.jpg)
แพทย์โรคหัวใจ เฉลยหมดเปลือก มื้อเช้าที่ "ดีที่สุด" กินอะไร-เวลาไหน ปรับระดับความดันได้!
ผู้เชี่ยวชาญแนะนำอาหารเช้าที่ดีที่สุดที่จะช่วยปรับระดับความดันโลหิต
ดร.ไมเคิล ทไวแมน ผู้เชี่ยวชาญด้านหัวใจจาก Apollo Cardiology ในเมืองเซนต์หลุยส์ สหราชอาณาจักร ได้เปิดเผยอาหาร3 ประเภทที่ควรทานเป็นอาหารเช้า หากต้องการควบคุมความดันโลหิตได้ดีขึ้น
โดยเริ่มจากสิ่งที่หลายคนมักจะทานเป็นอาหารเช้าอยู่แล้ว นั่นก็คือโปรตีน ซึ่งคุณหมออธิบายว่า “โปรตีนมีความสำคัญต่อการสังเคราะห์กล้ามเนื้อ ดังนั้นควรทานโปรตีนอย่างน้อย 30 กรัมในมื้อแรกของวัน” หากจะเปรียบเทียบคือ ไข่ 2 ฟอง โดยเฉลี่ยจะมีโปรตีนประมาณ 13 กรัม
การบริโภคโปรตีนมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อรับประทานควบคู่กับการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรง จะช่วยเพิ่มมวลกล้ามเนื้อ ซึ่งเกี่ยวข้องกับความเสี่ยงต่อความดันโลหิตสูงที่ลดลง อย่างไรก็ตาม ควรสังเกตว่าอาหารเช้าที่มีโปรตีนสูง เช่น ไข่เบคอน และไส้กรอกก็มีข้อเสียเช่นกัน
โดยเฉพาะไข่มีคอเลสเตอรอลอยู่พอสมควร อย่างไรก็ดี คุณหมอยืนยันว่าคอเลสเตอรอลจะไม่ขัดขวางความพยายามลดความดันโลหิต โดยเปิดเผยผ่านทาง Eating Well ระบุว่า “คอเลสเตอรอลจากอาหารไม่ได้ทำให้ระดับคอเลสเตอรอลในซีรั่มสูงขึ้น ดังนั้นอย่ากังวลเกี่ยวกับปริมาณคอเลสเตอรอลในไข่”
ประการที่สอง คุณหมอแนะนำให้เริ่มวันใหม่ด้วยไฟเบอร์ โดยหลักแล้วเพื่อหลีกเลี่ยงระดับน้ำตาลกลูโคสพุ่งสูงในช่วงเช้า ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาต่างๆ เช่น ภาวะดื้อต่ออินซูลิน ความอยากอาหาร และน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งส่งผลต่อความดันโลหิตในระยะยาวด้วย
การเริ่มต้นด้วยไฟเบอร์จะทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานช้าลงตลอดทั้งวัน และรักษาระดับกลูโคสให้สมดุล นอกจากนี้ ยังมีไฟเบอร์มากมายที่สามารถเลือกทานได้ในมื้อเช้า ตั้งแต่ซีเรียลธัญพืชไม่ขัดสี ไปจนถึงข้าวโอ๊ต และผลไม้
คุณหมอกล่าวต่อว่า “อาหารที่มีไนเตรตสูง เช่น ผักใบเขียวและหัวบีต จะทำให้ร่างกายได้รับสารประกอบที่ช่วยผลิตไนตริกออกไซด์” ส่วนประกอบสำคัญนี้จะช่วยลดความดันโลหิต และต่อสู้กับการเกิดความดันโลหิตสูงโดยตรง
แม้ว่าจะไม่ใช่อาหารเช้าที่รับประทานกันโดยทั่วไป แต่คุณหมอก็แนะนำให้ใส่ผักโขมลงในไข่คน หรือเติมเครื่องเคียงอย่างเช่นโหระพาและผักชีฝรั่งก็ช่วยได้เช่นกัน โดยไม่ทำให้แผนอาหารเช้าของคุณเปลี่ยนไปมากเกินไป พร้อมเน้นย้ำว่าอาหารเช้าที่มีผักใบเขียวอาจเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับหัวใจของคุณ
เคล็ดลับสุดท้ายของ ดร.ทไวแมน ในการทำให้มื้อเช้ามีประโยชน์ต่อหัวใจมากขึ้น คือพยายามทำให้มื้อเช้าเป็นมื้อใหญ่ที่สุดของวัน
นอกจากนี้ คุณหมอยังแนะนำให้ทานอาหารเช้าภายใน 1 ชั่วโมงหลังพระอาทิตย์ขึ้น เนื่องจากการกำหนดเวลามื้ออาหารให้สอดคล้องกับวงจรการนอนหลับ และกระบวนการทางธรรมชาติอื่นๆ ในร่างกาย ก็มีความสำคัญในการรักษาระดับความดันโลหิตเช่นเดียวกับการรับประทานอาหารจริงของคุณ
ความดันโลหิตสูงมักถูกขนานนามว่าเป็น "โรคร้ายเงียบ" เนื่องจากเป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับหนึ่งที่ทำให้คนทั่วโลกเสียชีวิต โดยมีผู้ป่วยมากกว่าพันล้านคน ซึ่งอาจทำให้เกิดโรคที่ถึงแก่ชีวิตได้ เช่น โรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง อย่างไรก็ตามเนื่องจากโรคนี้ไม่มีอาการใดๆ เลย หลายคนอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองเป็นความดันโลหิตสูง จนกระทั่งเกิดโศกนาฏกรรมขึ้น
- เปิดสูตรมื้อเช้าของ ดร.ชิน ผู้เชี่ยวชาญอัลไซเมอร์ อร่อยและดีต่อสมอง คนไทยก็กินตามได้!
- ทีวียังไปถ่าย "หมู่บ้านไร้มะเร็ง" สัมภาษณ์จนรู้เคล็ดลับ แค่กิน 1 สิ่ง สุขภาพดีแถมอายุยืน