.jpg)
"กินกล้วย" เวลาไหนดีที่สุด กินตอนท้องว่างๆ เสี่ยงหัวใจเต้นผิดจังหวะ จริงหรือ?
กินกล้วยเวลาไหนดีที่สุด? แนะกินถูกเวลา ได้ประโยชน์สูงสุด หลีกเลี่ยงผลเสียต่อสุขภาพ
กล้วย เป็นผลไม้ที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง อุดมไปด้วยโพแทสเซียม วิตามินC วิตามินB6 ไฟเบอร์ และสารต้านอนุมูลอิสระ แต่การจะได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่นั้น ต้องเลือกช่วงเวลาการบริโภคให้เหมาะสม แล้วกินกล้วยเวลาไหนดีที่สุด....?
ตามรายงานของสื่อต่างประเทศ ดร.เหงียน จุง ไฮ รองประธานสภาวิทยาศาสตร์แห่งชาติสมาคมการแพทย์แผนโบราณเวียดนาม แนะนำว่า ควรกินกล้วยในช่วงที่กระเพาะอาหารมีอาหารอยู่บ้างแล้ว โดยเฉพาะเวลา 09.00–10.00 น. และ 15.00–16.00 น. ซึ่งเป็นช่วงที่กรดในกระเพาะค่อนข้างคงที่ จะช่วยให้ร่างกายดูดซึมสารอาหารได้ดีขึ้น ลดความหิว ทำให้อิ่มนาน เหมาะกับคนทำงานออฟฟิศหรือนักเรียนที่ใช้พลังงานสมอง
หลีกเลี่ยงการกินกล้วยตอนท้องว่าง โดยเฉพาะหลังตื่นนอนตอนเช้า เพราะอาจทำให้ระดับแมกนีเซียมและแคลเซียมในเลือดไม่สมดุล ส่งผลกระทบต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด
และไม่ควรกินกล้วยตอนกลางคืนก่อนนอนเช่นกัน โดยเฉพาะในผู้ที่ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย เพราะอาจทำให้ระดับอินซูลินเพิ่มขึ้น รบกวนการนอนหลับ และทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นได้
เลือกกล้วยอย่างไรให้เหมาะ?
-
กล้วยสุกพอดี มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ให้รสหวานในระดับเหมาะสม และย่อยง่าย เหมาะกับคนทั่วไป
-
กล้วยสุกมากเกินไป มีน้ำตาลสูง (กลูโคส ฟรุกโตส) อาจไม่เหมาะกับผู้ป่วยเบาหวาน เพราะทำให้น้ำตาลในเลือดพุ่งสูง
-
กล้วยดิบหรือยังไม่สุกดี แม้จะมีน้ำตาลน้อย แต่มีแป้งต้านการย่อยสูง อาจทำให้แน่นท้อง ท้องอืด โดยเฉพาะในผู้ที่มีระบบย่อยอาหารไม่แข็งแรง
กลุ่มคนที่ควรจำกัดการกินกล้วย
-
ผู้ป่วยโรคไต ควรหลีกเลี่ยงการกินกล้วย เพราะกล้วยมีโพแทสเซียมสูง ซึ่งไตอาจขับออกได้ไม่หมด ทำให้โพแทสเซียมในเลือดสูงเกิน ส่งผลให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้
-
ผู้ที่ควบคุมน้ำตาลในเลือด ควรเลือกกล้วยสุกปานกลาง กินในปริมาณพอเหมาะ ไม่ควรกินกล้วยที่สุกมาก
เคล็ดลับการกินกล้วยให้ดีต่อสุขภาพ
-
กินกล้วยวันละ 1–2 ลูก ก็เพียงพอ
-
กินห่างจากมื้ออาหารหลัก 1–2 ชั่วโมง
-
สามารถจับคู่กล้วยกับ โยเกิร์ต ข้าวโอ๊ต หรือนัทต่างๆ เพื่อให้เป็นมื้อว่างที่อุดมด้วยคุณค่า เหมาะสำหรับคนรักสุขภาพ
ท้ายที่สุดแล้ว กล้วยยังคงเป็นผลไม้ที่อร่อย หาทานง่าย และมีประโยชน์หลากหลาย แต่ต้องเลือกเวลาและวิธีกินให้เหมาะสมเพื่อหลีกเลี่ยงผลข้างเคียง โดยเฉพาะผู้มีโรคประจำตัว เช่น ไตหรือเบาหวาน ควรปรึกษาแพทย์หรือนักโภชนาการก่อนเพิ่มกล้วยในเมนูประจำวัน
- คนแห่อวยยศ แม่บ้านสอนวิธี "เก็บกล้วย" เป็นสัปดาห์ก็ไม่ดำ ที่แท้มีเคล็ดลับ รู้แล้วง่ายเลย!
- ส่วนใหญ่ยังไม่รู้ตัว! เตือนคน 7 กลุ่ม ไม่ควรกิน "แตงโม" อร่อยสดชื่น แต่เสี่ยงอันตราย