.jpg)
ทำไมหน้าห้องน้ำจึงมักมีคิวยาว? งานวิจัยชี้ คนยุคใหม่เข้านาน เฉลยสาเหตุที่แท้จริง
ทำไมหน้าห้องน้ำจึงมักมีคิวยาว? งานวิจัยเผย คนยุคใหม่ใช้เวลานานกว่าสมัยก่อน พร้อมเฉลยสาเหตุที่แท้จริง
คนยุคใหม่มีแนวโน้มใช้เวลาห้องน้ำนานขึ้น จนทำให้ห้องน้ำหลายแห่งมีคิวยาวเหยียด สื่อญี่ปุ่น AERA Digital รายงานว่า ปัญหานี้ไม่ได้เกิดเฉพาะในห้องน้ำหญิงเท่านั้น แต่ห้องน้ำชายก็เริ่มมีคิวยาวเช่นกัน AERA ระบุว่า ห้องน้ำกลายเป็นพื้นที่ส่วนตัวของใครหลายคน โดยเฉพาะคนที่ชอบเล่นมือถือระหว่างทำธุระ บางคนถึงขั้นใช้ห้องน้ำในที่ทำงานเป็นที่พักผ่อนเพื่อเล่นมือถือโดยเฉพาะเลยทีเดียว
ประเด็นนี้กลายเป็นที่ถกเถียงอย่างกว้างขวางในสื่อสังคมออนไลน์ของญี่ปุ่น โดยมีผู้หญิงบางคนบอกว่า นอกจากจะเล่นมือถือขณะเข้าห้องน้ำแล้ว ยังใช้เวลาแต่งหน้าเพิ่มเติมด้วย
ขณะที่พนักงานออฟฟิศชายคนหนึ่งเผยว่า ช่วงพักเดียวระหว่างงานคือการเข้าห้องน้ำ จึงชอบใช้เวลาส่วนตัวเงียบ ๆ ที่นั่น
นอกจากนี้ ยังมีนักเรียนที่ทำงานพาร์ตไทม์ในห้างหรือร้านอาหารเล่าว่า เพราะไม่มีที่ให้พักผ่อน จึงต้องแอบเข้าไปกินข้าวกลางวันหรือเย็นในห้องน้ำอยู่บ่อยครั้ง
เรย์โฮะ ฮาราดะ ผู้เชี่ยวชาญที่ศึกษาพฤติกรรมการใช้ห้องน้ำ ระบุว่า ห้องน้ำในสถานที่ต่าง ๆ เช่น ห้างสรรพสินค้า อาคารสำนักงาน และสถานีรถไฟในปัจจุบัน ไม่ได้มีไว้เพียงเพื่อขับถ่ายเท่านั้น แต่ยังถูกออกแบบให้เป็นพื้นที่สำหรับพักผ่อนและผ่อนคลาย ส่งผลให้คนยุคใหม่ใช้เวลานานขึ้นในการอยู่ในห้องน้ำ
ฮาราดะ กล่าวว่า “หลายคนให้ข้อมูลว่า ตอนนี้เวลาเฉลี่ยที่ใช้ในห้องน้ำส่วนตัวเพิ่มขึ้นเป็นราว 5 นาที ห้องน้ำสมัยใหม่ถูกออกแบบให้สะดวกสบายและครบครันมากขึ้น ทำให้ผู้คนรู้สึกผ่อนคลายขณะใช้งาน อีกทั้งพฤติกรรมการใช้สมาร์ตโฟนในห้องน้ำก็เปลี่ยนไปจากเดิมด้วย”
บริษัทผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต NordVPN เคยสำรวจพบว่า ราว 68% ของชาวญี่ปุ่นใช้มือถือขณะเข้าห้องน้ำ โดยในกลุ่มวัยรุ่นและคนอายุยี่สิบต้น ๆ แอปที่นิยมมากที่สุดคือ Instagram รองลงมาคือ TikTok ส่วนในกลุ่มวัยสามสิบถึงสี่สิบ แอปที่ใช้บ่อยที่สุดคือ LINE และสำหรับทุกช่วงวัย แพลตฟอร์มที่ใช้เวลานานที่สุดในห้องน้ำคือ YouTube
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา กระแสวิดีโอสั้นได้รับความนิยม แม้แต่ละคลิปจะใช้เวลาไม่นาน แต่การดูต่อเนื่องทีละคลิปกลับทำให้คนใช้เวลานานขึ้นในห้องน้ำ เรย์โฮะ ฮาราดะ แนะนำว่า นอกจากการเพิ่มจำนวนห้องน้ำให้เพียงพอแล้ว การกระจายการใช้งานในพื้นที่ต่าง ๆ อย่างสมดุล และการเพิ่มอัตราการหมุนเวียนของผู้ใช้ ก็เป็นสิ่งสำคัญในการแก้ปัญหาความแออัดในห้องน้ำเช่นกัน