อยออกกำลังกาย หรือไม่ค่อยเคลื่อนไหวร่างกาย หากนั่งอยู่กับที่เฉยๆ เป็นเวลานาน จะไม่ส่งผลดีต่อการทำงานของระบบขับถ่าย การขยับตัว หรือออกกำลังกายจะเป็นการกระตุ้นการทำงานของระบบขับถ่ายให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

  • มีอาการท้องผูกบ่อยๆ จากสาเหตุข้างต้น

  • มีอาการบาดเจ็บที่ไขสันหลัง ทำให้ไม่สามารถขยับร่างกายได้มากเท่าคนปกติ

  • มีความผิดปกติของลำไส้ใหญ่ และไส้ตรง

  • รับประทานยาที่ลดการเคลื่อนไหวของลำไส้เป็นเวลานาน เช่น ยาแก้ปวดกลุ่ม narcotics, ยาลดกรด, ธาตุเหล็กหรือยากลุ่ม calcium channel blockers ซึ่งใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูง

  • มีโรคประจำตัวอื่นๆ เช่น โรคไทรอยด์ หรือโรคซึมเศร้า ที่อาจส่งผลจากพฤติกรรมในการใช้ชีวิต การทานอาหาร เป็นต้น
  •  

    stomachache

     

    อาการของ “ภาวะอุจจาระอุดตัน”

    - ปวดท้องแบบบีบๆ

    - ท้องอืด แน่นท้อง ไม่สบายท้อง

    - คลื่นไส้ อาเจียน

    - เบ่งอุจจาระอย่างแรงเกือบทุกครั้งที่ถ่าย

    - อุจจาระเป็นก้อนเล็ก และแข็ง อาจจะบาดจนรู้สึกเจ็บทวารหนัก

    - มีความรู้สึกว่าอุจจาระไม่สุด อุจจาระไม่หมดท้อง

    - มีเลือดออกมาจากปากทวารหนักหลังอุจจาระ

    - บางครั้งอาจรู้สึกว่ามีอุจจาระ หรือปัสสาวะเล็ด

    - รู้สึกเหมือนมีอะไรบางอย่างมากดในส่วนของกระเพาะปัสสาวะ

    - ปวดหลังส่วนล่าง

     

    การรักษา “ภาวะอุจจาระอุดตัน”

    หากไปตรวจกับแพทย์แล้วแพทย์วินิจฉัยแล้วว่าอยู่ในภาวะอุจจาระอุดตัน แพทย์อาจใช้วิธีเอานิ้วสอดเข้าไปกวาดอุจจาระออกมาทางทวารหนัก หรืออาจจะพิจารณาวิธีอื่น เช่น สวนทวารหนัก เหน็บยา หรือให้ยาต่างๆ หากมีอาการหนักอาจมีการผ่าตัดเพื่อนำอุจจาระออกมาจากลำไส้ แต่ยังพบได้น้อยมาก

     

    วิธีลดความเสี่ยง “ภาวะอุจจาระอุดตัน”

    วิธีลดความเสี่ยงภาวะอุจจาระอุดตันก็ง่ายๆ เพียงดื่มน้ำให้มากขึ้น มากเพียงพอต่อความต้องการในแต่ละวัน (อ่านต่อ >> รู้ได้อย่างไร “ดื่มน้ำ” เพียงพอแล้วหรือยัง) ทานผักผลไม้ และอาหารที่กากใยอาหารให้มากๆ อย่ากลั้นอุจจาระโดยไม่จำเป็น ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และฝึกขับถ่ายให้เป็นเวลา ต้องถ่ายทุกวัน อย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง เท่านี้ก็ช่วยลดความเสี่ยงต่ออาการท้องผูก และภาวะอุจจาระอุดตันได้แล้วล่ะค่ะ

    อุจจาระเป็นเลือด เสี่ยง 6 โรคร้ายสุดอันตราย

    อุจจาระเป็นเลือด เสี่ยง 6 โรคร้ายสุดอันตราย

    อุจจาระเป็นเลือด ไม่ได้เป็นแค่ ริดสีดวงทวาร ยังมีอีกหลายโรคที่อาจแสดงอาการเริ่มต้นจากอุจจาระเป็นเลือด แถมยังอันตรายกว่าโรคริดสีดวงทวารอีกด้วย

    ปวดท้องข้างซ้าย เสี่ยงเป็นโรคอะไรได้บ้าง พร้อมวิธีดูแลเบื้องต้น

    ปวดท้องข้างซ้าย เสี่ยงเป็นโรคอะไรได้บ้าง พร้อมวิธีดูแลเบื้องต้น

    อาการปวดท้องข้างซ้าย เป็นสัญญาณเตือนที่เกิดจากอาการผิดปกติ เรียนรู้อาการปวดท้องข้างซ้ายกันก่อน จะได้รู้ว่าอาการที่เกิดจะบ่งบอกถึงปัญหาสุขภาพอะไรได้บ้าง