
กินเนื้อสัตว์มากเกินไป เสี่ยง "มะเร็ง" จริงหรือ?
แม้ว่าในปัจจุบันเราจะยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่แท้จริงของโรคมะเร็งได้ แต่เราสามารถระบุถึงปัจจัยที่จะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งได้ และหนึ่งในสาเหตุที่หลายคนอาจเคยได้ยินคือ “เนื้อสัตว์” แต่จะเป็นเนื้อสัตว์จริงหรือไม่ หรือเป็นเนื้อสัตว์ประเภทใด Sanook Health มีคำตอบจาก อ. ดร.วนะพร ทองโฉม นักวิชาการโภชนาการ กลุ่มสาขาวิชาโภชนศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จากรายการ Rama Health Talk มาฝากกัน
เนื้อสัตว์ เพิ่มเสี่ยงโรคมะเร็ง?
เนื้อสัตว์สามารถเพิ่มความเสี่ยงของโรคมะเร็งได้จริง โดยประเภทของเนื้อสัตว์ที่อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งให้กับเราได้ ได้แก่
- เนื้อสัตว์แปรรูป เช่น ไส้กรอก กุนเชียง เบคอน แฮม ฯลฯ เพราะมีสารไนไตรท์/ไนเตรท รวมถึงเกลือ ที่จะก่อให้เกิดสารก่อมะเร็งไนโตรซามีน โดยเฉพาะเพื่อนำมาประกอบอาหารที่ผ่านความร้อนสูง เช่น ปิ้ง ย่าง ก็จะยิ่งเกิดสารก่อมะเร็งสูงเพิ่มมากขึ้นไปด้วย
- เนื้อแดง เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อสัตว์ใหญ่ มีความเป็นไปได้ว่าจะก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้บ้าง แต่ยังไม่มีหลักฐานชัดเจน จากงานวิจัยบางส่วนพบว่า ส่วนของเนื้อแดงที่ติดหนัง ติดมัน และผ่านความร้อนสูงในการปรุง เช่น ปิ้ง ย่าง อาจมีส่วนที่ทำให้เกิดมะเร็งได้
อาหารอื่นๆ ที่อาจเพิ่มความเสี่ยงโรคมะเร็งได้
อาหารให้พลังงานสูง (ในปริมาณไม่มาก) เช่น แป้งจากขนมปังในแฮมเบอร์เกอร์ แป้งพิซซ่า แป้งในอาหารทอดต่างๆ ทำให้เราได้รับไขมันอิ่มตัวเยอะ อาจทำให้เสี่ยงภาวะน้ำหนักเกิน และอาจนำไปสู่ความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งได้ด้วย นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อการทำงานของระบบสืบพันธุ์ ระบบทางเดินอาหาร และระบบในร่างกายอื่นๆ ได้อีกด้วย