(2).jpg)
งานวิจัยฮาร์วาร์ดเตือน หากลูกเริ่มชอบ 3 สีนี้อย่างผิดปกติ ผปค.ควรจับตา-หาทางรับมือ
งานวิจัยฮาร์วาร์ดเตือน หากลูกเริ่มชอบ 3 สีนี้อย่างผิดปกติ พ่อแม่ควรสังเกตพฤติกรรมและรีบหาทางรับมืออย่างเหมาะสม
ความชอบในสีสันสามารถสะท้อนสภาพจิตใจของบุคคลได้อย่างแท้จริง
นักวิทยาศาสตร์พบว่า มากกว่า 80% ของข้อมูลที่สมองมนุษย์รับรู้จากสิ่งแวดล้อมรอบตัว มาจากการมองเห็น สีสันที่ผ่านเข้าสู่ดวงตาจะกระตุ้นเส้นประสาทในสมอง ก่อให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกต่าง ๆ และกลายเป็น “ภาษาที่มองไม่เห็น” ซึ่งสะท้อนสภาพจิตใจของคนเรา
ในปี 2016 มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดร่วมกับมหาวิทยาลัยเวอร์มอนต์ ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับผู้ใช้งาน Instagram โดยติดตามกลุ่มตัวอย่าง 166 คน ซึ่งรวมถึงผู้ป่วยโรคซึมเศร้าและคนทั่วไป พร้อมวิเคราะห์รูปภาพทั้งหมด 43,950 ภาพที่พวกเขาโพสต์
ผลการวิจัยพบว่า ผู้ที่มีภาวะซึมเศร้ามักชอบใช้ฟิลเตอร์โทนเย็นหรือมืด เช่น สีฟ้า สีเทา และมักหลีกเลี่ยงการโพสต์ภาพเซลฟี่หรือภาพที่แสดงความสนุกสนาน ในทางกลับกัน คนที่มีสุขภาพจิตดีจะนิยมใช้ฟิลเตอร์โทนอุ่นมากกว่า
ที่น่าสนใจคือ จากข้อมูลเหล่านี้ แบบจำลองวิเคราะห์ของทีมวิจัยสามารถทำนายแนวโน้มการเป็นโรคซึมเศร้าได้แม่นยำถึง 70% และสามารถตรวจพบอาการล่วงหน้าก่อนจะได้รับการวินิจฉัยอย่างเป็นทางการด้วยซ้ำ
สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่า "ความชอบในสีสัน" สามารถบ่งบอกสภาพจิตใจได้จริง หากวันหนึ่งเด็กเริ่มชื่นชอบสีต่อไปนี้อย่างผิดปกติ พ่อแม่ควรสังเกตพฤติกรรมของลูกอย่างใกล้ชิด
1. สีเทา สื่อถึงความสับสน มองโลกในแง่ลบ และความไม่มั่นใจในตัวเอง
ในแวดวงแฟชั่นและการออกแบบ สีเทาเป็นสีโทนกลางที่เรียบหรู ดูสุภาพ และนิยมใช้ในสไตล์มินิมอลหรือนอร์ดิก เพราะให้ความรู้สึกนิ่ง สงบ และคลาสสิก
แต่ในเด็กเล็ก การชื่นชอบสีเทาเกินปกติอาจไม่ได้หมายถึงรสนิยมทางศิลปะ หากแต่อาจสะท้อนสภาพอารมณ์ที่กำลังสับสนหรือกดดันทางจิตใจ เพราะในทางจิตวิทยา สีเทาเป็นสีที่ไม่มีทิศทางทางอารมณ์ชัดเจน มักกระตุ้นความรู้สึกหม่นหมอง หนักอึ้ง และเชื่อมโยงกับอารมณ์ด้านลบ
เด็กที่ชอบสีเทาอย่างผิดปกติมักอยู่ใน 3 กลุ่มนี้
- กลุ่มที่ 1 : มีความรู้สึกสับสนในจิตใจ ไม่แน่ใจในอนาคต ขาดเป้าหมายหรือทิศทางที่ชัดเจน
- กลุ่มที่ 2 : มีแนวโน้มมองโลกในแง่ลบ จิตใจหดหู่ ไม่กระตือรือร้น และรู้สึกเบื่อหน่ายง่าย
- กลุ่มที่ 3 : ขาดความมั่นใจ ไม่กล้าเปิดเผยความรู้สึก ไม่ชอบเล่าเรื่องของตัวเอง และมักปิดกั้นตัวเองเมื่อเจอปัญหา
หากนอกจากการชอบสีเทา เด็กยังแสดงอาการอื่นร่วมด้วย เช่น เศร้าซึม ขาดความสนใจในสิ่งรอบตัว พ่อแม่ควรใส่ใจเป็นพิเศษและอาจต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาเด็ก
2. สีฟ้า บ่งบอกความเศร้า ความรู้สึกสิ้นหวัง
โดยทั่วไป เด็กผู้ชายมักชอบสีฟ้าเป็นพิเศษตั้งแต่ยังเล็ก แต่ในอีกแง่มุมหนึ่ง สีฟ้ากลับเกี่ยวข้องกับอารมณ์หม่นหมองและการครุ่นคิดเงียบ ๆ
งานวิจัยด้านจิตวิทยาสีระบุว่า สีฟ้าสามารถกระตุ้นสมองส่วนที่ควบคุมอารมณ์ ทำให้รู้สึกเงียบเหงา คิดมาก และมีแนวโน้มตกอยู่ในภาวะเศร้าใจ ในโลกศิลปะก็มีการใช้สีฟ้าเพื่อสื่อถึงความโดดเดี่ยวหรือโศกเศร้า เช่น ภาพวาด Starry Night ของแวนโก๊ะ ที่ใช้โทนฟ้าน้ำเงินเข้มสะท้อนสภาพจิตใจที่ปั่นป่วน หรือในภาพยนตร์เรื่อง Autumn in My Heart ที่ใช้โทนสีฟ้าเป็นพื้นหลังของเรื่องราวอันแสนเศร้า
เด็กที่ชอบสีฟ้ามักเป็นเด็กเงียบขรึม อ่อนไหว และชอบความสงบ แต่หากลูกเคยชอบสีสดใสแล้วเปลี่ยนไปหลงใหลสีฟ้าเข้มเป็นพิเศษ หลีกเลี่ยงสีสว่างทั้งหมด พ่อแม่ไม่ควรมองข้าม เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณว่าลูกกำลังรู้สึกโดดเดี่ยว เผชิญความกดดัน หรือมีปัญหาในการเข้าสังคม
3. สีดำ สื่อถึงความโดดเดี่ยว และความต้องการให้คนใส่ใจ
ในวัฒนธรรมตะวันตก สีดำมักเกี่ยวข้องกับงานศพหรือการสูญเสีย ส่วนในวัฒนธรรมตะวันออก สีดำมีความหมายลึกซึ้ง สื่อถึงอำนาจและความหนักแน่น แต่ไม่ว่าในวัฒนธรรมใด สีดำซึ่งเป็นสีที่ดูดซับแสงทั้งหมด มักสร้างบรรยากาศเคร่งเครียด หนักอึ้ง
มีงานวิจัยชี้ว่า เมื่อคนอยู่ในห้องสีดำ อารมณ์ด้านลบ เช่น ความวิตกหรือซึมเศร้า จะเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน กลุ่มทดลองที่นั่งในห้องมืดรายงานว่ารู้สึกเครียดและหดหู่มากกว่าผู้ที่นั่งในห้องสีขาว
ในการศึกษาทางคลินิกยังพบว่า ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามักเลือกใช้สีดำในของใช้ส่วนตัว ซึ่งสะท้อนความรู้สึกถูกครอบงำด้วยอารมณ์ด้านลบ
หากเด็กเริ่มแสดงความชอบสีดำมากผิดปกติ อาจเป็นสัญญาณว่าเขากำลังรู้สึกโดดเดี่ยว ควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ยาก และต้องการให้ผู้ใหญ่รับรู้ เข้าใจ และเอาใจใส่เขามากขึ้น
แล้วถ้าเด็กชอบ 3 สีนี้ แปลว่ากำลังเป็นโรคซึมเศร้าแน่ๆ หรือเปล่า?
คำตอบคือ ไม่ใช่เสมอไป เด็กที่ชอบสีฟ้า สีเทา หรือสีดำ ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นโรคซึมเศร้าแน่นอน ความชอบเรื่องสีเป็นเพียง “สัญญาณเบื้องต้น” อย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้เป็นเกณฑ์วินิจฉัยทางจิตใจได้โดยลำพัง
พ่อแม่ควรสังเกตพฤติกรรมโดยรวมของลูกเพิ่มเติม เช่น ท่าทีทางอารมณ์ การเข้าสังคม ความสัมพันธ์กับเพื่อน และพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เพื่อเข้าใจโลกภายในของลูกให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น หากเห็นลูกเปลี่ยนไปชอบสีเหล่านี้อย่างสุดโต่ง หรือจมอยู่กับสีเหล่านี้เป็นเวลานาน ควรให้ความสนใจมากขึ้น และถ้าจำเป็นก็ควรหาทางช่วยให้ลูกคลายความกังวลหรือปัญหาภายในใจ