เนื้อหาในหมวด สุขภาพ

ทำไม? ห้ามกินยาพร้อมนม-ชา-น้ำอัดลม

ทำไม? ห้ามกินยาพร้อมนม-ชา-น้ำอัดลม

หลายครั้งที่เรามักแอบเห็นคนรอบตัวกระดกเครื่องดื่มอื่นๆ ที่ไม่ใช่น้ำเปล่าเข้าปากพร้อมกับยา ไม่ว่าจะเป็น ชา น้ำอัดลม หรือบางครั้งก็เป็นนม ในความเป็นจริงแล้วการดื่มน้ำเหล่านี้ไปพร้อมกับการทานยาเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง เพราะอาจส่งผลเสียที่คุณอาจไม่เคยทราบได้

 

ทำไม? ห้ามกินยาพร้อมนม-ชา-น้ำอัดลม

เครื่องดื่มชนิดแรกที่มีความเป็นไปได้สูงว่าอาจมีผู้ดื่มพร้อมกับยา นั่นคือ ชา ไม่ว่าจะเป็นชาจีน ชาเขียว หรือแม้กระทั่งชาเย็น (ใส่นม) ชา และกาแฟมีสารกระตุ้นประสาทที่เรารู้จักกันดีอย่าง คาเฟอีน หากทานเครื่องดื่มเหล่านี้ร่วมกับยาบางชนิดที่มีสารบางชนิดที่มีฤทธิ์กระตุ้นประสาทเช่นกันอย่าง pseudoephedrine (อาจพบได้ในยาแก้หวัดทั่วไป) ก็จะทำให้ร่างกายได้รับสารกระตุ้นประสาทมากเกินไป จนอาจเกิดอาการกระวนกระวาย นอนไม่หลับ หรือใจสั่นได้ นอกจากนี้ในยาบางชนิดยังมีสารที่อาจยืดเวลาในการออกฤทธิ์ของคาเฟอีนมากขึ้นอีกด้วย เช่น ciprofloxacin และ cimetidine ดังนั้นหากต้องทานยาที่มีสารเหล่านี้ ควรงดเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนชั่วคราว

 

สำหรับน้ำอัดลม อาจมีผู้ป่วยที่ทานยาระหว่าง หรือหลังมื้ออาหารที่บนโต๊ะอาหารสั่งเครื่องดื่มยอดฮิตอย่าง น้ำอัดลม เอาไว้แล้ว เลยคิดจะยกดื่มพร้อมยาแทนน้ำเปล่า แต่นอกจากน้ำอัดลมจะมีคาเฟอีนด้วยแล้ว น้ำอัดลมยังมีแก๊สที่เข้าไปกัดกระเพาะอาหาร และขัดขวางการดูดซึมของตัวยา ให้ยามีประสิทธิภาพในการรักษาน้อยลงไปด้วย

 

สุดท้ายกับเครื่องดื่มอันอุดมไปด้วยประโยชน์หลายด้านอย่าง นม การทานยาไปพร้อมกับนม อาจทำให้ยาบางชนิดดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้น้อยลง ผลการรักษาจากยาก็จะน้อยลงตามไปด้วย นอกจากนี้ยังรวมไปถึงเครื่องดื่ม และผลิตภัณฑ์จากนมอื่นๆ เช่น โยเกิร์ต นมเปรี้ยว อาหารเสริม วิตามิน ยาลดกรด และเครื่องดื่มที่ใส่นมอื่นๆ ที่ไม่ควรดื่มพร้อม หรือหลังการทานยา 1-2 ชั่วโมงด้วย เพราะผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของนมทั้งหมดจะมีแคลเซียมเป็นส่วนประกอบ เมื่อรับประทานพร้อม หรือทานหลังจากทานยาไปไม่นาน แคลเซียมจากเครื่องดื่มเหล่านั้นจะไปจับกับยาที่เรากินเข้าไป ส่งผลให้ปริมาณของยาที่จะดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดเพื่อการรักษาลดน้อยลง จนไม่เพียงพอต่อการรักษาอาการ หรือโรคต่างๆ ที่เราต้องการได้ อาการ หรือโรคที่เราเป็นอยู่ก็จะไม่หาย รวมไปถึงร่างกายอาจไม่ได้รับประโยชน์อะไรจากการทานยานั้นๆ เลย

นอกจากเครื่องดื่มทั้ง 3 ชนิดที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว ยังมีน้ำผลไม้ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่เราไม่ควรทานร่วมกับยาอีกด้วย เพราะน้ำผลไม้ โดยเฉพาะผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวอย่าง น้ำส้ม น้ำมะนาว จะทำให้ประสิทธิภาพของยาลดน้อยลง ส่วนแอลกอฮอล์ที่มีฤทธิ์กดประสาท หากทานควบคู่ไปกับยาที่มีฤทธิ์กดประสาทเช่นกัน เช่น ยาแก้แพ้ ยาคลายกังวล ยาต้านซึมเศร้า ยานอนหลับ อาจส่งผลให้ร่างกายได้รับฤทธิ์ของการกดประสาทมากเกินไป จนอาจทำให้หมดสติ หรือเสียชีวิตได้ นอกจากนี้แอลกอฮอล์ยังมีพิษต่อตับ ที่อาจส่งผลเสียกับยาทุกชนิดที่ทานเข้าไปได้เช่นกัน โดยเฉพาะยาสามัญประจำบ้านอย่าง พาราเซตามอล ที่หากทานมากๆ ก็อาจมีความเสี่ยงต่ออาการตับวายได้

 

ดังนั้นวิธีที่ถูกต้องในการกินยาคือ

  • กินยาพร้อมน้ำเปล่าเท่านั้น เพื่อหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่ส่งผลต่อการออกฤทธิ์กับยาทุกชนิด ควรเลือกดื่มน้ำเปล่าอุณหภูมิห้องจะดีที่สุด
  • หลีกเลี่ยงการกินยาพร้อมนม ผลิตภัณฑ์จากนม ผลิตภัณฑ์ที่มีนมเป็นส่วนประกอบ วิตามินเสริมอาหาร ยาลดกรด หากจะกินควรเว้นเวลา 1-2 ชั่วโมงหลังกินยา
  • ยาบางชนิดมีข้อแนะนำในการใช้ยาเพิ่มเติม ควรอ่านฉลากยาให้เข้าใจอย่างละเอียดก่อน
  • หากมีข้อสงสัย ไม่ควรตัดสินใจเอง ควรปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา
  •  

    ทานอาหารเสริมอย่างไร ไม่ให้ตับอักเสบ-ติดเชื้อในกระแสเลือด

    ทานอาหารเสริมอย่างไร ไม่ให้ตับอักเสบ-ติดเชื้อในกระแสเลือด

    อันตราย จากอาหารเสริม ที่คิดว่าจะดีต่อร่างกาย แต่กลับกลายเป็นทำร้ายตัวเอง หากทานไม่ถูกต้อง แล้วต้องทานอาหารเสริมอย่างไร ไม่ให้ตับอักเสบ ติดเชื้อในกระแสเลือด

    ประโยชน์ต้นตีนเป็ด หรือ ต้นพญาสัตบรรณ ที่ดีต่อสุขภาพ

    ประโยชน์ต้นตีนเป็ด หรือ ต้นพญาสัตบรรณ ที่ดีต่อสุขภาพ

    ต้นตีนเป็ด เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ดอกเป็นช่อคล้ายดอกเข็ม และที่สำคัญคือส่งกลิ่นรุนแรง แต่มีสรรพคุณดีๆ ที่ช่วยรักษาอาการต่างๆ ถือเป็นสมุนไพรของไทย

    น้ำมันตับปลา VS น้ำมันปลา เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร?

    น้ำมันตับปลา VS น้ำมันปลา เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร?

    น้ำมันปลา และ น้ำมันตับปลา แม้จะมีชื่อคล้ายกัน แต่เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความแตกต่างอย่างมาก ทั้งในด้านแหล่งที่มา สารอาหารสำคัญ และประโยชน์ที่ร่างกายจะได้รับ โดยแต่ละชนิดมีข้อดีเฉพาะตัวที่เหมาะสำหรับกลุ่มผู้ใช้งานที่แตกต่างกัน