.jpg)
หลานชายวัย 2 ขวบ เสียชีวิตสลด ยายทรุดร้องไห้โฮ ต้นเหตุจาก "ขนม" ที่ยื่นให้กิน
หลานชายวัย 2 ขวบ เสียชีวิต หลังกินขนมชนิดหนึ่ง ยายทรุดลงร้องไห้ทันที เมื่อได้ฟังคำอธิบายจากแพทย์
ไม่นานมานี้ ดร.เยี่ยะ ถิง หัวหน้าแผนกไอซียู โรงพยาบาลเด็กมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์เจ้อเจียง ประเทศจีน ได้เล่าถึงเคสของเด็กชายวัย 2 ขวบที่เขาเคยรักษา
เด็กชายถูกคุณยายพาส่งโรงพยาบาลในสภาพตัวเขียวและหมดสติ จากคำบอกเล่าของยาย ก่อนเกิดเหตุเธอได้ให้หลานกินขนมชีสแท่งหนึบ เด็กชายชอบมากจึงรีบกิน และเกิดอาการสำลัก
ชิ้นชีสหนึบติดค้างในหลอดลม ทำให้เด็กหายใจไม่ออก ยายพยายามช่วยเหลือด้วยการทำ Heimlich Maneuver เพื่อดันสิ่งแปลกปลอมออกจากทางเดินหายใจ แต่ไม่สำเร็จ
เธอรีบโทรแจ้งรถพยาบาลและพาหลานส่งโรงพยาบาล แต่เมื่อมาถึง เด็กชายตัวเขียวหมดสติและไม่มีปฏิกิริยาตอบสนอง
แพทย์สามารถนำสิ่งอุดตันออกได้ แต่เด็กยังคงอยู่ในภาวะวิกฤตและต้องเข้าห้องไอซียู คุณยายเฝ้ารอด้วยความหวังตลอดทั้งคืน อย่างไรก็ตาม เช้าวันรุ่งขึ้น เด็กชายได้จากไปอย่างไม่มีวันหวนคืน
ดร.เยี่ยะ ถิง อธิบายว่า เด็กชายขาดอากาศหายใจเป็นเวลานาน ทำให้สมองขาดออกซิเจนและได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง
"การขาดอากาศจากสิ่งแปลกปลอมอุดกั้นทางเดินหายใจเป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่พบบ่อยในหอผู้ป่วยวิกฤตของเรา อาหารที่มีลักษณะกลม ลื่น หนึบ หรือเหนียว เช่น ครีมชีสแท่ง วุ้น องุ่น รวมถึงถั่วและเมล็ดต่างๆ มีโอกาสสูงที่จะไหลเข้าสู่หลอดลมและทำให้เกิดภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจ" ดร.เยี่ยะ ถิง กล่าว
เมื่อได้ยินข่าวการเสียชีวิตของหลานและคำอธิบายจากแพทย์ คุณยายถึงกับทรุดลงร้องไห้ เธอเสียใจอย่างสุดซึ้งที่ให้หลานกินขนมชีสแท่งหนึบจนทำให้เกิดโศกนาฏกรรม
"ตอนนั้น ผมอยากบอกคุณยายเหลือเกินว่าเด็กปลอดภัยแล้ว... แต่ปาฏิหาริย์ไม่เกิดขึ้น" ดร.เยี่ยะ ถิง กล่าวด้วยความเศร้า
ดร.เยี่ยะ ถิง ระบุว่า กรณีเด็กเสียชีวิตจากการสำลักสิ่งแปลกปลอมจนขาดอากาศหายใจไม่ใช่เรื่องแปลก ล่าสุด เมื่อวันที่ 28 มีนาคม สื่อจีนรายงานเหตุสลดที่มณฑลเจียงซู เด็กชายวัย 2 ขวบเสียชีวิตหลังรับประทานขนมชีสแท่งหนึบ
แม้แม่ของเด็กจะพยายามทำ Heimlich Maneuver เพื่อช่วยชีวิต แต่ไม่สำเร็จ เด็กชายจากไปทันทีหลังถูกนำส่งโรงพยาบาล
คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ
ดร.เยี่ยะ ถิง เตือนว่า ผู้ปกครองควรระมัดระวังเป็นพิเศษเมื่อต้องให้เด็กอายุต่ำกว่า 4 ปีรับประทานขนมชีสแท่ง วุ้น ถั่ว หรือผลไม้ที่มีลักษณะกลมและลื่น เนื่องจากหลอดลมของเด็กยังเล็ก และกลไกการเคี้ยวกลืนยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ ทำให้มีความเสี่ยงสำลักได้ง่าย
หากต้องการให้เด็กกินอาหารประเภทนี้ ควรหั่นเป็นชิ้นเล็กและป้อนทีละคำ เพื่อลดความเสี่ยงและป้องกันโศกนาฏกรรมเช่นกรณีที่ผ่านมา