ภาคประชาสังคมเน้นย้ำ นโยบายพรรคการเมืองต้องรับรอง “สิทธิมนุษยชน” ที่หลากหลาย
Highlight
- ภาคประชาสังคมจัดงานแถลงข่าว “เลือกตั้ง 2566: ฟังเสียงนโยบายภาคประชาสังคม (Civil Society’s Agenda for the 2023 Thailand Election)” เพื่อนำเสนอข้อเสนอแนะด้านสิทธิมนุษยชนหลากหลายประเด็น
- การละเมิดสิทธิที่เกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจมีแนวโน้มที่จะรุนแรงมากขึ้นในหลายประเด็น โดยเฉพาะในกรณีที่บริษัทไทยเข้าไปลงทุนหรือรับซื้อผลผลิตจากประเทศเพื่อนบ้าน ภาคประชาสังคมจึงต้องการให้พรรคการเมืองต่าง ๆ เสนอนโยบายกำหนดความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ
- การเลือกตั้งคือตัวชี้วัดที่จะแสดงให้เห็นว่าผู้แทนของประชาชนจะใช้กลไกในรัฐสภาอย่างไรให้เกิดการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนมากที่สุด
- สังคมไทยกลายเป็นสังคมที่เยาวชนไร้ความหวัง เด็กและเยาวชนหลายคนถูกผลักออกจากระบบการศึกษา สถิติปัญหาสุขภาพจิตในเด็กและเยาวชนเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ การเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นตัวจุดชนวนความหวัง และเป็นเชื้อไฟให้กับเด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ได้เติบโตในสังคมไทย
วันที่ 4 เมษายนที่ผ่านมา ภาคประชาสังคมจัดงานแถลงข่าว “เลือกตั้ง 2566: ฟังเสียงนโยบายภาคประชาสังคม (Civil Society’s Agenda for the 2023 Thailand Election)” ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เพื่อนำเสนอข้อเสนอแนะด้านสิทธิมนุษยชนหลากหลายประเด็น ครอบคลุมทั้งสิทธิพลเมือง สิทธิทางการเมือง สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม แรงงานข้ามชาติ ผู้ลี้ภัย คนพิการ เด็ก สตรี ผู้มีความหลากหลายทางเพศ สิทธิมนุษยชนและการพัฒนา รวมทั้งกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย ต่อตัวแทนพรรคการเมืองและสาธารณชน
หลังจากวันที่ 20 มีนาคม 2566 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 ซึ่งทำให้มีการยุบสภา และส่งผลให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งอย่างช้าที่สุด 45 - 60 วัน นับตั้งแต่วันยุบสภา กระทั่งต่อมา กกต. มีมติกำหนดวันเลือกตั้งเป็นวันอาทิตย์ ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ภาคประชาสังคมได้จัดทำนโยบายด้านสิทธิมนุษยชน เพื่อนำเสนอต่อผู้สมัครพรรคการเมือง เพื่อกระตุ้นให้การจัดทำนโยบายต่าง ๆ ของพรรคการเมืองควรมาจากการฟังเสียงของประชาชน และให้ความสำคัญกับนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนในแง่มุมต่าง ๆ ที่รอบด้านมากยิ่งขึ้น
สิ่งแวดล้อมและ PM2.5
สฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการ ด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด ชี้ว่า ในฐานะที่ทำวิจัยประเด็นธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนมาหลายปี การละเมิดสิทธิที่เกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจมีแนวโน้มที่จะรุนแรงมากขึ้นในหลายประเด็น โดยเฉพาะในกรณีที่บริษัทไทยเข้าไปลงทุนหรือรับซื้อผลผลิตจากประเทศเพื่อนบ้าน ที่กลไกคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอ่อนแอหรือไม่มีเลย จึงต้องการให้พรรคการเมืองต่าง ๆ เสนอนโยบายกำหนดความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ ที่วางอยู่บนฐานการเคารพสิทธิมนุษยชนอย่างชัดเจน เพื่อยกระดับความรับผิดชอบของธุรกิจ เพิ่มความโปร่งใส ซึ่งจะเพิ่มพลังของผู้บริโภคในการติดตามตรวจสอบธุรกิจ สร้างความเท่าเทียมในสนามแข่งขัน และเตรียมความพร้อมให้บริษัทไทยสามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขของประเทศคู่ค้า ที่มีแนวโน้มจะใส่ข้อกำหนดด้านสิทธิมนุษยชนเข้ามา
“ยกตัวอย่างคือเราควรออกกฎหมายห้ามการเลือกปฏิบัติ และออกกฎหมายบังคับให้บริษัทขนาดใหญ่ต้องดำเนินการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้านตามหลักการชี้แนะ UNGP ตลอดห่วงโซ่อุปทาน ถ้าเรามีกฎหมายนี้ บริษัทใหญ่ในอุตสาหกรรมเกษตรก็ต้องตรวจสอบว่าตนมีส่วนเกี่ยวข้องมากน้อยแค่ไหนกับการเผาแปลงปลูก ไม่ว่าจะในที่ราบหรือบนดอยในห่วงโซ่อุปทานของตน ซึ่งเป็นสาเหตุหลักประการหนึ่งของวิกฤติฝุ่นพิษ PM2.5 ในประเทศ และชี้แจงว่าบริษัทมีมาตรการลดแรงจูงใจในการเผาของเกษตรกรอย่างไร”
ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการ กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า ในการเลือกตั้ง 2566 นี้ ไม่ว่านโยบายสิ่งแวดล้อมจะเป็นจุดขายของพรรคการเมืองหรือไม่อย่างไร แต่หากไม่มีการรับรองสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดี (right to a healthy environment) ซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชน นโยบายสิ่งแวดล้อมเหล่านั้นก็จะถูกใช้เป็นกลไกในการฟอกเขียว ขยายความเหลื่อมล้ำทางสังคม และสร้างความขัดแย้งในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
“การเมืองที่ทำให้สิ่งแวดล้อมดีต้องอยู่บนรากฐานของความเป็นธรรมทางสังคม และประชาธิปไตยที่เปิดกว้างให้กับความหลากหลายทางความคิด พร้อมเปิดพื้นที่ให้กับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตัดสินใจและกำหนดนโยบายอย่างแข็งขันและมีความหมาย”
สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก
ด้านปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เผยว่า สิทธิมนุษยชนคือเรื่องของทุกคน ไม่ว่าเขาเหล่านั้นจะมีสิทธิเลือกตั้งหรือไม่ก็ตาม ตราบใดที่พวกเขาอยู่ในประเทศไทย พวกเขาจะเป็นส่วนหนึ่งของก้าวต่อไปของประเทศทั้งสิ้น
“การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ได้เป็นเพียงหมุดหมายของการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล หรือการทำงานของรัฐสภาเท่านั้น แต่ยังเป็นตัวชี้วัดที่จะแสดงให้เห็นว่าผู้แทนของประชาชนจะใช้กลไกในรัฐสภาอย่างไรให้เกิดการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนมากที่สุด โดยเฉพาะสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ ซึ่งถูกจำกัดอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา พรรคการเมืองที่ให้คุณค่าประชาชน คือพรรคที่พัฒนานโยบายเพื่อสังคมโดยคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน แม้ว่าพวกคุณจะได้เป็นรัฐบาลฝ่ายค้าน หรือไม่ได้รับการเลือกตั้งในครั้งนี้เลยก็ตาม”
ความเหลื่อมล้ำ
นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ ผู้อำนวยการเครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม (We Fair) ชี้ว่า ความเหลื่อมล้ำสูงในประเทศไทยถูกกล่อมเกลาจากชนชั้นนำระบบอำนาจนิยมและเสรีนิยมใหม่ ให้เชื่องจนกลายเป็นสิ่งปกติ คนจน 4.4 ล้านคน รายได้ต่ำกว่า 2,803 บาทต่อเดือน ขณะที่คนรวย 40 ตระกูล มีมูลค่าทรัพย์สิน 143,595 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นร้อยละ 28.5 ของ GDP ที่ดินอยู่ในมือคนมั่งมีกว่า 6 แสนไร่ เท่ากับจังหวัดสมุทรปราการ แต่มีคนไร้ที่ดินคนไร้บ้านจำนวนมาก เด็กและเยาวชนหลุดจากระบบการศึกษากว่า 1.2 ล้านคน เด็กครอบครัวยากจนเข้าถึงมหาวิทยาลัยเพียง 11% เช่นเดียวกับผู้สูงอายุและคนพิการที่ได้รับเบี้ยยังชีพต่ำกว่าเส้นความยากจน 3 - 5 เท่า
“การเลือกตั้งในครั้งนี้มีเดิมพันระหว่างสังคมไทยที่มีความหวังกับความสิ้นหวัง ประชาธิปไตยกับเผด็จการขวาจัด รัฐเผด็จการอำนาจนิยมกับรัฐสวัสดิการ และการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น สวัสดิการเพื่อคุณภาพประชาชนกับอาวุธยุทธพัณฑ์เพื่อความมั่นคงกองทัพ โอกาสการศึกษาเท่าเทียมกับธุรกิจการศึกษาที่สร้างหนี้สิน การเข้าถึงสิทธิเสมอกันถ้วนหน้ากับระบบสงเคราะห์ตีตราคนจน แบ่งแยกเลือกปฏิบัติ รวมทั้งการสร้างรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยกับการคงอยู่ของระบบอำนาจนิยม”
สิทธิคนพิการ
ขณะที่อธิพันธ์ ว่องไว หัวหน้าโครงการกาลพลิก มูลนิธิกระจกเงา กล่าวว่า หน่วยเลือกตั้งต่าง ๆ ควรมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่สามารถอำนวยให้คนพิการ สามารถไปใช้สิทธิลงคะแนนได้จริง
“คนพิการตั้งใจไปใช้สิทธิเลือกคนดีเข้ามาบริหารประเทศ และต้องการให้พรรคการเมืองต่าง ๆ มีนโยบายด้านการส่งเสริมอาชีพและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ต้องมีกลไกสนับสนุนผู้ช่วยคนพิการ โดยนโยบายต่าง ๆ ต้องไม่มาจากทัศนคติด้านการสงเคราะห์ ควรเพิ่มค่าจ้างคนพิการให้สอดคล้องกับค่าครองชีพ เพื่อเพิ่มแรงจูงใจให้เกิดผู้ช่วยคนพิการมากขึ้น ที่สำคัญคือการเลือกตั้งต้องเคารพสิทธิและเสียงของคนพิการ”
คนรุ่นใหม่
เช่นเดียวกับนัสรี พุ่มเกื้อ ตัวแทนคนรุ่นใหม่ ที่สะท้อนว่าสังคมไทยในตอนนี้กลายเป็นสังคมที่เยาวชนไร้ความหวัง เด็กและเยาวชนหลายคนถูกผลักออกจากระบบการศึกษา สถิติปัญหาสุขภาพจิตในเด็กและเยาวชนเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ มิหนำซ้ำเด็กและเยาวชนยังรู้สึกว่าตัวเองไม่มีสิทธิ ไม่มีเสียง และการแสดงออกทางการเมืองมักลงเอยด้วยการตอบโต้ที่ใช้ความรุนแรงและการถูกดำเนินคดี
“ตอนนี้ความหวังของเราริบหรี่ การเลือกตั้งครั้งนี้จึงไม่ใช่เป็นเพียงการเลือกตั้งทั่วไป แต่ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ หากเราชนะและข้อเรียกร้องของภาคประชาสังคมสัมฤทธิ์ผล นี่จะเป็นตัวจุดชนวนความหวัง และเป็นเชื้อไฟให้กับเด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ได้เติบโตในสังคมไทย หากผู้นำประเทศคาดหวังที่จะให้เราเติบโตที่นี่ ก็ต้องสร้างสภาพแวดล้อมและสังคมที่ดีสำหรับการเติบโตของพวกเราด้วย”
สุดท้าย ภาคประชาสังคมย้ำว่าการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในปีนี้ ถือเป็นโอกาสสำคัญที่ผู้สมัครสมาชิกผู้แทนราษฎรและพรรคการเมืองต่าง ๆ ต้องให้ความสำคัญกับนโยบายด้านสิทธิมนุษยชน พร้อมกับขอให้ผู้สมัครทุกคนและทุกพรรคการเมืองยึดมั่นในการพัฒนาสถานการณ์ในด้านสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ ตามที่ภาคประชาสังคมนำเสนอต่อพรรคการเมืองด้วย