เนื้อหาในหมวด ข่าว

ชีวิตสีรุ้ง หลังกำแพงเรือนจำ

ชีวิตสีรุ้ง หลังกำแพงเรือนจำ

Highlight

  • เรือนจำพิเศษพัทยามีมาตรการดูแลผู้ต้องขัง LGBTQ+ ด้วยการจัดตั้ง “แดนเพศสภาพ” สำหรับผู้ต้องขังข้ามเพศ และมีข้อปฏิบัติในการ “แยกห้องนอน” เพื่อความปลอดภัยของผู้ต้องขัง LGBTQ+
  • ชีวิตประจำวันของผู้ต้องขัง LGBTQ+ เหมือนกับผู้ต้องขังทั่วไป และได้รับมอบหมายงานต่าง ๆ ให้ดูแลรับผิดชอบ เช่นเดียวกับมีกิจกรรมคลายเครียดให้ผู้ต้องขัง โดยเรือนจำพิเศษพัทยามีชื่อเสียงเรื่อง “การโชว์คาบาเรต์” ซึ่งเป็นชมรมหนึ่งที่ผู้ต้องขัง LGBTQ+ ร่วมกันก่อตั้งขึ้น
  • แม้จะถูกตัดขาดจากโลกภายนอก แต่กิจกรรมที่ทางเรือนจำจัดขึ้นสำหรับผู้ต้องขัง โดยเฉพาะการโชว์คาบาเรต์ ก็ช่วยสร้างความสนุกสนานและความภาคภูมิใจให้กับผู้ต้องขัง LGBTQ+ อีกทั้งยังช่วยสร้างการทำงานเป็นทีมให้กับผู้ต้องขังอีกด้วย

เดือนมิถุนายนของทุกปีถือเป็นเดือนแห่งการเฉลิมฉลองความหลากหลายทางเพศ (Pride Month) ที่กลุ่ม LGBTQ+ ทั่วโลกจะออกมาฉลองกันอย่างสนุกสนาน เช่นเดียวกับแสดงจุดยืนเพื่อเรียกร้องสิทธิต่าง ๆ และสร้างความเท่าเทียมทางเพศให้เกิดขึ้นในสังคมอย่างแท้จริง ท่ามกลางธงสีรุ้งและเสียงเพลงครื้นเครงบนท้องถนน ก็ยังมีกลุ่ม LGBTQ+ อีกมากมายที่ไม่สามารถเฉลิมฉลองเดือนแห่งความภาคภูมิใจได้ เนื่องจากยังมีกำแพง “เรือนจำ” ที่ขวางกั้นพวกเขาจากโลกภายนอก ในโอกาสเดือนไพรด์ 2022 นี้ Sanook จึงขอร่วมเฉลิมฉลองความหลากหลายทางเพศ ด้วยการเปิดประตูเรือนจำ เข้าไปเยี่ยมผู้ต้องขัง LGBTQ+ และส่องวิถีชีวิตของพวกเขาในวันที่อิสรภาพถูกพรากไป 

ผู้ต้องขังที่มีความหลากหลายทางเพศ

ทันทีที่ไปถึง “เรือนจำพิเศษพัทยา” เราก็ได้รับการต้อนรับขับสู้เป็นอย่างดีจากวิชญ์วินท์ กิตตต์ธนสิน เจ้าหน้าที่เรือนจำ ซึ่งพาทีมงานเดินเข้าประตูเหล็กบานใหญ่ สู่โลกหลังกำแพง ที่ผู้ต้องขังทุกคนอาศัยอยู่ 

“สำหรับผู้ต้องขัง LGBTQ+ ที่เราเห็นเลยก็คือเรื่องกายภาพ บางคนก็มีหน้าอก บางคนอาจจะได้รับการผ่าตัดแปลงเพศมาแล้ว ก็จะมองเห็น บางคนก็ไม่สามารถมองเห็นได้ แต่ส่วนใหญ่ที่เข้ามา เขาก็แสดงตัวตนออกมาให้เราเห็นเอง หรือบางคนเขามาถึง เขาก็จะแจ้งเลยว่าเขาเป็น LGBTQ+ แต่บางคนเข้ามายังไม่ค้นพบตัวเอง หรือว่าอาจจะอายอยู่ แต่พอมาเจอกลุ่มสังคม LGBTQ+ ในเรือนจำ เขาก็จะแจ้งเราว่าเขาเป็น แบบนี้ก็มี” วิชญ์วินท์เริ่มต้นอธิบาย 

เมื่อเดินไปถึงอาคารกิจกรรม เราก็ได้พบ “โดนัท” ผู้ต้องขัง LGBTQ+ และประธานโครงการ “To Be Number 1 พัทยาคาบาเรต์โชว์” ของเรือนจำพิเศษพัทยา ที่นั่งรอพวกเราอยู่แล้ว โดนัทเล่าว่า กลุ่ม LGBTQ+ เป็นเหมือนแกนนำของกลุ่มผู้ต้องขังในเรือนจำ ซึ่งการได้อยู่ตรงจุดนี้ ก็ทำให้ชาวสีรุ้งในเรือนจำได้รับการนับถือจากผู้ต้องขังคนอื่น ๆ

“เราเป็นเสมียนแดน เป็นธุรการแดน เป็นหัวหน้าโครงการ หัวหน้าชมรม แล้วก็หัวหน้าโยธาพัฒนา มีกันหลายกลุ่มเลย แล้วพวกกลุ่ม LGBTQ+ ก็จะกระจายอยู่ทุกกลุ่ม แล้วผู้ชายที่อยู่ในแดนก็จะให้เกียรติเราในจุดนี้ เพราะเราเป็นเหมือนคนชูโรง เป็นคนนำทีม” โดนัทกล่าว 

“เราเป็นทอม อยู่กับผู้หญิง คือกฎมันก็ต้องเหมือนผู้หญิง ต้องทำทุกอย่างเหมือนผู้หญิง จะทำเหมือนผู้ชาย ทำเหมือนที่เราอยากทำข้างนอกไม่ได้ ก็จะทำได้แค่นิดหน่อย อย่างเช่นทรงผม จะไว้ผมแบบตัดกระแทกข้างไม่ได้ ต้องไว้เหมือนผู้หญิง ไว้ผมบ็อบอะไรแบบนี้” น้ำ ตัวแทนกลุ่ม LGBTQ+ จากแดนผู้หญิง ร่วมให้ข้อมูล 

ร่วมแดนแยกห้องนอน

หนึ่งสิ่งที่เป็นคำถามอยู่ในใจก่อนจะมีโอกาสได้เข้าไปในเรือนจำ คือเรื่องของ “การนอน” ซึ่งวิชญ์วินท์ระบุว่า ทางเรือนจำพิเศษพัทยามีกฎให้ “แยกห้องนอน” ระหว่างผู้ต้องขังทั่วไปกับกลุ่มผู้ต้องขัง LGBTQ+ ซึ่งในทุกแดนจะต้องปฏิบัติตาม หรือในกรณีที่เป็นผู้ต้องขังข้ามเพศ และได้ผ่านการผ่าตัดแปลงเพศมาแล้ว ทางเรือนจำก็ได้จัดให้มี “แดนเพศสภาพ” ในแดนชาย ซึ่งจะแยกผู้ต้องขังกลุ่มนี้จากผู้ต้องขังชายคนอื่น 

เมื่อถามโรส ผู้ต้องขังหญิงข้ามเพศ ว่าการแยกแดนพิเศษออกมา แต่ก็ยังอยู่ในแดนชาย สร้างความอึดอัดให้เธอบ้างหรือไม่ โรสปฏิเสธ พร้อมตอบว่า “อยู่กับผู้ชายดีกว่าค่ะ เพราะว่าผู้ชายเขาจะให้เกียรติเรา ทำอะไรให้เราได้ทุกอย่าง แต่ถ้าอยู่กับผู้หญิง ผู้หญิงเขาก็จะมีทะเลาะเบาะแว้ง มีปากเสียงกันนิด ๆ หน่อย ๆ ก็เลยคิดว่าอยู่ตรงนี้ดีที่สุด” 

“ถ้าเอาตรงประเด็นเลย ก็คือเราอยู่กับผู้ชายดีที่สุด ไม่ใช่ว่าฉันอยากอยู่กับผู้ชายนะ แต่ด้วยความที่ว่าเรือนจำส่วนใหญ่ มีผู้ต้องขังชายเยอะ เราเป็นคนกลุ่มน้อย การดำเนินงาน การทำกิจกรรม ถ้าเราไปอยู่ตรงหัว เราได้รับโอกาสจากเจ้าหน้าที่ให้เราทำกิจกรรม ผู้ต้องขังชายให้เกียรติเรา แต่ถ้าเราไปอยู่แยกแดน เราก็จะไม่ได้มีบทบาทตรงนั้นแล้ว ทำงานอะไรก็ไม่มีผลต่อเขา ฉะนั้นคิดว่าเราอยู่ในแดนชาย อยู่รวมกันน่ะดีแล้ว” โดนัทอธิบาย 

ชีวิตประจำวันหลังกำแพง

“ในส่วนของความเป็นอยู่ เราก็ดูแลเหมือนกับผู้ต้องขังคนอื่น แต่ในเรื่องของการทำงาน เราก็ไม่ได้ให้เขาทำงานหนักอะไร เพราะด้วยทางกายภาพและสภาพจิตใจของเขา บางทีเขาอาจจะรับงานที่หนักไม่ได้ เราก็ให้เขาดูแลเรื่องงานสุขอนามัย งานโยธา งานเอกสารเล็ก ๆ น้อย ๆ หรือช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ในเรื่องความสะอาด เรื่องอะไรพวกนี้เท่านั้น” วิชญ์วินท์กล่าว 

น้ำเล่าว่า แต่ละวันผู้ต้องขังก็จะต้องตื่นนอนตอนเช้า มาทำธุระส่วนตัว รับประทานอาหาร เข้าแถวเคารพธงชาติ ก่อนที่ทุกคนจะต้องแยกย้ายเข้า “กองงาน” ที่แต่ละคนได้รับมอบหมาย โดยจะทำงานแบบนี้ทั้งวัน จนกระทั่งตอนบ่ายแก่ ๆ ที่ทุกคนต้องอาบน้ำ ทานข้าว และขึ้นเรือนนอน นั่นถือเป็น 1 วัน ในชีวิตของผู้ต้องขัง 

“เราตื่นนอนประมาณ 6 โมงเช้า แล้วพวกเราก็จะผลัดกันอาบน้ำ เพราะพวกเราอาบน้ำในห้อง” โรสเล่าเสริม สำหรับผู้ต้องขังหญิงข้ามเพศ จะได้รับอนุญาตให้อาบน้ำในห้องขัง แทนการออกไปอาบน้ำรวมกับผู้ต้องขังชายคนอื่น ๆ และหลังจากนั้นพวกเธอก็ต้องเข้าประจำที่เพื่อทำงานเอกสาร ซึ่งเป็นงานประจำสำหรับผู้ต้องขังหญิงข้ามเพศ 

“หลังจากเคารพธงชาติเสร็จ เราก็จะเช็กยอดอีกรอบหนึ่ง เช็กยอดผู้ต้องขังที่อยู่แต่ละกองงาน เขาจะแยกเข้ากองงาน แล้วหลังจากนั้นก็จะแยกกันทำกิจกรรม แล้วก็จะมีกิจกรรมที่เป็นโครงการของเรือนจำ อย่างกลุ่ม LGBTQ+ เขาก็จะมาทำกิจกรรมของโครงการกัน” โดนัทบอก 

กิจกรรมเพื่อชาวสีรุ้งในเรือนจำ 

แม้จะถูกจองจำอยู่ในเรือนจำ แต่ก็มีกิจกรรมให้ผู้ต้องขังได้ทำอยู่เสมอ ซึ่งน้ำเล่าว่า ตัวเองได้ทำงานประดิษฐ์ อยู่กับงานเพ้นท์ผ้า ทำงานสกรีน และเมื่อมีเวลาว่างก็จะไปเล่นดนตรี ซึ่งน้ำถนัดเล่นกีตาร์มากที่สุด 

ทางด้านโรสและโดนัท ก็เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม “ศูนย์เพื่อนใจ To Be Number 1” ของเรือนจำ ที่จะมีกิจกรรมให้พวกเธอได้ทำอยู่เสมอ ๆ แต่กิจกรรมที่โดดเด่นของกลุ่มผู้ต้องขัง LGBTQ+ คือ​ “โชว์คาบาเรต์” ที่ได้รับเสียงชื่นชมและเคยคว้ารางวัลมาแล้วมากมาย โดยในวันที่ทีมงานได้เข้าไปในเรือนจำ ผู้ต้องขัง LGBTQ+ ต่างกระตือรือร้นที่จะแสดงเพลงที่พวกเขาได้ฝึกซ้อมกันอย่างแข็งขันมาหลายวันให้พวกเราได้ชมกันด้วย

 

“พอพูดถึงคำว่าพัทยา คนก็จะคิดถึงแสงสีเสียง กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ แล้วด้วยความที่แต่ก่อน กลุ่ม LGBTQ+ อยู่ที่นี่เยอะมาก มีกันเป็นร้อย เจ้าหน้าที่ก็เลยเล็งเห็นว่าจะทำยังไงให้คนกลุ่มนี้ได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ได้ทำอะไรที่ไม่จำเจ ไม่อยู่เฉย ๆ ให้เขามีส่วนร่วม ให้เข้ามามีส่วนในการทำกิจกรรมของเรือนจำ ก็เลยจัดกิจกรรมที่ตอบโจทย์ ก็คือร้องเล่นเต้นรำ แล้วมีผู้ต้องขังที่เขาเคยทำโชว์ข้างนอก พวกนี้เขาก็จะเป็นเหมือนอาจารย์ เขาก็จะสอน เขาก็จัดตั้งชมรมพัทยาคาบาเรต์โชว์” โดนัทเล่า 

แม้จะเป็นกิจกรรมคาบาเรต์ แต่ผู้ต้องขังทุกเพศสภาพก็สามารถเข้ามาร่วมทำกิจกรรมนี้ได้ โดนัทระบุว่า กิจกรรมนี้ไม่จำกัดเพศ จะเป็นหญิงเป็นชายก็มาร่วมสนุกกันได้หมด เพียงแต่แกนนำหลักจะเป็นกลุ่ม LGBTQ+ 

“เวลาเราได้ทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อน ๆ มันก็เป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ทำให้เราไม่คิดถึงโลกภายนอก อยู่ในเรือนจำแล้วเราจะเศร้าตลอดก็ไม่ใช่ เพราะว่าอยู่ในเรือนจำก็มีกิจกรรมดี ๆ มาทำให้เราคลายเครียด อยู่ในเรือนจำก็เหมือนว่าเราแค่ตัดขาดจากโลกภายนอกเท่านั้น แต่เราก็ยังได้ยินเสียงหัวเราะจากเพื่อน ๆ พากันแซวเล่นกันแบบนี้” โรสทิ้งท้าย

เอื้อใครหรือเปล่า? กรมราชทัณฑ์ออกระเบียบ \

เอื้อใครหรือเปล่า? กรมราชทัณฑ์ออกระเบียบ "คุมขังนอกเรือนจำ" มีผลแล้ว

เปิดระเบียบกรมราชทัณฑ์ใหม่ “คุมขังนอกเรือนจำ” มีผลบังคับใช้แล้ว แต่ต้องทำตามข้อกำหนด คุมขังที่ไหน ใครมีสิทธิ์บ้าง ไปดูกันเลย

\

"กรมราชทัณฑ์" เปิดหลักการเยี่ยมผู้ต้องขัง หลัง "พี่เต้" ขอเข้าเยี่ยม "ทักษิณ ชินวัตร"

“กรมราชทัณฑ์” ออกเอกสารชี้แจงหลักการตามระเบียบการเยี่ยมญาติและการติดต่อผู้ต้องขังของบุคคลภายนอก หลังมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ อดีต สส. เดินทางขอเข้าเยี่ยม “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี

“COVID-19” ในเรือนจำไทย เรื่องใหญ่ที่อาจล้นออกมาสู่สังคม

“COVID-19” ในเรือนจำไทย เรื่องใหญ่ที่อาจล้นออกมาสู่สังคม

ปัญหานักโทษล้นคุกที่อยู่คู่กับเรือนจำไทยมาอย่างยาวนาน และถูกทำให้เห็นอย่างชัดเจนมากขึ้นในช่วงสถานการณ์โรค COVID-19 เพราเกิดความกังวลเรื่องการแพร่ระบาดในเรือนจำที่อาจสร้างความสูญเสียมากกว่าที่เราจะสามารถจินตนาการได้

ราชทัณฑ์เผย 2 เจ้าหน้าที่เรือนจำป่วยโควิด-19 นอกพื้นที่

ราชทัณฑ์เผย 2 เจ้าหน้าที่เรือนจำป่วยโควิด-19 นอกพื้นที่

กรมราชทัณฑ์รายงานสถานการณ์โควิด-19 ในเรือนจำล่าสุด พบว่ามีเจ้าหน้าที่เรือนจำติดเชื้อจำนวน 2 ราย ยอดผู้ติดเชื้อสะสมในเรือนจำตอนนี้เป็น 5 ราย แบ่งเป็นผู้ต้องขัง 2 ราย และเจ้าหน้าที่เรือนจำ 3 ราย