เนื้อหาในหมวด สุขภาพ

3 วิธีลดอาการเจ็บแน่นหูขณะโดยสารเครื่องบิน

3 วิธีลดอาการเจ็บแน่นหูขณะโดยสารเครื่องบิน

ใครที่เป็นหวัด คัดจมูก อาจเคยทรมานกับอาการเจ็บแน่นหูระหว่างโดยสารเครื่องบินกันมาแล้ว โดยเฉพาะระหว่างที่เครื่องบินกำลังพุ่งทะยานขึ้นจากพื้นดินลอยสู่อากาศบนฟ้า จู่ๆ ก็ต้องรีบเอามือยกขึ้นปิดหู เพราะรู้สึกเจ็บแน่นเหมือนภายในหูจะระเบิด และต้องทนกับอาการเจ็บแน่นหูต่อไปจนกว่าเครื่องจะรักษาระดับความสูงที่คงที่ไว้ได้ และร่างกายของเราปรับตัวได้เอง ซึ่งแน่นอนว่าใช้เวลาพอสมควร

ปัญหานี้ไม่ได้เป็นเรื่องที่น่ากังวลสำหรับผู้โดยสารเท่านั้น ลูกเรือที่อยู่บนเครื่องบิน ที่ต้องทำงานบนเครื่องบินบ่อยๆ ก็ประสบปัญหานี้เช่นกัน ความทรมานที่เกิดขึ้นรุนแรงถึงขั้นสายการบินออกกฎให้ลูกเรือทั้งหลายงดบินในขณะที่เป็นหวัดกันเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม เมื่อเราซื้อตั๋วเครื่องบินแล้ว จองที่พักแล้ว หรือแม้กระทั่งลูกเรือที่เป็นหวัดกะทันหันแต่เปลี่ยนแปลงตารางงานของตัวเองไม่ได้ จำเป็นจะต้องขึ้นเครื่องบินทั้งๆ ที่เป็นหวัดจริงๆ เรามีวิธีช่วยลดอาการเจ็บแน่นหูบนเครื่องบินมาฝากกัน

 

  • ทานยา

  • เป็นหวัด ไม่สบาย ก็ต้องทานยาถึงจะหาย อย่าปล่อยให้ร่างกายรักษาตัวเองเพียงอย่างเดียว โดยก่อนหน้าที่จะขึ้นเครื่องบิน ควรรีบทำให้อาการหวัดของตัวเองทุเลาลงให้มากที่สุด โดยเฉพาะการทานยาแก้หวัด ยาแก้แพ้ ลดอาการบวม ลดน้ำมูก หรือการใช้ยาพ่นจมูก แก้อาการภูมิแพ้ เป็นหวัด คัดจมูก ควรทานยาแก้แพ้ก่อนขึ้นเครื่องบินราว 30 นาที และจะออกฤทธิ์เต็มที่ใน 1 ชั่วโมง ยาพ่นจมูกก็ออกฤทธิ์ภายใน 1 ชั่วโมงเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ตัวยาแต่ละตัวอาจใช้เวลาในการออกฤทธิ์ไม่เท่ากัน แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาทุกครั้ง เพื่อหาวิธีทานที่เหมาะสม

     

  • อมลูกอม เคี้ยวหมากฝรั่ง

  • อีกหนึ่งแผนที่ปกติแล้วเอาไว้ใช้กับคนที่ไม่อยากมีอาการเจ็บแน่นหูระหว่างบิน แม้ว่าจะมีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงดี คือการอมลูกอม หรือเคี้ยวหมากฝรั่งขณะที่เครื่องบินกำลังขึ้นและลง (takeoff and landing) การอมลูกอมจะทำให้เราต้องกลืนน้ำลายบ่อยๆ การเคี้ยวหมากฝรั่งก็จะช่วยให้เราเคลื่อนไหวกราม และกลืนน้ำลายไปด้วย การกลืนน้ำลายจะช่วยปรับแรงดันในหูให้ดีมากยิ่งขึ้น ก็จะช่วยลดอาการเจ็บแน่นหูไปได้บ้างเล็กน้อย (สำหรับคนที่เป็นหวัด) และสามารถป้องกันได้มาก สำหรับคนที่มีสุขภาพดี

    *เคล็ดลับในการกลืนน้ำลาย อมลูกอม หรือเคี้ยวหมากฝรั่ง ให้เริ่มทำตั้งแต่ก่อนเครื่องจะเริ่มออกตัว กลืนน้ำลายไปเรื่อยๆ จนกว่าเครื่องบินจะบินขึ้นจากพื้น พุ่งทะยานสู่ฟากฟ้า และรักษาระดับความสูงได้คงที่ ทำจนกว่าสัญลักษณ์ไฟที่ให้ใส่เข็มขัดตลอดเวลาดับลง

    นอกจากนี้ การเอียงหูด้านที่มีอาการหูอื้อขึ้นด้านบน แล้วดึงหูเล็กน้อย หรือการอ้าปากหาว กลืนน้ำลายพร้อมปิดจมูก ก็ช่วยลดอาการหูอื้อได้เช่นกัน

     

  • เคลียร์อากาศออกจากหู

  • การเคลียร์อากาศออกจากหู หรือการทำ Valsalva maneuver คือการบังคับให้อากาศออกจากร่างกายด้วยการปิดปาก บีบจมูก แล้วพยายามหายใจออกทางจมูก อากาศจะพยายามหาทางออกโดยไปทางหูแทน วิธีนี้จะช่วยปรับความดันภายในหู อย่าลืมกลืนน้ำลายตามหลังทำด้วยทุกครั้ง จะช่วยให้ท่อ Eustachian Tube ที่หูชั้นกลางเปิดกว้างขึ้น ช่วยบรรเทาอาการหูอื้อได้

     

    อันตรายจากแรงดันอากาศที่อาจทำร้ายหูชั้นในได้

    นอกจากผู้ป่วยโรคหวัดแล้ว คนสุขภาพปกติก็อาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการบาดเจ็บภายในหูได้ หากเครื่องบินตกหลุมอากาศกะทันหัน หรือลดระดับความสูงลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้แรงดันในหูเป็นลบอย่างรวดเร็วตามไปด้วย อาจทำให้หูชั้นกลางมีอาการปวดมากกว่าปกติ หรือแก้วหูถูกกระชาก จนเลือดออกบนแก้วหูได้ หากมีอาการดังกล่าวควรรีบพบแพทย์เมื่อเดินทางถึงที่หมายทันที

     

    คำแนะนำด้านสุขภาพก่อนเดินทางโดยสารด้วยเครื่องบิน

    ในช่วง 1 เดือนก่อนเดินทางโดยสารด้วยเครื่องบิน ควรเอาใจใส่ดูแลรักษาร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ ดูแลมากกว่าปกติเป็นพิเศษ หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ชุมชนแออัด ตากฝน ที่อากาศชื้นและเย็น ใช้ช้อนกลางในการทานอาหารทุกครั้ง ถ้ามีวิตามินซีเสริมก็สามารถทานได้ แต่ถ้าเลือกได้ อยากให้ทานผักผลไม้ที่มีวิตามินซีสูงอย่าง ส้ม มะนาว สตรอว์เบอร์รี ฝรั่ง สดๆ ไปเลยมากกว่า และที่สำคัญ ควรพักผ่อนให้เพียงพอด้วย เพื่อเป็นการป้องกันหวัดตั้งแต่แรก หากป่วยหนักมากกว่าแค่หวัดธรรมดาๆ การเลื่อนไฟลท์ก็ยังเป็นตัวเลือกที่ทำได้ แม้ว่าจะเสียเวลา และอาจเสียเงินเพิ่มเล็กน้อย แต่สุดท้ายแล้วสุขภาพของเราสำคัญกว่ามาก  สามารถเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์ก่อนเดินทางเพื่อประกอบการตัดสินใจได้เช่นกัน

     

    >> วิธีแก้ปัญหา “หูอื้อ” เมื่อต้องโดยสารเครื่องบิน