.jpg)
ที่ไหน-อย่างไร? เผยขั้นตอนฝังศพ "โป๊ป" สู่การเลือกองค์ใหม่ใน "คองเคลฟ" ลับแห่งวาติกัน
เปิดม่านพิธีเลือกพระสันตะปาปาองค์ใหม่ ขั้นตอนลับระดับโลกจากการสิ้นพระชนม์ ถึงควันขาวแห่งการประกาศประมุก
การเลือกพระสันตะปาปาองค์ใหม่ เป็นกระบวนการที่เก่าแก่และเคร่งครัดของศาสนจักรคาทอลิก ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ในกรณีเมื่อพระสันตะปาปาสิ้นพระชนม์ หรือทรงลาออกเท่านั้น เนื่องจากตำแหน่งพระสันตะปาปานั้น ถือเป็นตำแหน่งตลอดพระชนมชีพตามธรรมเนียมดั้งเดิม การปลดพระสันตะปาปาออกจากตำแหน่งจึงไม่สามารถกระทำได้ตามกฎหมายศาสนจักร
จะเกิดอะไรขึ้น หลังจากพระสันตะปาปาสิ้นพระชนม์?
ในยุคปัจจุบัน การยืนยันการสิ้นพระชนม์จะต้องได้รับการรับรองโดยแพทย์ แต่ผู้เดียวที่มีอำนาจเริ่มต้นพิธีกรรมหลังการสิ้นพระชนม์ได้คือ “คาร์เมอลังโก” (Camerlengo) หรือเจ้ากรมการคลังวาติกัน ซึ่งปัจจุบันคือ พระคาร์ดินัลเควิน ฟาร์เรลล์ (Cardinal Kevin Farrell) ผู้ดำรงตำแหน่งมาตั้งแต่ปี 2019 เขาจะทำตามคู่มือพิธีศพของพระสันตะปาปาซึ่งมีความยาวกว่า 400 หน้า
ขั้นตอนแรก คาร์เมอลังโกจะเรียกพระนามบัพติศมาของพระสันตะปาปาสามครั้ง (เช่น ฮอร์เค มาริโอ เบร์โกโญ สำหรับสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส) เพื่อยืนยันว่าพระองค์สิ้นพระชนม์จริง ไม่ใช่เพียงแค่หลับ จากนั้นจึงประกาศการสิ้นพระชนม์อย่างเป็นทางการ เรื่องเล่าที่ว่า ต้องใช้ค้อนเคาะศีรษะพระสันตะปาปาเพื่อยืนยันการสิ้นพระชนม์นั้น เป็นเพียงตำนานที่ไม่มีมูลความจริง มีต้นกำเนิดจากยุคศตวรรษที่ 19 และอาจเกิดจากความกลัวการฝังคนที่ยังไม่ตาย
พิธีกรรมต่อไปคือ การทำลาย “แหวนชาวประมง” ซึ่งเดิมมีไว้ประทับตราเอกสารทางการของพระสันตะปาปา การทำลายแหวนนี้จึงเพื่อป้องกันการปลอมแปลง แม้ปัจจุบันจะเป็นเพียงพิธีเชิงสัญลักษณ์ แต่ก็ถือเป็นสัญญาณการสิ้นสุดอำนาจของพระสันตะปาปาองค์นั้นๆ
ห้องชุดพระสันตะปาปาจะถูกปิดผนึก เพื่อป้องกันการลักขโมยทรัพย์สินตามธรรมเนียมโบราณ และกระดิ่งแห่งมหาวิหารนักบุญเปโตรจะดังกี่ครั้งตามจำนวนปีที่พระสันตะปาปามีพระชนมายุ เช่น เมื่อปี 2005 ที่สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 สิ้นพระชนม์ กระดิ่งก็ดัง 84 ครั้ง
เมื่อพระสันตะปาปาสิ้นพระชนม์ ศาสนจักรจะเข้าสู่ช่วงเวลา “เซเด วากันเต” (Sede Vacante) หรือช่วงที่บัลลังก์นักบุญเปโตรว่างเปล่า ซึ่งการบริหารศาสนจักรจะตกเป็นหน้าที่ของคณะพระคาร์ดินัล แต่จะไม่มีการตัดสินใจสำคัญใด ๆ จนกว่าจะได้พระสันตะปาปาองค์ใหม่
พระสันตะปาปาถูกฝังอย่างไรและที่ใด?
หลังการสิ้นพระชนม์ของพระสันตะปาปา จะมีช่วงเวลาไว้อาลัยอย่างเป็นทางการเป็นเวลา 9 วัน เรียกว่า “โนเวนดิอาเล” (Novendiale) อย่างไรก็ตาม พิธีศพของพระสันตะปาปามักจัดขึ้นภายใน 4 ถึง 6 วันหลังจากการสิ้นพระชนม์ โดยจะมี พระคาร์ดินัลดีนแห่งคณะพระคาร์ดินัล เป็นผู้ประกอบพิธีมิสซาศพ ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งโดย พระคาร์ดินัลโจวานนี บาทติสตา เร (Cardinal Giovanni Battista Re)
ก่อนวันประกอบพิธีศพ พระศพของพระสันตะปาปาจะถูกตั้งให้สาธารณชนเคารพบนแท่น (catafalque) ภายในมหาวิหารนักบุญเปโตร เพื่อให้ผู้ศรัทธาได้แสดงความไว้อาลัย
ตามธรรมเนียมดั้งเดิม พระสันตะปาปาจะถูกฝังในโลงศพ 3 ชั้น ได้แก่
-
โลงชั้นแรกทำจากไม้ไซเปรส
-
โลงชั้นที่สองทำจากโลหะ เช่น สังกะสีหรือสารตะกั่ว
-
โลงชั้นสุดท้ายทำจากไม้โอ๊ก เอล์มหรือวอลนัต
โดยภายในโลงจะบรรจุเหรียญที่ผลิตขึ้นในช่วงสมัยดำรงตำแหน่ง และกระบอกโลหะที่บรรจุม้วนกระดาษซึ่งเรียกว่า “โรจิโต” (Rogito) — เอกสารประมาณ 1,000 คำที่สรุปพระชนม์ชีพและพระราชกิจของพระองค์
แม้ว่าพระสันตะปาปาบางองค์จะถูกฝังในสถานที่อื่น แต่ธรรมเนียมที่ถือปฏิบัติมาหลายร้อยปี คือ การฝังพระศพไว้ภายในห้องใต้ดินของมหาวิหารนักบุญเปโตร (St. Peter's Basilica)
"โป๊ปฟรานซิส" เตรียมเปลี่ยนแปลงพิธีศพ โฟกัสความเรียบง่ายมากขึ้น
อย่างไรกก็ตาม แม้ว่าเมื่อสมเด็จพระสันตะปาปาสิ้นพระชนม์ พิธีศพตามธรรมเนียมปฏิบัติมักจะเป็นไปอย่างยิ่งใหญ่และซับซ้อน แต่สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสท ทรงมีพระประสงค์ขอให้เปลี่ยนแปลงพิธีกรรมนี้ ให้ลดความซับซ้อนของขั้นตอนต่างๆ และเน้นความเรียบง่ายมากยิ่งขึ้น ทรงเลือกที่จะใช้โลงไม้ธรรมดาเพียงชั้นเดียว ซึ่งบุด้วยสังกะสีด้านในเพื่อความคงทน
นอกจากนี้ ยังได้มีการยกเลิกธรรมเนียมการวางพระศพไว้บนแท่นยกสูง หรือที่เรียกว่า “คาทาฟอล์ก” ภายในมหาวิหารนักบุญเปโตร เพื่อให้ประชาชนเข้าแสดงความเคารพ ซึ่งเป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันมาอย่างยาวนาน แทนที่พิธีดังกล่าว ประชาชนจะสามารถแสดงความอาลัยต่อพระสันตะปาปาได้ในขณะที่พระศพยังคงอยู่ภายในโลง โดยมีการเปิดฝาโลงให้เห็นพระพักตร์อย่างเรียบง่ายและเป็นกันเอง
อีกหนึ่งความเปลี่ยนแปลงสำคัญคือ การฝังพระศพนอกนครรัฐวาติกัน ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในรอบกว่าร้อยปี โดยสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสจะถูกฝังที่มหาวิหารซานตามาเรียมัจโจเร (St. Mary Major) ซึ่งเป็นหนึ่งในสี่มหาวิหารหลักของกรุงโรม เพื่อแสดงความเคารพต่อพระแม่มารี ซึ่งเป็นที่ประทับใจของพระองค์ตลอดการดำรงตำแหน่ง
การตัดสินใจเหล่านี้สะท้อนถึงแนวทางการดำเนินชีวิตของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ที่ยึดถือความสมถะ เรียบง่าย และใกล้ชิดประชาชนเป็นหัวใจสำคัญตลอดการดำรงตำแหน่งของพระองค์
กระบวนการเลือกพระสันตะปาปา (Conclave)
หลังเสร็จสิ้นพิธีศพ คณะพระคาร์ดินัลจากทั่วโลกจะรวมตัวกันที่กรุงโรมเพื่อเตรียมเข้าสู่ “คองเคลฟ” (Conclave) หรือการประชุมลับเพื่อเลือกพระสันตะปาปาองค์ใหม่
ปัจจุบันมีพระคาร์ดินัลทั้งหมด 252 รูป โดย 138 รูปมีสิทธิออกเสียงเลือกพระสันตะปาปา พวกเขาจะมีการประชุมเบื้องต้นเพื่ออภิปรายสถานการณ์ของศาสนจักรและคุณสมบัติของพระสันตะปาปาองค์ใหม่ และเป็นช่วงที่มีการจับตามองว่าพระคาร์ดินัลองค์ใดอาจกลายเป็น “ปาปาบิเล” (Papabile) หรือผู้ที่มีศักยภาพจะเป็นพระสันตะปาปาองค์ต่อไป
ภายในโบสถ์น้อยซิสทีนจะมีการปิดไม่ให้สาธารณชนเข้า สร้างพื้นใหม่เพื่อรองรับโต๊ะประชุม และติดตั้งเตาเผาบัตรลงคะแนนสองเตา พร้อมปล่องไฟทองแดงที่ปล่อยควันดำ (ยังไม่เลือกได้) หรือควันขาว (เลือกได้แล้ว) ซึ่งจะปรากฏให้เห็นจากจัตุรัสนักบุญเปโตร ก่อนการเริ่มประชุมจะมีการตรวจสอบความปลอดภัย ตรวจหากล้องหรืออุปกรณ์ดักฟังอย่างเคร่งครัด
ส่วนคำถามที่ว่า การเลือกตั้งจะใช้เวลานานเท่าใด? ไม่มีระยะเวลาที่แน่นอนสำหรับการเลือกพระสันตะปาปา ผู้ที่ได้รับเลือกต้องได้รับเสียงอย่างน้อย 2 ใน 3 ของคณะเลือกตั้ง และการลงคะแนนจะดำเนินต่อไปจนกว่าจะได้ผลลัพธ์ หากการลงคะแนนเกิน 34 รอบโดยไม่มีผลสรุป การลงคะแนนจะจำกัดเหลือเพียง 2 รายชื่อสุดท้าย
โดยในการเลือกสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสเมื่อปี 2013 ใช้เวลาเพียง 24 ชั่วโมงกับ 5 รอบการลงคะแนน ส่วนที่นานที่สุดเคยใช้เวลาถึงเกือบ 3 ปีเลยทีเดียว
- ด่วน! "โป๊ปฟรานซิส" สิ้นพระชนม์แล้ว สื่อย้อนประโยคที่ทรงตรัส ในการปรากฎตัวครั้งสุดท้าย
- สะพรึง หนังสือลับวาติกัน ทำนายถึง "วันสิ้นโลก" ระบุชัดจะเกิดใน ค.ศ.เท่าไหร่ อีกแค่ไม่กี่ปี!