(1).jpg)
ย้อนเหตุการณ์ช็อก กัปตันถูกดูดออกจากเครื่องบิน บนความสูง 17,000 ฟุต แต่รอดปาฏิหาริย์
ย้อนเหตุการณ์ช็อกโลกเมื่อ 30 ปีก่อน เมื่อ "กัปตัน" ถูกดูดออกจากหน้าต่างเครื่องบิน ที่ระดับความสูง 17,000 ฟุต แต่รอดตายอย่างปาฏิหาริย์
ทิม แลงคาสเตอร์ นักบินของสายการบิน British Airways เคยถูกดูดออกจากหน้าต่างห้องนักบินกลางอากาศ ขณะเครื่องบินอยู่ที่ระดับความสูงกว่า 17,000 ฟุต โดยมีพนักงานต้อนรับบนเครื่องช่วยชีวิตเขาไว้ได้อย่างหวุดหวิด ด้วยการจับขาเขาแน่นไม่ให้หลุดออกไปจนหมดตัว
ย้อนกลับไปเมื่อ 30 ปีก่อน เคยเกิดเหตุการณ์สุดสะเทือนขวัญกับนักบินของสายการบิน British Airways แต่ยังมีคนจำนวนมากที่ไม่เคยได้ยินเรื่องนี้เลย
และสิ่งที่น่าตกใจที่สุดก็คือ เหตุการณ์สุดสยองครั้งนี้ กลับกลายเป็นปาฏิหาริย์แห่งการรอดชีวิต และทำให้ชาย 2 คน กลายเป็นวีรบุรุษภายในเวลาไม่ถึงครึ่งชั่วโมง
เหตุการณ์ชวนช็อกที่ระดับความสูง 17,000 ฟุต
เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน ปี 1990 เที่ยวบิน British Airways 5390 เดินทางจากเบอร์มิงแฮมไปยังมาลากา เพิ่งออกเดินทางมาได้ประมาณครึ่งชั่วโมง ด้วยเครื่องบินรุ่น BAC One-Eleven ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น
กัปตันทิม แลงคาสเตอร์ กำลังควบคุมห้องนักบินร่วมกับนักบินผู้ช่วย อลาสแตร์ แอตชิสัน ขณะที่เครื่องกำลังไต่ระดับขึ้นไป ทุกอย่างก็ดูปกติดี
แต่อยู่ ๆ ก็เกิดเหตุไม่คาดฝัน กระจกหน้าห้องนักบินด้านซ้ายเกิดระเบิดออกอย่างกะทันหัน ทำให้เกิดภาวะความดันอากาศลดฮวบอย่างรุนแรง ขณะเครื่องบินลอยอยู่เหนือพื้นดินที่ความสูงถึง 17,300 ฟุต
แรงอัดจากการระเบิดของอากาศทำให้อากาศที่คงตัวในห้องนักบินถูกดูดออกไปหมด และที่น่าสะพรึงกว่านั้น กัปตันทิม แลงคาสเตอร์ ก็ถูกแรงลมมหาศาลดูดตัวเขาหลุดออกจากที่นั่ง ติดคาอยู่ครึ่งตัวนอกเครื่องบิน
เหตุการณ์สุดสะพรึงเพิ่งจะเริ่มต้นเท่านั้น
ในขณะที่กัปตันทิม แลงคาสเตอร์หมดสติ และร่างครึ่งบนของเขาถูกลอยออกไปนอกร่างเครื่องบิน ขาและลำตัวส่วนล่างยังติดอยู่ภายใน ไนเจล อ็อกเดน พนักงานต้อนรับบนเครื่อง เดินเข้าห้องนักบินมาเจอกับภาพอันน่าตกใจนี้พอดี
เมื่อแลงคาสเตอร์ถูกแรงลมดึงออกจากที่นั่ง คันบังคับเครื่องบินถูกกดไปข้างหน้า ทำให้เครื่องเอียงและเริ่มดิ่งหัวลงทางขวาอย่างรวดเร็ว
อ็อกเดนรู้ทันทีว่าเขาต้องทำอะไรสักอย่าง จึงรีบคว้ารอบเอวของกัปตันไว้แน่น และไม่ยอมปล่อย
ขณะเดียวกัน หัวหน้าพนักงานต้อนรับ จอห์น ฮาวเวิร์ด ก็รีบเข้ามาช่วย เขาจัดการเคลียร์เศษซากประตูห้องนักบินที่หลุดออกมาปิดกั้นแผงควบคุมการนำทาง เพื่อเปิดทางให้ผู้ช่วยนักบิน แอตชิสัน กลับมาควบคุมเครื่องบินได้อีกครั้ง
ในช่วงเวลาแห่งความเป็นความตายนี้ เครื่องบินกำลังร่วงลงด้วยความเร็ว 4,600 ฟุตต่อนาที และเพื่อหลีกเลี่ยงการชนกลางอากาศ แอตชิสันต้องรีบควบคุมความดันอากาศให้คงที่ เพื่อให้ออกซิเจนกลับเข้าสู่ห้องโดยสาร และรักษาระดับการบินให้เครื่องทรงตัวอีกครั้ง
อย่างน่าอัศจรรย์ ผู้ช่วยนักบินสามารถควบคุมเครื่องบินกลับมาอยู่ในระดับความสูง 11,000 ฟุตได้ภายในเวลาเพียง 148 วินาที
ขณะนั้น ไซมอน โรเจอร์ส พนักงานต้อนรับอีกคนก็ผลัดเปลี่ยนกันเข้ามาช่วยยึดตัวกัปตันแลงคาสเตอร์ให้มั่นคง และพยายามปลอบโยนผู้โดยสารที่ตกใจกลัวหลังได้ยินเสียงดังสนั่นจากการที่กระจกหน้าห้องนักบินหลุดออกไป
กัปตันรอดชีวิตอย่างเหลือเชื่อ พร้อมบาดเจ็บหลายจุด
แลงคาสเตอร์ต้องห้อยตัวอยู่นอกเครื่องบินเป็นเวลานานถึง 22 นาที ก่อนที่ผู้ช่วยนักบินจะสามารถนำเครื่องลงจอดฉุกเฉินที่สนามบินเซาแทมป์ตันได้สำเร็จ ในช่วงเวลานั้น เขาได้รับบาดเจ็บหลายแห่งทั่วร่างกาย
ไนเจล อ็อกเดน เล่าย้อนเหตุการณ์สะเทือนขวัญนี้กับ Sydney Morning Herald ว่า
“ผมหันกลับไปทันที แล้วก็เห็นว่ากระจกหน้าห้องนักบินหายไป และทิม กัปตัน กำลังถูกดูดออกไปนอกเครื่อง เขาหลุดจากเข็มขัดนิรภัยไปแล้ว และสิ่งที่ผมเห็นก็มีแค่ขาของเขา ผมกระโดดข้ามคันบังคับเครื่องบินไปคว้าเอวเขาไว้ เพื่อไม่ให้เขาหลุดออกไปทั้งตัว เสื้อของเขาถูกลมฉีกออกจากหลัง และร่างกายของเขาถูกแรงลมพับขึ้น งออยู่เหนือหลังคาห้องนักบิน”
ศีรษะของแลงคาสเตอร์กระแทกกับลำตัวเครื่องบินซ้ำแล้วซ้ำเล่า ขณะที่ฮาเวิร์ดคว้าเข็มขัดนิรภัยของเขาไว้แน่นเพื่อไม่ให้ตกลงไป และนี่คือช่วงที่อ็อกเดนถึงกับหวาดผวากับสิ่งที่เห็น
เขาเล่าต่อว่า “สิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือ ดวงตาของเขายังลืมโพลงอยู่ ผมไม่มีวันลืมภาพนั้นเลยตลอดชีวิต พระเจ้ารู้ได้ยังไง แต่ในระหว่างที่เกิดทั้งหมดนี้ อลาสแตร์ก็ยังสามารถควบคุมเครื่องบินไว้ได้”
“ผมปล่อยให้จอห์นดูแลในห้องนักบิน แล้วรีบวิ่งกลับไปหาผู้โดยสาร เพราะทุกคนได้ยินเสียงระเบิดดังสนั่น เพื่อนร่วมงานของผม ซู พรินซ์ ต้องดูแลเครื่องบินตามลำพังอยู่ตรงนั้น น่าสงสารเธอจริง ๆ
ผมตะโกนสุดเสียงว่า "เตรียมพร้อม! เตรียมพร้อม!" และทุกคนก็รู้ทันทีว่าสถานการณ์ร้ายแรงแค่ไหน
ความกดดันที่ถาโถมใส่อลาสแตร์คงมหาศาล เพราะชีวิตของทุกคนขึ้นอยู่กับเขาเพียงคนเดียว แต่เขาก็พาเครื่องบินลงจอดได้อย่างสมบูรณ์แบบ”
เรื่องราวเหตุการณ์นี้ถูกนำไปถ่ายทอดอีกครั้งในสารคดี Air Crash Investigation ของ National Geographic (หรือ Mayday) ซีซัน 3 ตอนที่ 2
โดย ไนเจล อ็อกเดน ได้บรรยายสภาพของกัปตันแลงคาสเตอร์ว่า “ร่างเขาเริ่มเขียวคล้ำ และดวงตาลืมค้างอยู่ ผมนึกว่าเขาตายแล้ว แต่พวกเราไม่มีทางปล่อยเขาไปแน่”
แม้จะรอดชีวิตมาได้ แต่อาการของแลงคาสเตอร์ก็สาหัส เขามีกระดูกหักหลายจุด เป็นบาดแผลจากอากาศหนาวจัด (frostbite) และช็อก ก่อนจะถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลอย่างเร่งด่วนหลังเครื่องลงจอดที่สนามบินเซาแทมป์ตัน
สาเหตุที่ทำให้นักบินถูกดูดออกไปทางหน้าต่าง
เรื่องราวสะเทือนขวัญครั้งนี้มีต้นตอมาจากความผิดพลาดในการซ่อมบำรุงที่เกิดขึ้นเพียง 27 ชั่วโมงก่อนเหตุการณ์จะเกิดขึ้น
จากรายงานระบุว่า มีสลักเกลียว 84 ตัว จากทั้งหมด 90 ตัว ที่ใช้ยึดกระจกหน้าห้องนักบิน ถูกใส่ผิดขนาดหลังจากการเปลี่ยนตามรอบปกติ
เมื่อเครื่องบินไต่ระดับความสูง สลัก 87 ตัว หลุดออกจากกระจก และในที่สุดกระจกก็ถูกแรงดันอากาศดันหลุดออก เนื่องจากไม่มีตัวยึดที่แข็งแรงเพียงพอ
เหตุการณ์นี้นำไปสู่การปฏิรูปด้านความปลอดภัยในการบินครั้งใหญ่ และปัจจุบันยังถูกใช้เป็นกรณีศึกษาในการฝึกอบรมนักบินและพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินทั่วโลก
ในระหว่างการรายงานข่าวของ NBC นักข่าวได้ถามกัปตันแลงคาสเตอร์ว่าเขากลัวว่าจะตายหรือไม่
“ก็แว่บเข้ามาในหัวเหมือนกันครับ” เขายอมรับ “อยู่แค่ช่วงสั้น ๆ ไม่กี่วินาที สิ่งที่ผมจำได้ชัดที่สุดก็คือ ผมหายใจไม่ได้เลย เพราะหน้าผมหันเข้ากระแสลมโดยตรง” แลงแคสเตอร์ กล่าว ในสารคดี Mayday ปี 2005
ชะตากรรมของกัปตันและพนักงานต้อนรับฮีโร่
สำหรับแลงคาสเตอร์และแอตชิสัน กัปตันแลงคาสเตอร์สามารถฟื้นตัวได้อย่างสมบูรณ์ และไม่เคยสูญเสียความรักในการบินเลย เขากลับมาขึ้นบินอีกครั้งภายในเวลาเพียง 5 เดือน
หลังจากนั้นเขายังทำหน้าที่นักบินให้กับสายการบิน EasyJet จนเกษียณในปี 2008 โดยไม่เคยให้สัมภาษณ์สาธารณะเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่เขาก็ได้รับพระราชทานรางวัล Queen’s Commendation สำหรับเรื่องราวการเอาชีวิตรอดอันน่าอัศจรรย์ของเขา
ในทำนองเดียวกัน แอตชิสันได้รับรางวัล Polaris Award สำหรับความสามารถด้านการบินที่ยอดเยี่ยม และไนเจล อ็อกเดนก็ได้รับพระราชทาน Queen’s Commendation for Valuable Service in the Air เช่นกัน