เนื้อหาในหมวด สุขภาพ

อันตรายจากการติด \

อันตรายจากการติด "หวาน" นอกจากโรคเบาหวาน

หากนึกถึงอาหารหวานๆ น้ำตาลสูงๆ อาจคิดว่าเป็นสาเหตุของโรคเบาหวาน แต่จริงๆ แล้วยังมีอีกหลายโรคที่อันตรายต่อสุขภาพที่มาจากอาหารหวานๆ และหากเราลดพฤติกรรมติดหวานได้ เราก็สามารถลเสี่ยงโรคร้ายต่างๆ ได้อีกมากมายเช่นกัน

ทำไมคนเราถึง “ติดหวาน”

สารให้ความหวานจะเข้าไปกระตุ้นการหลั่งโดพามีน หรือฮอร์โมนแห่งความสุข ทำให้เกิดอาการเสพติด และรู้สึกอยากกินของหวานอยู่ตลอด แม้ว่าการกินของหวานจะทำให้คุณรู้สึกมีความสุข

ติดหวาน สาเหตุโรคเบาหวาน?

ที่เราคุ้นเคยกันมาอย่างยาวนานว่า หากกินอาหารหวานเยอะๆ เราอาจเป็นโรคเบาหวานได้ จริงๆ แล้วสาเหตุของโรคเบาหวานไม่ได้มาจากอาหารหวานเพียงอย่างเดียว แต่แตกต่างกันไปตามโรคเบาหวานแต่ละประเภท

เบาหวานประเภทที่ 1 พบได้น้อย ประมาณร้อยละ 5 ของผู้ป่วยเบาหวานไทย ประเภทนี้เกิดจากตับอ่อนไม่สามารถสร้างอินซูลินได้ จึงต้องฉีดอินซูลินอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะขาดอินซูลิน และไม่ให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงจนเกิดไป เพราะอาจหมดสติ และเสียชีวิตได้อย่างเฉียบพลัน มักพบในเด็กและวัยรุ่น

เบาหวานประเภทที่ 2 พบได้มาก ประมาณร้อยละ 95 ของผู้ป่วยเบาหวานไทย และส่วนใหญ่จะเป็นในกลุ่มคนอายุ 45 ปีขึ้นไป เกิดจากตับอ่อนไม่สามารถสร้างอินซูลินไปใช้ได้อย่างเพียงพอ และร่างกายเกิดภาวะดื้ออินซูลิน ประเภทนี้มักไม่แสดงอาการอย่างเฉียบพลัน แต่หากขาดการควบคุม ก็สามารถนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนเรื้อรังที่เป็นอันตรายอย่างเฉียบพลันได้

เบาหวานประเภทที่ 3 เป็นเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ (เบาหวานวินิจฉัยระหว่างไตรมาสที่ 2 หรือ 3 ของการตั้งครรภ์ โดยที่ไม่ได้เป็นเบาหวานก่อนหน้า)

เบาหวานประเภทที่ 4 เป็นเบาหวานชนิดที่เกิดจากสาเหตุอื่นๆ เช่น ความผิดปกติของสารพันธุกรรม, จากยา, โรคของทางตับอ่อน เช่น cystic fibrosis เป็นต้น

สาเหตุของโรคเบาหวาน จึงมีมากกว่าการกินหวานมากๆ เช่น

  • กรรมพันธุ์
  • น้ำหนักเกิน อ้วน ขาดการออกกำลังกาย
  • อายุที่มากขึ้น เสี่ยงเบาหวานมากขึ้น
  • เป็นผู้ป่วยโรคของตับอ่อน เช่น ตับอ่อนอักเสบ หรือเคยได้รับการผ่าตัดตับอ่อน
  • การติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น หัด หัดเยอรมัน คางทูม ซึ่งมีผลต่อการทำงานของตับอ่อน
  • การได้รับยาบางชนิด ทำให้มีการสร้างน้ำตาลมากขึ้นหรือการตอบสนองของอินซูลินได้ไม่ดี
  • การตั้งครรภ์ เนื่องจากมีการสร้างฮอร์โมนจากรกหลายชนิด ซึ่งมีผลยับยั้งการทำงานของอินซูลิน

ติดหวาน เสี่ยงโรคอะไรบ้าง?

นอกจากเบาหวานแล้ว การบริโภคน้ำตาลมากๆ (รวมถึงอาหารที่มีส่วนผสมของแป้ง คาร์โบไฮเดรต) ยังเพิ่มความเสี่ยงต่ออันตรายอื่นๆ อีกมากมาย เช่น

  • โรคอ้วน

ความหวานจะทำให้รู้สึกหิวมากขึ้น และไม่รู้สึกอิ่ม คุณจะรู้สึกว่า กินเท่าไรก็ไม่พอเสียที และมีน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นได้อย่างง่ายดายโดยไม่รู้ตัว

  • ความดันโลหิตสูง 

น้ำตาล ทำให้ฮอร์โมนแคทีโคลามีน และกรดยูริกสูง ซึ่งต่างก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงทั้งสิ้น

  • โรคหัวใจ 

อาหารที่มีน้ำตาลสูง เป็นตัวเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจ เพราะน้ำตาลมีผลต่อกระบวนการสูบฉีดของหัวใจ เพิ่มระดับไตรกลีเซอไรด์ ไขมันเลว กลูโคส และอินซูลินในกระแสเลือด

  • โรคหลอดเลือดหัวใจ

เมื่อกินอาหารประเภทแป้ง และน้ำตาลมากๆ จะทำให้เกิดการสะสมไตรกลีเซอไรด์ขึ้นในร่างกาย ทำให้ปริมาณไขมันในเลือดสูงขึ้น เสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจต่างๆ ได้

  • ฟันผุ

น้ำตาลย่อยง่าย แบคทีเรียในช่องปากจึงสามารถเพิ่มจำนวนได้อย่างรวดเร็ว จนเป็นสาเหตุของปัญหาในช่องปากต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ฟันผุ เคลือบฟันกัดกร่อน โรคเหงือก และกลิ่นปาก

เลี่ยงของหวาน น้ำหวาน เพิ่มน้ำเปล่า

นอกจากขนมหวานแล้ว น้ำหวาน เครื่องดื่มต่างๆ ก็มักเป็นอาหารที่มีปริมาณน้ำตาลสูง นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากข้อมูลสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย พบว่า คนไทยกินน้ำตาลมากถึงวันละ 25 ช้อนชา ซึ่งมากกว่าปริมาณที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดไว้ที่ไม่เกินวันละ 6 ช้อนชา ถึงกว่า 4 เท่า 

นอกจากนี้ ข้อมูลจากการศึกษาเครื่องดื่มที่ไม่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ต่อพฤติกรรมการบริโภคของประชาชน โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ปี 2562 พบว่า โดยเฉลี่ยในแต่ละวันคนไทยดื่มเครื่องดื่มที่ผสมน้ำตาลเฉลี่ยกว่า 3 แก้ว โดยเฉพาะเด็กอายุ 6 -14 ปี เป็นกลุ่มที่ดื่มเครื่องดื่มที่ผสมน้ำตาลเฉลี่ยต่อสัปดาห์มากที่สุด เครื่องดื่มที่ผสมน้ำตาลที่วางจำหน่ายในประเทศไทยพบมีปริมาณน้ำตาลสูงมากเฉลี่ย 9 – 19 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร ขณะที่ปริมาณที่เหมาะสมคือไม่ควรมีน้ำตาลมากกว่า 6 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร

ดังนั้น จึงอยากรณรงค์ให้คนไทยลดการดื่มเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลสูง และหันมาดื่มน้ำเปล่ากันให้มากขึ้น เพราะในหลายๆ ครั้ง แค่น้ำเปล่าก็มากเพียงพอที่จะทำให้ร่างกายสดชื่น ดับกระหายได้ดี โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งเครื่องดื่มหวานๆ แต่หากต้องการดื่มเครื่องดื่มที่ผสมน้ำตาล เช่น ชานม ชาเขียว กาแฟ โกโก้ หรือ นมเย็น แนะนำสั่งสูตรหวานน้อย เพื่อลดปริมาณน้ำตาลที่จะได้รับในแต่ละแก้ว หรือลดขนาดเครื่องดื่มเป็นขนาดเล็กลง

หญ้าหวาน คืออะไร ดีกับสุขภาพจริงไหม สรรพคุณ โทษ และข้อควรระวังที่ควรรู้

หญ้าหวาน คืออะไร ดีกับสุขภาพจริงไหม สรรพคุณ โทษ และข้อควรระวังที่ควรรู้

หญ้าหวาน สารให้ความหวานจากธรรมชาติ มีทั้งประโยชน์และข้อควรระวัง รู้ไว้ก่อนใช้เพื่อลดความเสี่ยงและได้สุขภาพที่ดีกว่าเดิม