เนื้อหาในหมวด ข่าว

จาก “เด็ก 14 กราดยิง” ถึงเวลาที่ผู้ใหญ่ต้องให้ความสำคัญกับ “สุขภาพจิต” ของเด็กหรือยัง

จาก “เด็ก 14 กราดยิง” ถึงเวลาที่ผู้ใหญ่ต้องให้ความสำคัญกับ “สุขภาพจิต” ของเด็กหรือยัง

จากเหตุการณ์ “เด็ก 14 กราดยิง” ณ ห้างสรรพสินค้าใหญ่ใจกลางกรุง นำไปสู่การพูดคุยถกเถียงของผู้คนในสังคมจำนวนมาก ทั้งประเด็นเรื่องการครอบครองอาวุธปืน การมุ่งเป้าหมายไปที่เหยื่อผู้หญิง อิทธิพลของเกม และเรื่อง “สุขภาพจิต” ของเยาวชนผู้ก่อเหตุ

ในขณะที่เรื่องสุขภาพจิตวัยรุ่นวนกลับมาให้ผู้ใหญ่พูดคุยกันอีกครั้ง ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรายังมองไม่เห็น “การแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรม” ต่อปัญหาสุขภาพจิตที่เคยสะท้อนกันไปหลายต่อหลายครั้งจากเหตุการณ์ที่ต่างกรรมต่างวาระกันในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จนคล้ายกับว่าเรื่องสุขภาพจิตยังไม่ใช่ “เรื่องสำคัญ” ที่ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองนี้จะให้ความสำคัญ แต่จากเหตุกราดยิงพารากอน ที่ผู้ก่อเหตุคือเด็กชายวัย 14 ปีที่เกิดขึ้น อาจจะเป็น “สัญญาณเตือนภัย” ที่ผู้ใหญ่ต้องกันมาให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพจิตของเด็กอย่างจริงจังกันเสียที 

Sanook ชวนดูสถิติ “ปัญหาสุขภาพจิต” ของเด็กไทย พร้อมเปิดตัวเลข “จิตแพทย์เด็ก” ที่อาจมีน้อยเกินไปและไม่เพียงพอต่อความต้องการของเด็กๆ ในประเทศ

สถานการณ์สุขภาพจิตเด็กไทย

ปัญหาสุขภาพจิตของเด็กและวัยรุ่นถือเป็นเรื่องที่น่ากังวลในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยสถิติระบุว่า 1 ใน 7 ของวันรุ่นไทยอายุ 10 - 19 ปี มีความผิดปกติทางจิตประสาทและอารมณ์ ซึ่งสอดคล้องกับผลการสำรวจภาวะสุขภาพนักเรียนทั่วโลก ในปี 2565 ที่ชี้ว่า 17.6% ของวัยรุ่นไทยอายุระหว่าง 13 - 17 ปี มีความคิดที่จะฆ่าตัวตาย  

เช่นเดียวกับรายงานเรื่อง “เด็กและครอบครัวไทยในสองทางแพร่ง: รายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัวประจำปี 2023” ของศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว (คิด for คิดส์) ได้จัดทำแบบประเมินสุขภาพจิตของเด็กและวัยรุ่น แบบระบบออนไลน์ Mental Health Check ในช่วงเดือนสิงหาคม 2565 ถึงเดือนเมษายน 2566 รวมทั้งสิ้น 180,000 คน พบว่ามีเด็กกว่า 7,285 คน ได้รับการประเมินเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงจะเป็นโรคซึมเศร้าหรือฆ่าตัวตาย

จิตแพทย์เด็กขาดแคลนหนัก

ปัญหาสุขภาพจิตของเด็กและเยาวชนไทยกำลังเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องการ “จิตแพทย์เด็ก” หรือผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชที่ได้รับการฝึกฝนเรื่องการดูแลเด็กและเยาวชนโดยตรงเข้ามาดูแล แต่จำนวนจิตแพทย์เด็กในประเทศไทยกลับอยู่ในสถานะ “วิกฤต” เมื่อทั้งประเทศมีจิตแพทย์เด็กเพียง 295 คนเท่านั้น ซึ่งในจำนวนนี้ กระจุกตัวอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครถึง 111 คน ขณะที่จิตแพทย์กำลังขาดแคลนอย่างหนัก

สถานบริการจิตเวชในประเทศไทยก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการของเด็กและเยาวชน โดยสถานบริการจิตเวชทั้งหมด (รวมโรงพยาบาลรัฐ เอกชน และคลินิก) ทั้งหมด 452 แห่ง มีเพียง 177 แห่งที่มีจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นประจำอยู่ ซึ่ง 40 แห่งกระจุดตัวอยู่ในกรุงเทพมหานคร 

ทั้งนี้ 17 จังหวัดของประเทศไม่มีจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นประจำอยู่เลย และ 15 จังหวัดมีจิตแพทย์เด็กคนเดียวทั้งจังหวัด ซึ่งนำไปสู่ปัญหาเด็กและเยาวชนเข้าไม่ถึงการให้บริการสุขภาพจิตที่เหมาะสมและต่อเนื่อง ก่อเกิดเป็นความเจ็บป่วยทางจิตใจ ที่คนภายนอกไม่เข้าใจ มองไม่เห็น และไม่หยิบยื่นความช่วยเหลือมาให้