เนื้อหาในหมวด สุขภาพ

อาหารแบบไหน เสี่ยง “อาหารเป็นพิษ” โรคฮิตหน้าร้อน

อาหารแบบไหน เสี่ยง “อาหารเป็นพิษ” โรคฮิตหน้าร้อน

แม้ว่าเมืองไทยจะขึ้นชื่อในเรื่องของอาหารถูก และดีมีคุณภาพ รสชาติอร่อย จนชาวต่างชาติต้องบินมาทานถึงที่นี่กันมากมาย แต่หากเลือกทานอาหารไม่ถูกสุขลักษณะ หรือมีความเสี่ยงต่อโรคอาหารเป็นพิษ ก็อาจทำให้คุณหมดสนุกกับการทานอาหารอร่อยๆ ได้ ดังนั้น Sanook! Health จึงมีคำแนะนำดีๆ จากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย มาให้ทุกคนได้ระมัดระวังตัวในการเลือกทานอาหารให้ห่างไกลโรคอาหารเป็นพิษกัน

 

>> อาหารเป็นพิษ นานาวิธีรักษาและป้องกัน

 

  • อาหารดิบ หรือกึ่งสุกกึ่งดิบ
  • อาหารที่ไม่ถูกปรุงให้สุกด้วยความร้อน 100% อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้คุณติดเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดอาการท้องเสีย ท้องร่วง หรืออาหารเป็นพิษ โดยพบว่าอาหารดิบที่คนไทยนิยมทานมากที่สุดได้แก่ อาหารทะเล เนื้อสัตว์ เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู โดยอาหารดิบเหล่านี้มีความเสี่ยงที่จะพบเจอกับเชื้อซาลโมเนลลา ที่พบได้ในเนื้อสัตว์ดิบ ไข่ดิบ นม รวมไปถึงเชื้ออีโคไล ที่เป็นเชื้อที่ทำให้เกิดอาหารท้องเสียท้องร่วงที่พบได้บ่อยในคนไทยที่ชอบรับประทานเนื้อสัตว์ดิบ

    อนึ่ง การปรุงให้สุกด้วยการใช้มะนาวสด ไม่สามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียในอาหารได้ ต้องผ่านความร้อนที่มากเพียงพอเท่านั้น

     

  • ผักผลไม้สด
  • นอกจากเนื้อสัตว์ที่ควรหลีกเลี่ยงการทานโดยไม่ผ่านความร้อน (หรือผ่านความร้อนไม่เพียงพอ) แล้ว ผักผลไม้สดที่เราอาจพบได้ในเมนูสลัดผักต่างๆ รวมไปถึงผักสดเครื่องเคียงเมนูขนมจีนน้ำยา อาจเสี่ยงต่อโรคอาหารเป็นพิษ เพราะผักผลไม้สดหากทำความสะอาดไม่ดีพอ อาจยังพบสารตกค้างจากยาฆ่าแมลง ยาปราบศัตรูพืช ยาฆ่าเชื้อรา ปุ๋ยเคมี ปุ๋ยคอกที่มาจากมูลสัตว์ (ที่อาจเป็นมูลสัตว์ที่เป็นโรค ติดเชื้อ) นอกจากนี้ผักผลไม้สลัดที่หั่นเก็บเอาไว้นาน บรรจุอยู่ในกล่อง หรือถุงเป็นเวลานาน อาจจะพบน้ำที่เจิ่งนองอยู่ก้นกล่องก้นถุง ซึ่งอาจเป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อซาลโมเนลลา ที่ทำให้เกิดอาการท้องร่วงได้

    >> อันตรายจาก “สลัดผัก” ที่คุณอาจไม่เคยรู้

     

  • น้ำแข็งที่ไม่สะอาด
  • บางครั้งเราอาจจะใส่ใจต่ออาหารที่เราทานอย่างเต็มที่แล้ว แต่อาจจะมองข้ามเครื่องดื่มที่เราทานควบคู่ไปกับอาหารมื้อนั้นๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นน้ำอัดลมที่เพิ่งเปิดขวดใหม่ๆ หรือน้ำเปล่าที่เพิ่งแกะซีลเปิดขวดใหม่มาดื่ม หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำเปล่า หรือน้ำชาในกระติกบนโต๊ะ แต่ก็หลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่อโรคอาหารเป็นพิษไม่ได้หากทานน้ำแข็งที่ไม่สะอาด วิธีสังเกตง่ายๆ หากเป็นน้ำแข็งป่นที่ผู้ขายใส่ถังใบใหญ่ที่แช่อาหารสดรวมไปในนั้นด้วย ขอให้หลีกเลี่ยงเสีย เลือกบริโภคน้ำแข็งหลอดจากกระติกที่ใส่แต่น้ำแข็งล้วน ไม่มีการแช่อาหาร หรือของใดๆ หรือเลือกดื่มเครื่องดื่มเย็นๆ จากตู้เย็นโดยไม่ต้องใส่น้ำแข็งจะดีกว่า

     

  • อาหารหมักดอง
  • อาหารหมักดองที่อยู่ในภาชนะที่ปิดสนิท โดยเฉพาะอาหารหมักดองอาจอยู่ในบรรจุภัณฑ์ หรือกระป๋องที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่ถูกสุขลักษณะ เช่น หน่อไม้ดองในปี๊บ ผักกาดดอง เนื้อสัตว์แปรรูป อาจพบเชื้อคลอสติเดียม โบทูลินัม ที่สามารถเติบโตได้ดีในภาชนะที่ปิดสนิท มีออกซิเจนน้อย เมื่อทานอาหารที่มีเชื้อตัวนี้ อาจทำให้ท้องร่วง อาเจียน ตาพร่า กล้ามเนื้ออ่อนแรง หากอยู่ในภาวะอ่อนแรงอาจเกิดอาการหายใจล้มเหลว และเสียชีวิตได้

     

  • อาหารปรุงสุกทิ้งไว้นาน
  • แม้ว่าจะเลี่ยงอาหารดิบทุกชนิด และหันมาทานอาหารปรุงสุก 100% แล้วก็ตาม การทานอาหารที่ปรุงสุกทิ้งเอาไว้นานหลายชั่วโมง เช่น ซื้ออาหารร้านข้าวแกง หรือข้าวกล่องที่ทำเอาไว้ตั้งแต่เช้า แล้วมาทานอีกครั้งตอนเย็น โดยตลอดทั้งวันไม่ได้มีการนำไปอุ่นให้ร้อนเลยสักครั้ง ด้วยอากาศร้อนๆ แบบนี้ อาจทำให้อาหารเหล่านั้นบูดเสียได้โดยง่าย โดยเฉพาะอาหารที่มีส่วนผสมของนม กะทิ จะบูดง่ายมากกว่าอาหารประเภทอื่นๆ

     

  • เห็ดที่ไม่รู้จัก
  • อีกหนึ่งสาเหตุที่ฤดูร้อน ฤดูฝน เป็นฤดูที่พบว่าชาวต่างจังหวัดต้องเข้าโรงพยาบาลเป็นว่าเล่น มาจากการทานอาหารอันตรายที่มีพิษโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ โดยเฉพาะเห็ดที่ชาวบ้านเก็บกันเองในป่า มีหลายชนิดที่มีความคล้ายคลึงกับเห็ดชนิดที่ทานได้ ชาวบ้านจึงอาจเกิดความสับสนได้ อันตรายที่เกิดขึ้นนอกจากจะมีอาการอาหารเป็นพิษแล้ว พิษของเห็ดแต่ละชนิดอาจมีความรุนแรงจนอาจถึงขั้นทำลายระบบประสาท เป็นอัมพฤกต์ อัมพาต หรือเสียชีวิตได้เช่นกัน

    >> 15 เห็ดมีพิษ ห้ามทาน + วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น

     

    ดังนั้น ไม่ว่าจะหน้าร้อนหรือหน้าไหนๆ ควรเลือกรับประทานอาหารที่ปรุงสุก สด ใหม่ทุกมื้อ หรือถ้าจำเป็นต้องทานอาหารที่ต้องเก็บเอาไว้ ก็ควรเก็บในภาชนะที่ปิดสนิท แช่ในตู้เย็นที่อุณหภูมิเท่ากับ หรือต่ำกว่า 4.4 องศาเซลเซียสในช่องปกติ หรือ -17.8 องศาเซลเซียส ในช่องแข็ง ก่อนจะนำมาอุ่นจนเดือดแล้วค่อยนำมารับประทาน หลีกเลี่ยงการทานอาหารดิบ ผักผลไม้สดที่ไม่ได้ล้างเอง อาหารหมักดอง และน้ำแข็งป่นที่ดูไม่ได้คุณภาพ หากปฏิบัติได้ตามนี้ คุณก็ปลอดภัยจากโรคอาหารเป็นพิษแน่นอน

    ปวดท้องข้างซ้าย เสี่ยงเป็นโรคอะไรได้บ้าง พร้อมวิธีดูแลเบื้องต้น

    ปวดท้องข้างซ้าย เสี่ยงเป็นโรคอะไรได้บ้าง พร้อมวิธีดูแลเบื้องต้น

    อาการปวดท้องข้างซ้าย เป็นสัญญาณเตือนที่เกิดจากอาการผิดปกติ เรียนรู้อาการปวดท้องข้างซ้ายกันก่อน จะได้รู้ว่าอาการที่เกิดจะบ่งบอกถึงปัญหาสุขภาพอะไรได้บ้าง