เนื้อหาในหมวด ข่าว

เตือนทั่วโลก \

เตือนทั่วโลก "อาหารกระป๋อง" เสี่ยงพิษร้ายถึงอัมพาต-เสียชีวิต หากพบ 4 ร่องรอยนี้ อย่าซื้อ!!!

 อาหารกระป๋องอันตราย! ผู้เชี่ยวชาญเตือน “ห้ามซื้อ” หากมีกระป๋องลักษณะนี้ เสี่ยงพิษโบทูลิซึมร้ายแรงถึงชีวิต

ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขอนามัยในอังกฤษออกโรงเตือนผู้บริโภคทั่วโลก ให้ระวังการเลือกซื้ออาหารกระป๋อง โดยเฉพาะถ้ามี “รอยบุบลึก สนิม หรือบวมโป่ง” เพราะอาจมีเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิด "โบทูลิซึม" (Botulism) ซึ่งอันตรายถึงชีวิต

เว็บไซต์ Daily Mail รายงานว่า พอล แจ็กสัน (Paul Jackson) ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขอนามัย ได้ออกมาแนะนำให้ผู้บริโภคตรวจสอบสภาพของกระป๋องก่อนซื้อ โดยเฉพาะกระป๋องที่มีรอยบุบลึก ซึ่งอาจเกิดรอยรั่วขนาดเล็กจนแบคทีเรียเล็ดลอดเข้าไปได้ แม้ตัวแบคทีเรียจะไม่เป็นอันตรายหากอยู่ในสภาพปกติ แต่เมื่อติดอยู่ในกระป๋องที่ปิดสนิท และขาดออกซิเจน มันสามารถผลิตสารพิษรุนแรงที่ทำให้เกิดโรคร้ายแรงอย่าง "โบทูลิซึม" ได้ ซึ่งส่งผลให้เกิดอัมพาตทั้งตัว และในบางกรณีอาจเสียชีวิตได้

หนึ่งในเคสตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริงคือ "คลาวเดีย เด อัลบูเคอร์เก เซลลาดา" หญิงสาววัย 23 ปี ที่ตกอยู่ในภาวะวิกฤตหลังรับประทานซุปกระป๋องในปี 2023 ขณะเดียวกัน ดอราลิส กอส ก็ต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลนานกว่า 1 ปี หลังเกิดอัมพาตจากการรับประทานอาหารกระป๋องที่ปนเปื้อน

โบทูลิซึมคืออะไร?

ตามข้อมูลจากโรงพยาบาลอาซาน ในกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ระบุว่า โบทูลิซึมเป็นโรคระบบประสาทที่เกิดจากสารพิษที่ผลิตโดยแบคทีเรีย Clostridium botulinum ซึ่งเป็นหนึ่งในสารพิษที่ร้ายแรงที่สุดที่มนุษย์รู้จัก โดยมีอัตราการเสียชีวิตมากกว่า 30% หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาการของโรคนี้รวมถึง หนังตาตก กล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรง พูดไม่ชัด หายใจลำบาก คลื่นไส้ และอาเจียน หากลุกลามอาจกระทบต่อระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้เกิดอัมพาตทั้งตัวได้

สิ่งที่ต้องเลี่ยงเมื่อซื้ออาหารกระป๋อง

ในเรื่องนี้ แจ็กสัน เน้นว่าหากพบกระป๋องอาหารมีลักษณะดังต่อไปนี้ ควรหลีกเลี่ยงทันที:

  • มีรอยบุบลึกหรือผิดรูป

  • มีสนิม แม้เพียงเล็กน้อย

  • บวมโป่งผิดปกติ (แสดงว่ามีแก๊สสะสมจากแบคทีเรีย)

  • มีของเหลวรั่วซึม หรือมีกลิ่นเหม็นเมื่อเปิดกระป๋อง

และเขายังเสริมด้วยว่า “กระป๋องที่บวมโป่งคือสัญญาณว่าแบคทีเรียภายในผลิตก๊าซ ซึ่งหมายความว่าอาหารเน่าเสียแล้ว และไม่ปลอดภัยในการบริโภคอย่างเด็ดขาด”

เพื่อหลีกเลี่ยงการปนเปื้อนของแบคทีเรีย ควรเก็บอาหารกระป๋องในที่แห้งและเย็น ห่างจากอ่างล้างจานหรือบริเวณที่อุณหภูมิเปลี่ยนแปลงง่าย และรู้ระยะเวลาการเก็บรักษาของอาหารแต่ละประเภท เช่น อาหารที่มีความเป็นกรดสูงอย่างมะเขือเทศสามารถเก็บได้นานถึง 18 เดือนแม้หมดอายุ ส่วนอาหารที่มีความเป็นกรดต่ำ เช่น เนื้อสัตว์หรือผัก สามารถเก็บได้ 2-5 ปี หากอยู่ในสภาพที่เหมาะสม

ท้ายที่สุด แม้อาหารกระป๋องจะเป็นทางเลือกที่สะดวกและเก็บได้นาน แต่หากไม่ตรวจสอบสภาพบรรจุภัณฑ์อย่างถี่ถ้วน อาจเสี่ยงต่อโรคร้ายแรงถึงชีวิตได้ ผู้บริโภคควรใส่ใจรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เพื่อความปลอดภัยของตนเองและครอบครัว