
10 เคล็ดลับเตรียมตัวก่อน “นอน” เพื่อให้หลับสบายตลอดคืน
หากคุณเป็นคนนอนหลับยาก หรือตื่นกลางดึกเสมอ ลองทำตามข้อปฏิบัติ 10 ประการการนอนที่ถูกหลักอนามัย (sleep hygiene) สำหรับผู้ใหญ่ เพื่อการนอนหลับพักผ่อนให้ได้ประสิทธิภาพอย่างเต็มที่
อาจารย์ ดร.กภ.ธวัชชัย ลักเซ้ง สาขากายภาพบำบัดระบบประสาท สำนักวิชาสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ระบุว่า เราทุกคนคงทราบกันดีอยู่แล้วว่าการนอนเป็นสิ่งสำคัญในชีวิตของคนเราเป็นอย่างมาก โดยประมาณ 1 ใน 3 ของช่วงชีวิตของเราใช้ไปกับการพักผ่อนนอนหลับ หากสมมติว่าคนเรามีอายุเฉลี่ยยืนยาวถึง 80 ปี เราก็จะสามารถคิดชั่วโมงการนอนออกมาได้ประมาณ 26.67 ปีเลยทีเดียว แต่ใช่ว่าในแต่ละช่วงอายุจะต้องการการนอนหลับเท่ากันซะทีเดียว เมื่อแรกเกิดอาจต้องการการนอนหลับมาก และจำนวนชั่วโมงการนอนหลับนี้ก็จะค่อยๆ ลดลงตามอายุที่มากขึ้น กล่าวคือ
- เด็กแรกเกิด ต้องการการนอนหลับตั้งแต่ 20 ชั่วโมงขึ้นไป
- เด็กขวบปีแรก ต้องการการนอนหลับ 12 ชั่วโมงขึ้นไป
- เด็กวัยประถม ต้องการการนอนหลับ ประมาณ 9-11 ชั่วโมง
- เด็กวัยรุ่น ต้องการการนอนหลับ ประมาณ 10 ชั่วโมง
- วัยมหาวิทยาลัย ต้องการการนอนหลับ ประมาณ 7-9 ชั่วโมง
- วัยผู้ใหญ่ตอนต้น ต้องการการนอนหลับ ประมาณ 7-9 ชั่วโมง
- วัยผู้ใหญ่ตอนกลางถึงตอนปลาย ต้องการการนอนหลับ ประมาณ 7-8 ชั่วโมง หรือน้อยกว่านั้น
ปัญหาการนอนหลับมีมากน้อยเพียงใด
จากข้อมูลของกรมสุขภาพจิตในปี 2563 พบว่า คนไทยมีปัญหาเรื่องนอนไม่หลับประมาณ 19 ล้านคน คนส่วนมากจะมีอาการนอนไม่หลับ 1 หรือ 2 คืน แต่บางครั้งอาจเกิดขึ้นนานเป็นสัปดาห์ เดือน หรือ ปี โรคนอนไม่หลับมักเกิดขึ้นในเพศหญิงและผู้สูงอายุ
จะเกิดอะไรขึ้นหากเรามีปัญหาการนอนหลับหรือนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ
อาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้
การนอนน้อย จะทำให้ง่วงนอนในตอนกลางวันและอาจจะหลับในได้ หากการหลับในเกิดในขณะที่ขับรถ ขณะปฏิบัติงานกับเครื่องจักรที่อันตรายหรือทำงานอยู่บนที่สูง อาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุและอาจจะเป็นอันตรายแก่ชีวิตได้
ทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น
การนอนน้อยต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานาน จะส่งผลกระตุ้นต่อมหมวกไตชั้นนอกให้สร้างฮอร์โมนที่เพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดและกระตุ้นฮอร์โมนที่ทำหน้าที่กักเก็บโซเดียมในร่างกาย เป็นสาเหตุให้ร่างกายมีการบวมน้ำ น้ำหนักขึ้นได้
ทำให้ความทรงจำแย่ลง
การนอนหลับไม่เพียงพอจะส่งผลกระทบต่อสมอง ความทรงจำและการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และทำให้ความทรงจำแย่ลงได้
ส่งผลให้ความต้องการทางเพศลดลง
การนอนหลับที่ไม่เพียงพอจะทำให้ระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (ฮอร์โมนเพศชายชนิดหนึ่ง) ลดลงจากปกติ ส่งผลให้ความต้องการทางเพศลดลงนั่นเอง
ทำให้ภูมิต้านทานลดลง
การนอนน้อยต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานส่งผลให้ภูมิต้านทานของร่างกายลดลง ป้องกันและต่อสู้กับเชื้อโรคต่างๆ ได้น้อยลงและเกิดการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น