
กัมพูชาไม่หยุด ยิงจรวด BM-21 ใส่ปราสาทตาเมือนธม ไทยสู้กลับตามยุทธวิธี
กัมพูชาไม่หยุด เปิดฉากยิงจรวด BM-21 เข้าใส่ "ปราสาทตาเมือนธม" ไทยสู้กลับตามยุทธวิธี จะหยุดเมื่อกัมพูชามาเจรจา
กัมพูชาไม่หยุดยิงก่อน
27 กรกฎาคม 2568 : เวลา 08.42 น. กองทัพภาคที่ 1 รายงานผ่านทางเพจเฟซบุ๊ก ศูนย์ประชาสัมพันธ์ กองทัพภาคที่ 1 ระบุว่า
วันนี้กองทัพกัมพูชาได้เปิดฉากยิงจรวด BM-21 เข้าใส่ปราสาทตาเมือนธม — เป็นการล่วงละเมิดอธิปไตยไทยอย่างอุกอาจและไร้ข้ออ้าง
Today, the Cambodian military launched BM-21 rocket attacks targeting Prasat Ta Muen Thom — a clear violation of Thai sovereignty
ไทยจะหยุดเมื่อมีการเจรจา
วันที่ 27 ก.ค.68 เช้าวันนี้ พ.อ.ริชฌา สุขสุวานนท์ รองโฆษกกองทัพบก ยืนยันว่า เมื่อเวลา 04.00 น. ทหารกัมพูชา ได้ยิงปืนใหญ่เข้ามาในพื้นที่ ปราสาทตาเมือน อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์ และ ยิงเข้ามาในเขต ช่องอานม้า อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี โดยพยายามจะเข้ามายึดพื้นที่ยุทธศาสตร์ หลังจากที่ทหารไทยเข้ายึดได้ ขณะที่ทหารไทยได้ใช้ปืนใหญ่พิสัยไกล ยิงตอบโต้เป้าหมายคือ ปืนใหญ่และเครื่องยิงจรวดของกัมพูชา
ส่วนประเด็นที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โทรศัพท์เป็นคนกลางในการไกล่เกลี่ยเมื่อคืนที่ผ่านมานั้น เป็นคนละส่วนกัน ทหารในสมรภูมิยังยืนยันทำตามยุทธวิธี ส่วนการหยุดยิงจะมีหรือไม่ ทางไทยยืนยันว่า จะมีการหยุดยิง ก็ต่อเมื่อกัมพูชาเข้ามาหาเราเพื่อขอเจรจาเองเท่านั้น
กระสุนปืนตกใส่บ้านเรือนประชาชน
วันที่ 27 ก.ค.68 เวลาประมาณ 05.50 น.ทหารกัมพูชา ได้ยิงกระสุนปืนใหญ่นับสิบลูก เข้ามาในพื้นที่ อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ โดยพบว่าลูกกระสุนปืนใหญ่ มาตกระเบิดที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งในพื้นที่ ต.บ้านพลวง อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ ซึ่งอยู่ห่างจากแนวชายแดนประมาณ 40 กิโลเมตร โดยลูกระเบิดตกใส่ข้างบ้านของ นายคูณ อายุ 80 กว่าปี เสียงดังสนั่นหวั่นไหว ทำให้สะเก็ดระเบิดถูกตัวบ้านไม้สองชั้นเสียหายและไฟไม้ทั้งหลัง
ระหว่างเกิดเหตุเจ้าของบ้านไม่อยู่ในตัวบ้าน จนท.กู้ภัยสว่างจรรยาธรรมจุด อ.ปราสาท รุดลงพื้นที่พบเพียงหม้อที่กำลังตั้งไฟไว้ร้อนระอุ ทราบข้อมูลว่าลูกชายเจ้าของบ้านได้เข้ามาที่บ้านเพื่อทำกับข้าว กำลังตั้งหม้อ แต่ได้ยินเสียงปืนใหญ่จึงรีบออกไปจากตัวบ้าน ก่อนระเบิดมาลง รอดตายหวุดหวิด
จากการตรวจสอบพบร่องรอยระเบิดตก ที่พื้นดินข้างบ้านเป็นหลุมขนาดใหญ่ นอกจากนี้ยังพบลูกระเบิดตกใส่คอกวัวชาวบ้าน ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านหลังดังกล่าวประมาณ 100 เมตร ทำให้วัวตาย 6 ตัว อีกด้วยโดยเป็นคอกวัวของ นายกิตชัย และยังพบร้านก๋วยเตี๋ยวยายสุ ในหมู่บ้านเดียวกันก็ถูกระเบิกตกใส่เช่นกัน ขณะนี้ยังไม่พบผู้ได้รับบาดเจ็บ เนื่องจากส่วนใหญ่อพยพออกไปก่อนแล้ว ส่วนระเบิดที่เหลืออยู่ระหว่างตรวจสอบว่าตกจุดไหนอย่างไรบ้าง
อย่างไรก็ตาม เป็นไปตามการคาดการณ์ของฝ่ายความมั่นคง ที่ให้จังหวัดสุรินทร์ได้แจ้งเตือนประชาชนให้อยู่ห่างจากชายแดนระยะไม่ต่ำว่า 40 กม. ซึ่งเมื่อวานนี้ (26 ก.ค.68) ทหารกัมพูชาก็ได้ยิงระเบิดมาตกในพื้นที่ อ.ปราสาท หลายจุดอีกด้วย ก่อนที่เช้ามืดวันนี้ กัมพูชาจะเริ่มยิ่งระเบิดเข้ามาในพื้นที่ อ.พนมงดงรักตั้งแต่เวลา 04.40 น. และพื้นที่ชายแดนช่องจอม ต.ด่าน อ.กาบเชิง และอีกหลายจุดตลอดแนวชายแดน จ.สุรินทร์ จากนั้นไม่นานพบเครื่องบิน F-16 บินเข้าไปในพื้นที่ชายแดน ก่อนที่เสียงปืนใหญ่จะเงียบลงระยะหนึ่ง
รู้จัก ปราสาทตาเมือนธม
ปราสาทตาเมือนธม ตั้งอยู่บริเวณช่องเขาตาเมือน บนเทือกเขาพนมดงรัก อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์ บริเวณชายแดนไทย – กัมพูชา ถือเป็นปราสาทที่ใหญ่และเก่าแก่ที่สุดในกลุ่มปราสาทตาเมือน ซึ่งรวมถึงปราสาทตาเมือน (บายกรีม) และปราสาทตาเมือนโต๊ด
นักโบราณคดีสันนิษฐานว่า สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 16 ในศิลปะแบบบาปวน ใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาฮินดู โดยมีศูนย์กลางคือ “ศิวลึงค์” ที่สกัดจากหินธรรมชาติ สันนิษฐานว่าเป็น “สวายัมภูลึงค์” หรือศิวลึงค์ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ อันเป็นสัญลักษณ์แทนองค์พระศิวะ เทพเจ้าสูงสุดในลัทธิไศวนิกาย ภายในยังมีท่อโสมสูตร (ท่อระบายน้ำศักดิ์สิทธิ์) ที่เชื่อมจากศิวลึงค์สู่ระเบียงคดด้านทิศตะวันออก และบรรณาลัย (ห้องสมุดโบราณ) 2 หลัง นอกจากนี้ ยังมีสระน้ำโบราณอยู่ด้านนอกหลักฐานยืนยันความเป็นโบราณสถานของไทย
กรมศิลปากรยืนยันในปี พ.ศ. 2553 ว่าปราสาทตาเมือนธมอยู่ในฝั่งประเทศไทยอย่างชัดเจน และได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2478 (กว่า 90 ปีก่อน) โดยอ้างอิงตามแผนที่มาตรฐานสากลที่ยึด “สันปันน้ำ” เป็นเส้นแบ่งเขต พื้นที่นี้อยู่ภายใต้การดูแลของสำนักศิลปากรที่ 5 ปราจีนบุรี และได้ดำเนินการบูรณะอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทางการกัมพูชาได้รับรู้มาโดยตลอด ทั้งยังมีโบราณวัตถุจากบริเวณนี้จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสุรินทร์ นอกจากนี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ยังได้สร้างเส้นทางบริเวณปราสาทแห่งนี้ไว้สำหรับการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ศึกษาและสัมผัสมรดกวัฒนธรรมล้ำค่านี้ด้วยตนเอง
ที่สำคัญคือ การขึ้นทะเบียนปราสาทแห่งนี้ของไทย เกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2478 ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนที่ประเทศกัมพูชาจะได้รับเอกราชจากฝรั่งเศส (พ.ศ. 2496) และการรับรองจากองค์การสหประชาชาติ (พ.ศ. 2498) นานถึงกว่า 20 ปี สะท้อนถึงบทบาทของไทยในการดูแลรักษามรดกทางวัฒนธรรมมาอย่างต่อเนื่อง ยาวนาน และมีหลักฐานรองรับอย่างชัดเจน