จากหน้าจอสู่หน้าฟีด: 25 ปี "การเสพสื่อ" ที่เปลี่ยนไป
Highlight
- ในปี พ.ศ. 2556 อีริค ชมิดท์ (Eric Schmidt) ผู้บริหารบริษัท Google ในขณะนั้น ได้ประกาศชัยชนะของการรับชมวิดีโอผ่านอินเทอร์เน็ต ที่มีเหนือกว่าโทรทัศน์ โดยเปิดตัวเลขจำนวนผู้เข้าชม YouTube ที่มีมากกว่าหนึ่งพันล้านคนทั่วโลก
- Nielsen ได้เปิดเผยผลสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภค ในปี พ.ศ. 2565 พบว่าคนไทยใช้เวลากับสื่อทีวี อินเทอร์เน็ต และวิทยุ รวมกันถึง 9.32 ชั่วโมง
- insightERA เปิดเผยผลสำรวจพฤติกรรมทางดิจิทัลของคนไทย ประจำปี พ.ศ. 2566 พบว่าคนไทยใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ยวันละ 8 ชั่วโมง 6 นาที โดยใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อติดตามข่าวสารมากเป็นอันดับที่ 2 หรือ 58.1 เปอร์เซ็นต์
- การใช้งาน TikTok ของไทยเติบโตขึ้นอีกครั้งในปีนี้ โดยขึ้นเป็นอันดับ 1 ของโลกกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ของผู้ใช้ในไทย ใช้ TikTok เพื่อดูข่าว ซึ่งเพิ่มขึ้น 8 เปอร์เซ็นต์จากปีที่แล้ว
- จากงานวิจัยของสถาบันรอยเตอร์ พบว่าสำนักข่าวเกือบครึ่งหนึ่งหรือ 49 เปอร์เซ็นต์จาก 44 ประเทศทั่วโลก ลงคอนเทนต์ที่เกี่ยวข้องกับข่าวสารเป็นประจำใน TikTok
ในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา “สื่อดั้งเดิม” ค่อย ๆ หายไปจากชีวิตประจำวันของคนในสังคม เทคโนโลยีที่เปลี่ยนรูปแบบไปก็ส่งผลให้สื่อต้องรู้จักปรับตัวเพื่อรับมือกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงของผู้รับสื่อด้วยเช่นกัน จากเรื่องราวและข่าวสารที่รับส่งกันผ่านทางหน้าจอโทรทัศน์ ค่อย ๆ เปลี่ยนรูปแบบไปอยู่ในหน้าจอคอมพิวเตอร์ ก่อนจะเปลี่ยนรูปแบบอีกครั้งเมื่อโลกได้รู้จักกับ “สมาร์ทโฟน” และ “ความเร็ว” ก็กลายเป็นปัจจัยสำคัญในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ที่สื่อต้องเร่งสปีดตัวเองเพื่อตอบโจทย์กลุ่ม FOMO (Fear Of Missing Out) หรือกลุ่มที่กลัวจะตกข่าว ตกกระแส หรือตกเทรนด์
จากยุคนั่งล้อมวงดูโทรทัศน์ สู่ยุคอินเทอร์เน็ตที่ทุกอย่างสะดวกสบายแค่ปลายนิ้วคลิก Sanook พาไปสำรวจพฤติกรรมการเสพสื่อที่เปลี่ยนแปลงไปของคนในยุคปัจจุบัน ในขณะที่เทคโนโลยีสื่อก็พยายามปรับปรุงตัวเองให้ดีอยู่เสมอ
การดูทีวีที่เปลี่ยนแปลงไป
อุตสาหกรรมโทรทัศน์ถือเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต ถ้าย้อนกลับไปในอดีต หลายคนคงคุ้นเคยกับการดูทีวีผ่านทางเสาอากาศหนวดกุ้ง แต่เทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากขึ้นก็ทำให้การออกอากาศรายการทางทีวีเปลี่ยนเป็นดาวเทียมและเคเบิล ทว่า เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตก็เข้ามาทำให้การดูทีวีไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
ในปี พ.ศ. 2556 อีริค ชมิดท์ (Eric Schmidt) ผู้บริหารบริษัท Google ในขณะนั้น ได้ประกาศชัยชนะของการรับชมวิดีโอผ่านอินเทอร์เน็ต ที่มีเหนือกว่าโทรทัศน์ โดยเปิดตัวเลขจำนวนผู้เข้าชม YouTube ที่มีมากกว่าหนึ่งพันล้านคนทั่วโลก แม้คำประกาศของเขาจะยังมีข้อกังขา แต่ก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าการรับชมวิดีโอผ่านอินเทอร์เน็ตคือแนวโน้มของคนในโลกอนาคต ขณะที่พฤติกรรมการดูทีวีก็จะกลายเป็นอดีตไป
Nielsen ได้เปิดเผยผลสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภค ในปี พ.ศ. 2565 พบว่าคนไทยใช้เวลากับสื่อทีวี อินเทอร์เน็ต และวิทยุ รวมกันถึง 9.32 ชั่วโมง และใช้เวลากับสื่อทีวีมากที่สุด คือ 4.10 ชั่วโมงต่อวัน อย่างไรก็ตาม แม้สื่อทีวีจะเป็นสื่อที่คนใช้เวลาด้วยมากที่สุด แต่วิธีการดูทีวีของคนกลับมีความเปลี่ยนแปลงไป กล่าวคือคนไทยหันไปดูรายการย้อนหลัง และดูรายการในรูปแบบสตรีมมิ่งมากขึ้น โดยในปี พ.ศ. 2564 คนไทยเข้าถึงแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งมากถึง 52.29 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับประชากรทั้งประเทศ
คนไทยรับข่าวผ่านโซเชียลมีเดีย
insightERA เปิดเผยผลสำรวจพฤติกรรมทางดิจิทัลของคนไทย ประจำปี พ.ศ. 2566 พบว่าคนไทยใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ยวันละ 8 ชั่วโมง 6 นาที โดยใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อติดตามข่าวสารมากเป็นอันดับที่ 2 หรือ 58.1 เปอร์เซ็นต์ สอดคล้องกับข้อมูลการศึกษาด้านการรับข่าวสารของสถาบันรอยเตอร์ (Reuters Institute) ในปีเดียวกัน ที่พบว่า แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียคือช่องทางที่คนไทยใช้ติดตามข่าวสารมากที่สุด โดยแพลตฟอร์มที่คนไทยนิยมใช้ ได้แก่ Facebook, YouTube, Line และ TikTok
ทั้งนี้ การศึกษาข้างต้นยังพบว่าการใช้งาน TikTok ของไทยเติบโตขึ้นอีกครั้งในปีนี้ โดยขึ้นเป็นอันดับ 1 ของโลก โดยกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ของผู้ใช้ในไทย ใช้ TikTok เพื่อดูข่าว ซึ่งเพิ่มขึ้น 8 เปอร์เซ็นต์จากปีที่แล้ว สถาบันรอยเตอร์ยังชี้ว่าคนไทยชอบดูคลิปข่าวออนไลน์มากกว่าอ่านหรือฟัง ซึ่งพฤติกรรมนี้มีแนวโน้มจะทำให้การนำเสนอข่าวผ่านหนังสือพิมพ์ เว็บไซต์ และแอปพลิเคชันข่าว เติบโตได้ยากขึ้น
รอยเตอร์ได้ระบุถึงหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้คนรุ่นใหม่ในไทยเลือกติดตามข่าวผ่าน TikTok มากขึ้น เป็นเพราะประเด็นเรื่องเสรีภาพในการนำเสนอ ที่คนรุ่นใหม่จำนวนมากมองว่า โซเชียลมีเดียมีอิสระในการรายงานข่าวมากกว่ารายการทีวี ที่อาจถูกควบคุมจากรัฐบาล นอกจากนี้ การเลือกตั้งทั่วไป ปี พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา ก็เป็นช่วงที่สื่อหลายสำนักหันไปพึ่งพาโซเชียลมีเดียมากขึ้น เช่นเดียวกับพรรคการเมืองที่เลือกช่องทางนี้ติดต่อสื่อสารกับประชาชน ขณะที่ประชาชนก็ใช้ช่องทางออนไลน์ โดยเฉพาะ TikTok เพื่อสร้างคอนเทนต์ “ด้านบวก” เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ซึ่งปรากฏการณ์นี้แตกต่างจากประเทศอื่น ๆ ที่ TikTok กลายเป็นช่องทางในการเผยแพร่ข่าวปลอมในช่วงเลือกตั้ง และกลายเป็นปรากฏการณ์ที่ TikTok ส่งผลดีกับการเลือกตั้งและการเมืองในประเทศไทย
TikTok และการเสพสื่อในอนาคต
จุดเปลี่ยนที่สำคัญที่ทำให้ TikTok ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม คือช่วงล็อกดาวน์ในช่วงต้นของการระบาดของโควิด-19 ที่คนรุ่นใหม่ดาวน์โหลด TikTok มาลองเล่น บวกกับรูปแบบการตัดต่อวิดีโอที่ไม่ซับซ้อนก็ทำให้คนอัพโหลดคลิปลงใน TikTok มากขึ้น นอกจากนี้ ความสามารถในการแชร์ข้อมูลอย่างรวดเร็ว การใช้อัลกอริธึมที่เรียนรู้และพัฒนาเนื้อหาคอนเทนต์ที่คนชอบอยู่ตลอดเวลา เป็นปัจจัยที่ทำให้คนหันมาอัพเดตข่าวสารจากทาง TikTok เพิ่มขึ้นเช่นกัน
เมื่อคนหันมาใช้ TikTok มากขึ้น องค์กรข่าวจึงได้หันมาใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อนำเสนอข่าวมากขึ้น จากงานวิจัยของสถาบันรอยเตอร์ พบว่า สำนักข่าวเกือบครึ่งหนึ่งหรือ 49 เปอร์เซ็นต์จาก 44 ประเทศทั่วโลก ลงคอนเทนต์ที่เกี่ยวข้องกับข่าวสารเป็นประจำใน TikTok โดยสำนักข่าวที่หันมาใช้ TikTok เร็วที่สุดอยู่ในกลุ่มประเทศยุโรปตะวันตก ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สหรัฐอเมริกา และลาตินอเมริกา ทั้งนี้ สิ่งที่สำนักข่าวจะใช้เพื่อขยายฐานผู้ชมใน TikTok คือทำให้เนื้อหาสั้น กระชับ เข้าถึงง่าย และดึงดูดผู้ชมตั้งแต่ในวินาทีแรก ๆ ของวิดีโอ อย่างไรก็ตามความสำเร็จในการทำให้คลิปไวรัลใน TikTok ไม่มีสูตรสำเร็จ
การเสพสื่อของคนในโลกโซเชียลมีเดียกำลังจะถูกปรับโฉมใหม่อีกครั้ง หลังจากการมาถึงของ TikTok แต่ก็มีหลายประเด็นข้อถกเถียงเรื่องการใช้ TikTok ทั้งประเด็นเรื่องเสรีภาพการแสดงออก ความน่าเชื่อถือของข้อมูล ประเด็นเรื่องข่าวปลอม ไปจนถึงประเด็นเรื่องต้นทุนจากการสร้างคอนเทนต์สำหรับ TikTok โดยเฉพาะ แต่ทั้งนี้ สื่อก็ต้องปรับตัวในโลกที่เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาเช่นกัน คงต้องติดตามกันต่อไปว่าในอนาคตจะมีการพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงการเสพสื่อของคนรับสื่ออย่างไรบ้าง