.jpg)
ไขปริศนา ทำไมมนุษย์มักตื่นตี 3 พร้อมเหงื่อท่วมตัว ไม่ใช่เรื่องลี้ลับ และอาจไม่ใช่เพราะร้อน!
ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับเผยเหตุผล ทำไมคนมักถึงตื่นตี 3 พร้อมเหงื่อท่วมตัว อุณหภูมิที่ร้อนขึ้น-ความเครียด-สุขภาพ ล้วนเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้การนอนหลับถูกรบกวน
หลายคนอาจเคยประสบปัญหาตื่นกลางดึกในเวลาประมาณตี 3 พร้อมอาการเหงื่อออกมาก และรู้สึกอ่อนล้าในวันถัดไป ล่าสุด Martin Seeley ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับจากเว็บไซต์ MattressNextDay ได้ออกมาอธิบายว่า สภาพอากาศที่ร้อนจัดในช่วงกลางคืนคือหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้วงจรการนอนหลับเสียสมดุล และส่งผลต่อสุขภาพโดยรวม
“ร่างกายของเรามีระบบควบคุมอุณหภูมิ ซึ่งต้องลดลงในช่วงนอนหลับเพื่อกระตุ้นการหลั่งเมลาโทนิน (ฮอร์โมนที่ช่วยให้นอนหลับ) แต่เมื่ออุณหภูมิสูงเกิน 20 องศาเซลเซียส ร่างกายจะระบายความร้อนได้ยาก ทำให้นอนไม่หลับ หลับไม่ลึก และตื่นบ่อยในเวลากลางคืน” Martin Seeley กล่าว
เขาอธิบายเพิ่มเติมว่า หากร่างกายไม่ได้รับการพักผ่อนอย่างเพียงพอ สมองส่วนที่ควบคุมอารมณ์ (amygdala) จะได้รับผลกระทบ ทำให้ความสามารถในการจัดการอารมณ์ลดลง เกิดอาการหงุดหงิดง่าย ขาดสมาธิ และมีแนวโน้มที่จะโต้ตอบกับผู้อื่นด้วยอารมณ์มากกว่าปกติ
นอกจากนี้ งานวิจัยยังพบว่า อุณหภูมิที่สูงสามารถกระตุ้นระดับความก้าวร้าวและความหงุดหงิด แม้ในกรณีที่ไม่มีปัญหาในการนอน โดยเฉพาะเมื่อร่างกายต้องทำงานหนักเพื่อควบคุมอัตราการเต้นของหัวใจ ระดับน้ำในร่างกาย และฮอร์โมนความเครียด (คอร์ติซอล)
อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า ไม่ใช่แค่ความร้อนเท่านั้นที่ทำให้ตื่นกลางดึก แต่การตื่นในช่วงเวลาประมาณตี 3 อาจมีหลายปัจจัยร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็น
-
ความเครียด และ ภาวะสุขภาพจิต เช่น โรคซึมเศร้า
-
ยา บางชนิดที่มีผลกระทบต่อวงจรการนอนหลับ เช่น ยาต้านซึมเศร้า, ยาลดความดัน (เบต้า-บล็อกเกอร์), ยาแก้อักเสบกลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์, ยาแก้หวัดที่หาซื้อได้ทั่วไป, ยาขับปัสสาวะ, ยาแก้แพ้บางชนิด (มักใช้รักษาไข้ละอองฟาง)
-
ภาวะทางสุขภาพ เช่น โรคข้ออักเสบ, กลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข (RLS), วัยหมดประจำเดือน, ต่อมลูกหมากโตในผู้ชาย
และแน่นอนว่า พฤติกรรมก่อนนอนก็มีผล หากคุณใช้โทรศัพท์มือถือก่อนนอน ดื่มแอลกอฮอล์หรือคาเฟอีนก่อนเข้านอน รับประทานอาหารใกล้เวลานอน สูบบุหรี่ หรือแม้แต่การงีบหลับตอนกลางวัน ก็อาจส่งผลให้การนอนหลับไม่ต่อเนื่องและตื่นกลางดึกได้เช่นกัน
ดังนั้น แนะนำว่าหากคุณประสบปัญหาการตื่นนอนกลางดึกเป็นประจำ ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น และรักษาอุณหภูมิในห้องนอนให้เหมาะสมไม่เกิน 20 องศาเซลเซียส และหากปัญหายังเรื้อรัง ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
- มีคำตอบแล้ว! วิจัยเผย "คนอายุยืน" มักตื่นนอนตอนไหน ใช่ 6 โมงเช้า แบบที่คิดหรือเปล่า?
- ดีกว่าแก้ผ้า! คำแนะนำจาก "หมอ" แค่สวม 1 สิ่งเข้านอน ช่วยให้หลับได้ดีและ "เร็วขึ้น"