เนื้อหาในหมวด ข่าว

ใครบ้างบอกลา “เพื่อไทย” หลังชัดประกาศ “มีลุงมีเรา”

ใครบ้างบอกลา “เพื่อไทย” หลังชัดประกาศ “มีลุงมีเรา”

หลังจากที่พรรคเพื่อไทยประกาศโบกมือลาพรรคก้าวไกลในการจัดตั้งรัฐบาล ประกาศฉีก MOU ที่เคยตกลงร่วมกันมา ก็สร้างความไม่พอใจให้กับใครหลายคนอย่างต่อเนื่อง เรียกว่าสถานการณ์ทวีความรุนแรงขึ้นทุกวัน และท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนต่อการตัดสินใจ “เปลี่ยนขั้ว” ของพรรคเพื่อไทย คนในพรรคเพื่อไทยเองก็ดูจะหมดพลังที่จะสู้เคียงข้างพรรคต่อไปได้ จนทยอยยื่นใบลาออกกันแล้ว 

Sanook รวบรวมสมาชิกทั้งหน้าใหม่หน้าเก่าที่ขอ “ไม่ไปต่อและพอแค่นี้” กับพรรคเพื่อไทย จะมีใครบ้าง ไปดูกันเลย

ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ

ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ น้ำตาคลอประกาศขอยุติบทบาทการเป็น “ผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย” ผ่านรายการกรรมการข่าว คุยนอกจอ ของสรยุทธ์ เมื่อวันที่ 21 สิงหาคมที่ผ่านมา ระบุไม่เห็นด้วยที่พรรคเพื่อไทยไปรวมกับพรรคของ 2 ลุง 

"น้องๆ ที่รักกัน เพื่อนฝูงโทรมาหา บอกว่า ออกมาเถอะ มึงจะอยู่ทำไม โดนกันเละหมดแล้ว แต่ผมมีวิถีทางของผมแบบนี้ ผมจะไม่เดินออกมาจากใครในวันที่เขาลำบาก ก็รอส่งจนวินาทีที่สุดทางของผมแล้ว วันนี้ผมได้รับการยืนยันจากคนสำคัญในพรรคเพื่อไทย จนมั่นใจว่าคุณเศรษฐาได้แน่ สุดทางของผม ก็ส่งได้ตรงนี้แหละ" 

ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์

ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดเชียงใหม่ ได้โพสต์เฟสบุ๊กส่วนตัวเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (21 สิงหาคม) พร้อมแนบรูปภาพใบลาออก ขอออกจากการเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย พร้อมเขียนขอบคุณพรรคเพื่อไทยที่ให้โอกาสทางการเมืองมาอย่างยาวนาน และการตัดสินใจดังกล่าวเป็นการตัดสินใจที่ยากที่สุด

"ขอบคุณพรรคเพื่อไทย ที่ให้โอกาสทางการเมืองตลอดระยะเวลายาวนาน ครั้งนี้เป็นการตัดสินใจที่ยากมากที่สุดครั้งหนึ่งของชีวิต และเข้าใจว่า พรรคมีทางเลือกที่น้อยมากและต้องใช้ต้นทุนทุกอย่างที่มี ก็คงได้แต่ให้กำลังใจทำเพื่อประชาชนอย่างที่หวังไว้ ขอบคุณผู้ใหญ่ทุกท่านในพรรคเพื่อไทยด้วย"

พนัส ทัศนียานนท์

โลกออนไลน์มีการเผยแพร่หนังสือลาออกจากพรรคเพื่อไทยของพนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยได้แจ้งลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรค แม้จะเป็นสมาชิกมาตั้งแต่ปี 2556 โดยหนังสือลาออกฉบับดังกล่าวมีการแจ้งไปตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม และให้มีผลในวันเดียวกัน

มติชนออนไลน์สัมภาษณ์พนัสหลังจากนั้น และได้ความว่าเป็นความจริง สาเหตุเพราะต้องการอิสระทางการเมือง และปฏิเสธที่จะตอบคำถามว่าเป็นเพราะทิศทางทางการเมืองไม่ตรงกันหรือไม่

ชานันท์ ยอดหงษ์

ชานันท์ ยอดหงษ์ หรือ "ปกป้อง" ผู้รับผิดชอบนโยบายด้านอัตลักษณ์และความหลากหลายทางเพศ พรรคเพื่อไทย และอดีตผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ ก็ได้โพสต์บนเฟสบุ๊กส่วนตัวว่าได้ลาออกจากพรรคเพื่อไทยแล้ว เนื่องจากแนวทางที่พรรคเพื่อไทยเลือกเป็นแนวทางที่ตนไม่สามารถร่วมช่วยเหลือหรือผลักดันได้ 

“ป้องหวังว่า หนทางที่พรรคเพื่อไทยเลือกสู้จะยังคงเป็นหนทางที่ทำให้พรรคทำนโยบายที่ได้ประกาศกับสาธารณะชนไว้ ทั้งนี้แนวทางที่พรรคเพื่อไทยเลือกเป็นแนวทางที่ป้องไม่สามารถร่วมช่วยเหลือหรือผลักดันอะไรได้ ป้องจึงได้ขอลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย และขอยุติกิจกรรมทางการเมืองกับพรรคเพื่อไทยไว้นับตั้งแต่บัดนี้”

ธีรชัย ระวิวัฒน์

ธีรชัย ระวิวัฒน์ หรือแชมป์ราชบุรี ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม CARE และผู้ช่วยหาเสียงของพรรคเพื่อไทย ก็ได้ยื่นหนังสือลาออกจากพรรคเพื่อไทย ตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2566 เนื่องจากรู้สึกไม่ดีกับการตัดสินใจของพรรคเพื่อไทยที่เลือกแยกทางกับพรรคก้าวไกล

สงวน คุ้มรุ่งโรจน์ เป็นผู้โพสต์ความคืบหน้าดังกล่าวบนเฟสบุ๊กส่วนตัวของตัวเอง พร้อมระบุว่า 

“ธีรชัยเป็นดาวไฮปาร์คการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2020 ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำตัดสินให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ เขาย้ำว่าพลังคนรุ่นใหม่ที่อดีตถูกสบประมาทว่ามีอยู่แต่เพียงในโลกออนไลน์นั้น ได้เผยตัวตนและส่งเสียงของพวกเขาสู่ผู้มีอำนาจแล้ว”

เปิดผลคะแนนเลือกตั้งนายก อบจ.อุดรฯ \

เปิดผลคะแนนเลือกตั้งนายก อบจ.อุดรฯ "ศราวุธ" จากพรรคเพื่อไทย ชนะพรรคประชาชน

เปิดผลเลือกตั้งนายก อบจ.อุดรฯ “ศราวุธ” จากพรรคเพื่อไทย คว้าชัยชนะ ได้ 3.2 แสนคะแนน ส่วน “คณิศร” จากพรรคประชาชน แม้แพ้ แต่กวาดได้เพิ่ม 82,874 คะแนน