ย้อนประวัติทรงผมตำรวจ เกรียนขาว 3 ด้าน บังคับใช้ยุค "บิ๊กแป๊ะ" นั่งเก้าอี้ ผบ.ตร.
ย้อนประวัติทรงผมตำรวจ เกรียนขาว 3 ด้าน บังคับใช้ยุค "บิ๊กแป๊ะ" นั่งเก้าอี้ ผบ.ตร. จ่อปิดตำนานในยุค "บิ๊กต่อ"
กรณี มีการเผยแพร่ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยการปฏิบัติตนของข้าราชการตำรวจเมื่อแต่งเครื่องแบบ พ.ศ. 2566 โดยมีสาระสำคัญคือ ให้ยกเลิกระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยการปฏิบัติตนของข้าราชการตำรวจเมื่อแต่งเครื่องแบบ พ.ศ. 2561 ที่เคยกำหนดให้ข้าราชการตำรวจชายตัดผมสั้น ขาวทั้ง 3 ด้าน ความยาวด้านบนไม่เกิน 3 เซนติเมตร เปลี่ยนเป็นผมด้านบนความยาวไม่เกิน 5 เซนติเมตร ด้านข้างและด้านหลังความยาวไม่เกิน 1 เซนติเมตร
ต่อมา พล.ต.ท.อาชยน ไกรทอง โฆษก ตร. เปิดเผยว่า สำหรับประกาศที่เห็นเผยแพร่ตามสื่อโซเชียลถือเป็นแบบร่างคำสั่งเท่านั้น ยังไม่ใช่ฉบับทางการที่ลงนามโดย พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) สำหรับร่างประกาศนี้ถือเป็นแนวคิดของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่เกิดจากการลงพื้นที่ตรวจราชการและได้สอบถามความคิดเห็นผู้ใต้บังคับบัญชา จากนั้นได้มีดำริให้สำนักงานกำลังพล (สกพ.) ศึกษาแนวทางและผลกระทบจึงเกิดมาเป็นแบบร่างตามที่ได้เห็น
พล.ต.ท.อาชยน กล่าวอีกว่า สำหรับจุดประสงค์ในการแก้ไขระเบียบเรื่องนี้ เนื่องด้วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติต้องการปรับประยุกต์ทรงผมของข้าราชการตำรวจให้สอดคล้องกับสถานการณ์ลักษณะงานสถานที่พิเศษและพื้นที่พิเศษ ซึ่งระเบียบนี้หากถูกประกาศใช้จะมีผลกับตำรวจทุกนาย
คำสั่งทรงผมขาว 3 ด้าน บังคับใช้ในยุค บิ๊กแป๊ะ เป็น ผบ.ตร.
สำหรับระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยการปฏิบัติตนของข้าราชการตำรวจเมื่อแต่งเครื่องแบบ พ.ศ. 2561 ลงนามในสมัย พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. เมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2561
ระบุว่า ข้าราชการตำรวจชายทุกคนเมื่อแต่งเครื่องแบบ ให้ตัดผมสั้น ขาวทั้ง 3 ด้าน ความยาวด้านบนไม่เกิน 3 เซนติเมตร ส่วนข้าราชการตำรวจชายที่ปฏิบัติหน้าที่สืบสวนหรือการข่าวหรือป้องกันปราบปรามยาเสพติดเมื่อไม่แต่งเครื่องแบบให้ไว้ผมรองทรงสูง
ส่วนการไว้ผมของข้าราชการตำรวจหญิงเมื่อแต่งเครื่องแบบ ต้องไม่ปล่อยให้ผมยาวประบ่าจนปิดอินทรธนู หากผมยาวต้องขมวดปลายผมให้เรียบร้อย และหากต้องใช้อุปกรณ์ในการเก็บผม เช่น กิ๊บหรือริบบิ้น ต้องใช้สีดำเท่านั้น (แน่นอนว่าห้ามไว้ผมเปีย ผมแกละ ผมหางม้า ผมม้า และทรงอื่นๆ ที่ไม่เหมาะสม) และข้าราชการตำรวจทุกคนห้ามทำสีผม ยกเว้นกรณีที่ย้อมผมดำเท่านั้น เครื่องแบบที่สวมใส่ต้องใช้สีกากี และให้ใช้ผ้าสีกากีพระราชทาน
นอกจากทรงผมและเครื่องแบบจะต้องตรงตามระเบียบแล้ว ท่วงท่าก็ต้องสง่างามให้เหมาะสมกับบทบาทหน้าที่ ข้อที่ 10 ของระเบียบดังกล่าวระบุว่า ข้าราชการตำรวจทุกคนจะต้องประพฤติตนให้อยู่ในระเบียบวินัยโดยเคร่งครัด เมื่อ ‘แต่งเครื่องแบบ’ ต้องแต่งกายให้เรียบร้อย หลีกเลี่ยงการแสดงกริยาท่าทางที่ไม่เหมาะสมในที่สาธารณะ เช่น ยืนกอดอก ล้วงกระเป๋า ยืนพิง เท้าแขน เท้าเอว หรือนั่งไขว่ห้าง เป็นต้น ตลอดจนไม่แสดงกริยาวาจาใดๆ ในลักษณะหยาบคาย ดูหมิ่น หรือเหยียดหยามประชาชน
บิ๊กแป๊ะ ออกคำสั่ง ตั้งแต่ระเบียบยังไม่บังคับใช้
ซึ่งก่อนหน้านั้น ตั้งแต่ 16 พ.ย. 2560 พล.ต.อ. จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ก็ได้ออกคำสั่งกำชับให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ฝ่ายปฏิบัติการพื้นที่ทุกนาย แต่งกายและตัดผมให้ถูกต้องตามระเบียบ โดยเน้นย้ำถึงข้าราชการตำรวจระดับผู้บังคับบัญชาว่าต้องปฏิบัติให้เป็นแบบอย่าง
ในช่วงที่เป็นกระแสข่าว พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ชี้แจงว่า "ระเบียบนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นการเน้นย้ำเพื่อให้เป็นระเบียบเรียบร้อย เป็นการปฏิบัติตามวินัยตำรวจซึ่งมีอยู่แล้ว การออกคำสั่งเป็นการเน้นย้ำระเบียบที่มีอยู่แล้ว เพราะนาน ๆ ไปก็ต้องเน้นย้ำกันทีหนึ่ง ทางตำรวจมีกฎเรื่องการแต่งกายและทรงผมเอาไว้อยู่แล้ว เพื่อให้เป็นระเบียบ และเกิดความทะมัดทะแมงกันในการทำงาน" พ.ต.อ.กฤษณะ กล่าว
คำสั่งดังกล่าวครอบคลุมนายตำรวจฝ่ายสอบสวนทุกระดับชั้น โดยอนุโลมให้ตำรวจสายสืบ และหน่วยงานที่ต้องแต่งกายให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในการปฏิบัติหน้าที่ เช่น ตำรวจสายสืบและตำรวจปราบปรามยาเสพติดที่ลงพื้นที่หาข่าว ซึ่งนายตำรวจชั้นสัญญาบัตรและระดับผู้บังคับบัญชาหลายนายก็ได้ตัดผมสั้นเพื่อเป็นตัวอย่างแล้ว
นับตั้งแต่นั้นมา ทรงผมเกรียน 3 ด้าน หรือขาว 3 ด้าน ก็กลายเป็นทรงผมสัญลักษณ์ของตำรวจ ตั้งแต่ระดับ ผบ.ตร. ลงมาถึงชั้นประทวน หากไม่ตัดผมตามระเบียบก็จะถูกธำรงวินัย ซึ่งก็เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ไม่น้อย ว่าเหตุใดตำรวจจึงต้องไว้ผมทรงนี้ เพราะทรงผมนั้นไม่ได้มีผลต่อประสิทธิภาพการทำงาน
พรรคก้าวไกล เคยเสนอให้แก้ไขระเบียบทรงผมตำรวจ
ในปี 2565 การประชุมร่วมกันของรัฐสภาได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ โดย พ.ต.ต.ชวลิต เลาหอุดมพันธ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) เสียงข้างน้อย ระบุว่า ข้าราชการตำรวจทุกเพศ มีสิทธิ เสรีภาพ ในการไว้ผมสั้นหรือยาวก็ได้โดยสุภาพเรียบร้อย การออกกฎระเบียบ คำสั่ง ให้จำกัดสิทธิเสรีภาพได้เท่าที่จำเป็น เพื่อความสุภาพเรียบร้อยเท่านั้น
จะเห็นว่าไม่ได้เป็นการให้สิทธิเสรีภาพทรงผม แต่ยังคงให้อำนาจฝ่ายบริหารจำกัดสิทธิเสรีภาพตำรวจในการไว้ทรงผมได้เท่าที่จำเป็น เพราะทรงผมสุภาพเรียบร้อยมีหลายทรงไม่ใช่แค่ทรงขาวสามด้าน เดิมผู้บังคับบัญชาใช้อำนาจสั่งการจำกัดสิทธิผู้ใต้บังคับบัญชาเกินความจำเป็น ทำให้อึดอัดทำลายคุณค่า ทำลายความมั่นใจ ซึ่งเป็นปัญหา จึงต้องปรับปรุงให้เกิดสิ่งที่ดีขึ้น ทรงผมแบบนี้สร้างความไม่มั่นใจ สร้างความแปลกแยกจากประชาชนทั่วไป คำสั่งแบบนี้มีแต่จะสร้างความเหินห่างไม่ใช่พวกเดียวกับประชาชน
“ผมเคยอยู่ทันคำสั่งทรงผมบ้าบอๆ ของ ผบ.ตร.เป็นปีๆ ก่อนจะลาออกมา ผมเห็นปัญหาต่างๆ ขององค์กรตำรวจมาตลอด ข้องใจมาตลอดว่าระบบราชการทำไมห่วยขนาดนี้ โดยเฉพาะตำรวจแย่กว่าองค์กรอื่นๆ ยิ่งมีรัฐประหาร ยิ่งทำให้องค์กรตำรวจย่ำแย่หนัก คำสั้งทรงผมขาว 3 ด้าน ช่วงแรกที่สั่งมาตำรวจไม่ทำตามยื้อมาได้ครึ่งปี ผบ.ตร.ที่บ้าอำนาจไม่สามารถบังคับได้ สุดท้ายใช้วิธีเชือดไก่ให้ลิงดู เอาตำรวจกลุ่มหนึ่งไปธำรงวินัย แล้วทำไอโอส่งไปตามกลุ่มไลน์ตำรวจให้เกิดความกลัว เป็นบรรยากาศของการถูกบังคับสิทธิในเนื้อตัวร่างกาย ความคิดสร้างสรรค์ในองค์กรหดหาย ซึ่งตำรวจไม่ใช่ต้องทำตามคำสั่งจากความหวาดกลัวของคนหัวโบราณ” พ.ต.ต.ชวลิต กล่าว
ด้าน พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน ในฐานะ กมธ.ฯ ชี้แจงว่า ตอนแรกคิดว่าจะไม่ตอบเรื่องนี้ เพราะไม่ค่อยเป็นคำถามสักเท่าไหร่ แต่ถ้าไม่ตอบจะเสียหายต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยืนยันว่า ไม่มีการบังคับ ไม่มีการทรมาน ตำรวจไว้ผมยาวคงไม่ถูกจับไปทรมานถ้าไม่ตัดผมสั้น ตนขอพูดเพียงสั้นๆว่า “เกสา โลมา นะขา ทันตา ตะโจ คุณไปบวชไม่โกนหัวได้หรือไม่”
จากนั้น ที่ประชุมลงมติเห็นด้วยกับร่างเดิมของ กมธ. ด้วยคะแนน 382 ต่อ 19 งดออกเสียง 2 และไม่ลงคะแนน 7 เสียง เป็นอันว่า พ่ายโหวตไป ไม่สามารถทวงคืนทรงผมให้ตำรวจได้