เนื้อหาในหมวด หนัง-ละคร

4 หนังวรรณคดีไทยสู่แผ่นฟิล์ม

4 หนังวรรณคดีไทยสู่แผ่นฟิล์ม

หลังจากที่ "ขุนแผน ฟ้าฟื้น" เป็นวรรณคดีไทยที่ได้ฤกษ์ขึ้นจอใหญ่เรื่องล่าสุด ย้อนกลับไปในช่วงต้นปี 2000 (หรือตรงกับพ.ศ.2543) เป็นต้นมา มีภาพยนตร์ไทยที่ดัดแปลงมาจากวรรณคดีหลายเรื่อง ซึ่ง 4 เรื่องดังที่คนอาจจะหลงลืมกันไปแล้วว่าเคยมีการสร้างขึ้นมา และมีการนำแสดงโดยดาราดังในช่วงเวลานั้นๆ อีกด้วย จะมีเรื่องอะไรบ้างนั้นตามไปอ่านกันเลย

 

 

ไกรทอง (พ.ศ.2544)

 

ช่วงปี 2540 พระเอกหน้าไทย คมเข้ม รูปร่างกำยำอย่าง “วินัย ไกรบุตร” แจ้งเกิดจากผลงานภาพยนตร์เรื่อง “นางนาก” และ “บางระจัน” อีกทั้ง ยังถือเป็นพระเอกที่สามารถทำเงินได้อย่างล้นหลามทำให้เขาได้รับความนิยมในช่วงเวลาดังกล่าว โดย “ไกรทอง” ถือเป็นผลงานเรื่องที่ 4 ของวินัย ไกรบุตร ซึ่งเขารับบทเป็นไกรทอง นายพรานล่าจระเข้ที่มีฝีมือเลื่องลือในจังหวัดนนทบุรี ที่ได้ข่าวว่าที่เมืองพิจิตรนั้นมีจระเข้ที่กำลังออกอาละวาด

 

ชาละวัน (เจ็ท ผดุงธรรม) คือจระเข้พันธุ์ดุร้าย รูปร่างใหญ่โตซึ่งอาศัยอยู่ใต้แม่น้ำในเมืองพิจิตร ยามที่เขาจำศีลอยู่ในถ้ำบาดาล ชาละวันจะแปลงร่างเป็นชายหนุ่มรูปหล่อ แต่ด้วยอุปนิสัยเจ้าชู้ทำให้เขามีเมียแสนสวยสุดเซ็กซี่ถึงสองคนนั่นคือ วิมาลา (แชมเปญ เอ็กซ์) และ เลื่อมลายวรรณ (ชุติมา เอฟเวอรี่) (ชื่อดาราหญิงก็การันตีความเป็นเซ็กซี่สตาร์ในยุคสมัยนั้นเช่นกัน)

 

หลังจากการออกอาละวาดของชาละวันได้สร้างความหวาดผวาให้กับชาวบ้าน จนเศรษฐีประจำเมืองได้ทำพิธีเสียบตะบะ โดยนำลูกสาวทั้งสองคนอย่าง ตะเภาแก้ว (ปรายฟ้า สิริวิชชา) และตะเภาทอง (วรรณษา ทองวิเศษ) มานำขบวน แต่ระหว่างพิธี ชาละวันได้ออกอาละวาดจนชาวบ้านโดนฆ่าตาย ซ้ำร้ายตะเภาทองยังถูกลักพาตัวไปยังเมืองใต้บาดาล ทำให้เศรษฐีลั่นว่าใครก็ตามที่ช่วยเหลือตะเภาทองขึ้นมาได้จะยกลูกสาวให้แต่งงาน ไกรทองที่เดินทางมาปราบจระเข้จึงดำลึกไปสู่ถ้ำเพื่อชิงตัวตะเภาทองกลับมา

 

 

ขุนแผน (พ.ศ.2545)

 

แอนดี้ วัชระ ตังคะประเสริฐ นายแบบที่ผันตัวมาเป็นนักแสดงสายโฆษณาที่งานชุกคนหนึ่งในยุคสมัยนั้น จนกระทั่งเขาได้รับบทนำในภาพยนตร์เรื่อง ขุนแผน ผลงานการกำกับของปื้ด ธนิตย์ จิตนุกูล หยิบเอาวรรณคดีขุนช้างขุนแผนมาเล่าแบบยึดตามต้นฉบับ ขุนแผน (แอนดี้ วัชระ) ผู้ต้องการจะเป็นยอดคนเขาจึงออกตามหาของวิเศษสามอย่างอันประกอบไปด้วย ดาบฟ้าฟื้น ม้าสีหมอก และกุมารทอง เขาต้องพลัดพรากจากคนรักอย่างนางพิมพิลาไลยอยู่หลายครั้ง ด้วยหน้าตาอันหล่อเหลาทำให้ขุนแผนต้องพัวพันกับหญิงงามมากหน้าหลายตา

 

ทางด้านขุนช้าง (อภิชัย นิปัทธหัตถพงศ์) ชายอ้วนหน้าตาอัปลักษณ์แต่ร่ำรวย เขารักนางพิมพิลาไลย แต่ในใจก็รู้ว่าเธอรักขุนแผนอย่างหมดหัวใจ เขาจึงพยายามทำทุกวิถีทางที่จะช่วงชิงนางมาเป็นของตัวเอง ส่วนพิมพิลาไลย (บงกช คงมาลัย) หญิงสาวที่ตกอยู่ท่ามกลางสองชาย ทำให้เธอกำลังต้องเผชิญกับโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ในชีวิต

 

 

พระอภัยมณี (พ.ศ.2545)

 

หญิง จุฬาลักษณ์ กฤติยารัตน์ อีกหนึ่งเซ็กซี่สตาร์แห่งยุคกับผลงานภาพยนตร์ไทยระดับอีพิค แต่ตัวหนังไม่ได้เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ ในยุคนั้นการสร้างหนังเพื่อส่งตรงลงแผ่นวีซีดีเลยถือเป็นปรากฏการณ์ครั้งใหญ่ในแวดวงอุตสาหกรรมหนังไทยอยู่ไม่น้อย อย่างไรก็ตามตัวหนังก็โดนสับเละเทะว่านักแสดงเล่นกันเหมือนนั่งท่องบทกันอยู่หน้ากล้องซะมากกว่า

 

ตัวหนังเล่าเรื่องราวของพระอภัยมณีและศรีสุวรรณที่เดินทางออกไปหาความรู้มาปกป้องบ้านเมือง พระอภัยมณีเลือกเรียนวิชาเป่าปี่ ขณะที่ศรีสุวรรณเลือกเรียนวิชาต่อสู้ เมื่อเรียนจบและเดินทางกลับมายังอาณาจักร ท้าวสุทัศน์โกรธและผิดหวังในตัวราชบุตรทั้งสองจึงสั่งเนรเทศออกจากเมืองไป ระหว่างที่รอนแรมเดินทาง เสียงเป่าปี่ของพระอภัยมณีได้ดังไปถึงถ้ำของนางผีเสื้อสมุทร นางจึงตัดสินใจลักพาตัวพระอภัยมณีไปอยู่ในถ้ำ โดยนางผีเสื้อสมุทรได้จำแลงกายเป็นหญิงงามจนทั้งสองมีลูกด้วยกันชื่อว่า สินสมุทร

 

วันหนึ่งความจริงได้ปรากฏขึ้นเมื่อพระอภัยมณีล่วงรู้ร่างที่แท้จริงของนางผีเสื้อสมุทร เขาจึงพาลูกชายหนีออกมาโดยได้รับความช่วยเหลือของนางเงือก เมื่อผีเสื้อสมุทรรู้เข้านางจึงตามล่าพระอภัยมณีอย่างไม่ลดละ

 

 

สุดสาคร (พ.ศ.2549)

 

สุดสาคร คล้ายจะเป็นภาคต่อกลายๆ ของ “พระอภัยมณี” แต่เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงสตูดิโอจากเดิมที่เป็นค่ายไรท์บียอนด์ มาเป็นค่ายโมโนฟิล์ม มีแค่เพียงนักแสดงอย่างสุรชัย แสงอากาศ ผู้ที่เคยรับบทพระอภัยมณี เพียงคนเดียวเท่านั้นที่กลับมารับบทเดิมอีกครั้งในหนังเรื่องนี้

 

แน็ก ชาลี ไตรรัตน์ ผู้รับบทสุดสาครได้ตัดสินใจจากบ้านเกิดเพื่อออกตามหาพระอภัยมณี (สุรชัย แสงอากาศ) โดยมีม้านิลมังกรเป็นเพื่อนและพาหนะคู่ใจ ขณะเดียวกันพระอภัยมณี นางสุวรรณมาลี และสินสมุทรได้ประสบเหตุเรืออับปางทำให้เกิดการพลัดหลงกัน สินสมุทรต้องเผชิญหน้ากับโจรสลัด ส่วนพระอภัยมณีลอยน้ำไปถึงเมืองลังกาและถูกอุศเรน (ภานุเดช วัฒนสุชาติ) จับไว้เป็นตัวประกันเพื่อเอาไว้ต่อรองทำสงครามกับศรีสุวรรณ (วรวิทย์ แก้วเพ็ชร) น้องชายของพระอภัยมณีที่ได้กลายเป็นเจ้าเมืองรมจักร

 

ระหว่างการเดินทางของสุดสาครเขาต้องพบกับอุปสรรคมากมาย โดยเฉพาะชีเปลือยที่วางแผนจะชิงม้านิลมังกรจากเขา สุดสาครจึงต้องรีบทำเวลาให้ทันท่วงทีและเดินทางไปช่วยเหลือพระอภัยมณีที่กำลังจะต้องเผชิญกับอันตรายครั้งยิ่งใหญ่

 

 

Leio โคตรแย้ยักษ์ ก้าวที่น่าสนใจของหนังสัตว์ประหลาดสัญชาติไทย

Leio โคตรแย้ยักษ์ ก้าวที่น่าสนใจของหนังสัตว์ประหลาดสัญชาติไทย

สิ่งที่น่าชื่นชมเป็นอย่างยิ่งสำหรับ Leio โคตรแย้ยักษ์ คือความพยายามนำหนัง “สัตว์ประหลาดสัญชาติไทย” หวนคืนสู่จอภาพยนตร์อีกครั้ง หลังจากก่อนหน้านี้ ปักษาวายุถือเป็นหนัง “อสูรกาย” ในความทรงจำของผู้ชม เข้าฉายไปตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 ทิ้งระยะเวลากว่าสิบปี

รีวิว ขุนแผน ฟ้าฟื้น ความพยายามเปิดจักรวาลวรรณคดีไทย

รีวิว ขุนแผน ฟ้าฟื้น ความพยายามเปิดจักรวาลวรรณคดีไทย

ขุนแผน ฟ้าฟื้น อันเป็นผลงานการกำกับของก้องเกียรติ โขมศิริ เป็นความพยายามล่าสุดในการหยิบเอาตัวละครในวรรณคดีไทยเรื่องดังอย่าง “ขุนช้าง ขุนแผน” เอามาบอกเล่าใหม่ ปรับแต่งให้มีความร่วมสมัยมากยิ่งขึ้น

ขุนแผน ฟ้าฟื้น ทำไมวรรณคดีจะเถิดเทิงบ้างไม่ได้

ขุนแผน ฟ้าฟื้น ทำไมวรรณคดีจะเถิดเทิงบ้างไม่ได้

อีกหนึ่งภาพยนตร์ไทยที่หยิบเอาวรรณคดีเรื่องดังที่อยู่ในความทรงจำของคนไทยอย่าง “ขุนช้างขุนแผน” มาตีความและนำเสนอใหม่ ในรูปแบบที่ผู้ชมอาจคาดไม่ถึง บอกเล่าเรื่องราวที่คนคุ้นเคยในมุมมองใหม่ๆ ผลงานการกำกับของก้องเกียรติ โขมศิริ (ไชยา, เฉือน และขุนพันธ์)