.jpg)
คำนวณมาแล้ว! "มื้อกลางวัน" ประหยัดเงินได้ 3 ล้านดอง/เดือน ชื่นชม การออมคู่รักเวียดนาม
พลังของข้าวกล่อง! คู่สามีภรรยาเวียดนาม ประหยัดได้กว่า 3 ล้านดองต่อเดือน ด้วยการพกข้าวกลางวันไปทำงาน
ในยุคเศรษฐกิจที่เต็มไปด้วยความท้าทาย คู่สามีภรรยาชาวเวียดนามคู่นี้ได้พิสูจน์แล้วว่า “การพกข้าวกลางวันไปกินที่ทำงาน” ไม่เพียงแต่ช่วยลดรายจ่าย แต่ยังสร้างความสุขเล็กๆ ในที่ทำงาน พร้อมทั้งกระชับความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนร่วมงานได้อีกด้วย
ตามรายงานของเว็บไซต์ข่าว VTC News เดิมทีทั้งสองคนใช้ชีวิตเช่นเดียวกับพนักงานทั่วไปในเวียดนาม โดยมักออกไปรับประทานอาหารกลางวันตามร้านค้าใกล้บริษัท หรือสั่งผ่านบริการเดลิเวอรี่ ราคาต่อมื้อตกอยู่ที่ราว 40,000 – 60,000 ดอง/คน (ประมาณ 60 – 90 บาท)
หากคำนวณสำหรับสองคนต่อเดือน (22 วันทำงาน) จะรวมเป็นเงินประมาณ 1.76 – 2.64 ล้านดอง/เดือน (ประมาณ 2,600 – 3,900 บาท) ยังไม่รวมค่าเครื่องดื่มหรือขนมหวานที่อาจสั่งเพิ่มเป็นครั้งคราว ซึ่งอาจทำให้ค่าใช้จ่ายต่อเดือนทะลุ 3 ล้านดอง (ประมาณ 4,400 บาท) ได้อย่างง่ายดาย
ดังนั้น หลังมื้อเย็นของทุกวัน ภรรยาจะเตรียมข้าวและอาหารอื่นๆ เพิ่มเติมอีกเล็กน้อย จากนั้นแบ่งใส่กล่องอย่างเรียบร้อยแล้วแช่ตู้เย็นไว้ เช้าวันรุ่งขึ้นก็เพียงหยิบใส่กระเป๋าแล้วนำไปอุ่นที่ออฟฟิศ วิธีนี้สะดวก รวดเร็ว และช่วยควบคุมคุณภาพอาหารได้อย่างดี ที่สำคัญคือ การเตรียมอาหารกลางวันจากบ้านแบบนี้แทบไม่เพิ่มค่าใช้จ่าย เพราะเป็นการต่อยอดจากวัตถุดิบเดิมที่ใช้ในมื้อเย็น
โดยเฉลี่ยแล้ว แต่ละวันพวกเขาประหยัดเงินได้ประมาณ 40,000 ดอง/คน (ราว 60 บาท) หรือ 80,000 ดอง/วัน (ประมาณ 120 บาทสำหรับสองคน) คิดเป็นรายเดือนก็จะประหยัดได้ราว 1.76 ล้านดอง (ประมาณ 2,600 บาท) และในบางเดือนอาจสูงถึง 3 ล้านดอง (ประมาณ 4,400 บาท)
แม้จะเป็นเงินเพียงไม่กี่หมื่นดองต่อวัน แต่เมื่อสะสมทุกวันอย่างมีวินัย ก็กลายเป็นเงินก้อนสำหรับครอบครัว เงินจำนวนนี้สามารถนำไปใช้จ่ายจำเป็น เช่น ค่าของใช้ในบ้าน ค่าเทอมลูก หรือเก็บไว้สำหรับแผนในอนาคต เช่น ซื้อบ้านหรือท่องเที่ยว เริ่มจากการประหยัดเล็กๆ เก็บเล็กผสมน้อย สร้างทุนอนาคต และผลลัพธ์ยิ่งใหญ่
และนอกจากเรื่องประหยัด อีกมิติหนึ่งที่น่าสนใจคือ การพกข้าวไปทานในออฟฟิศได้เปลี่ยนมื้อเที่ยงให้กลายเป็นช่วงเวลาแห่งการแบ่งปัน เพื่อนร่วมงานหลายคนเริ่มนำอาหารจากบ้านมาทานด้วยกัน กลายเป็นวงอาหารกลางวันที่อบอุ่น และช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในทีม
อย่างไรก็ดี พวกเขาทั้งคู่ยังคงยึดคติที่ว่า ไม่ต้องตึงเกินไป ก็ยังประหยัดได้ เพราะแน่นอนว่าคงไม่สามารถพกข้าวไปทานที่ทำงานได้ทุกวัน บางครั้งอาจมีความจำเป็นให้ออกไปทานข้างนอก หรือแค่อยากเปลี่ยนบรรยากาศ อย่างไรก็ตาม ทั้งคู่ยืนยันว่า “ข้าวกล่อง” ได้กลายเป็นนิสัยประหยัดที่ติดตัว และเป็นสิ่งที่ทั้งสองรู้สึกภาคภูมิใจ
เสียงจากชาวเน็ต: ข้าวกล่อง = ประหยัดจริง สะอาดกว่า และตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์
การพกข้าวกลางวันไปทำงานไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของการประหยัดเท่านั้น แต่ยังได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากผู้คนมากมายบนโลกออนไลน์ โดยเฉพาะในเวียดนาม ซึ่งหลายความเห็นสะท้อนว่าการทำอาหารเองมีข้อดีหลากหลายทั้งเรื่องสุขภาพและความคุ้มค่า
“ใช้เตาไฟฟ้า ค่าไฟก็ไม่แพงอะไรเลย น้ำใช้เต็มที่ทั้งเดือนก็แค่ประมาณ 70,000 – 100,000 ดอง (ประมาณ 105 – 150 บาท) น้ำยาล้างจาน 1 ถุงใช้ได้ทั้งเดือนแค่ 20,000 ดอง (ประมาณ 30 บาท) เครื่องปรุงซื้อที 100,000 ดอง (ประมาณ 150 บาท) ใช้ได้ตั้งหลายเดือน”
“อาจจะไม่ได้ถูกกว่าข้าวกล่อง 30,000 ดองทุกมื้อ แต่สะอาดและได้สารอาหารครบกว่าแน่นอน”
“ข้อดีที่สุดคือควบคุมเมนูเองได้ ผมต้องการกินเนื้อเยอะ ๆ แต่ข้าวนอกบ้านมีแต่ถั่วกับข้าวแห้ง ๆ จะกินให้อิ่มต้องจ่ายตั้ง 80,000 – 100,000 ดอง (ประมาณ 120 – 150 บาท) ต่อมื้อ”
“บางมื้อทำเองอาจไม่ได้ถูกกว่า แต่เราเลือกของดีเองได้ แถมมั่นใจว่าสะอาดกว่าแน่นอน!”
“ถ้ารู้จักจัดสรรวัตถุดิบให้ดี ซื้อมาทำเองก็จะประหยัดกว่าแถมอร่อยถูกปากตัวเองด้วย ผมสนับสนุนแนวคิดนี้เลยครับ”
“อกไก่ 1 ถาดราคา 40,000 ดอง ผมหั่นแบ่งได้ 5 มื้อ เหลือตกมื้อละ 8,000 ดอง บวกข้าวโพดแช่แข็ง แครอท มะเขือเทศ ไข่ และผักต่าง ๆ รวมแล้วแค่ 25,000 ดอง (ประมาณ 38 บาท) ต่อมื้อ ถูกมาก!”
“ผมกินธัญพืชกับนมและผลไม้ทุกวัน สะดวกดี แม้จะเบื่อบ้างแต่ก็ประหยัดและเหมาะกับหนุ่มโสดอย่างผม”
“ก่อนหน้านี้น้ำหนักขึ้นเยอะเพราะกินของทอดกับข้าวเยอะ ตอนนี้เปลี่ยนมาทำอาหารแนว eat clean เอง ทั้งประหยัด ทั้งดีต่อสุขภาพ ไม่กลัวอ้วน!”
ท้ายที่สุดเสียงสะท้อนเหล่านี้ช่วยยืนยันว่า "การพกข้าวกล่อง" ไม่ใช่แค่ทางเลือก แต่เป็น “ทางรอด” ที่เหมาะกับทั้งมนุษย์เงินเดือน คนรักสุขภาพ และผู้ที่ต้องการควบคุมการใช้จ่ายในยุคที่ราคาสินค้าพุ่งสูง