ประกันสังคม จ่อชง ครม. เยียวยาลูกจ้างว่างงานเพิ่ม 75% ของค่าจ้างถึงสิ้นปี
เว็บไซต์ thebangkokinsight รายงานว่า จากกรณีที่สำนักงานประกันสังคมได้รับอนุมัติให้จ่ายสิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน เนื่องจากเหตุสุดวิสัย ในกรณีที่ลูกจ้างผู้ประกันตนไม่ได้ทำงานหรือนายจ้างไม่ให้ทำงาน อันเนื่องมาจากสัมผัสหรือใกล้ชิดผู้ติดเชื้อโควิด-19 หรือเนื่องจากนายจ้างหยุดประกอบกิจการเอง หรือหยุดประกอบกิจการตามคำสั่งของทางราชการ ซึ่งทำให้ผู้ประกันตนได้รับผลกระทบและไม่ได้รับค่าจ้างสิทธิประโยชน์ โดยผู้ประกันตนจะได้รับเงินกรณีว่างงาน 62% ของค่าจ้างรายวันไม่เกิน 90 วันนั้น
ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ตนเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติการจ่ายเงินให้กับผู้ประกันตนที่ว่างงานจากเหตุสุดวิสัยเพิ่มเป็น 75% ของค่าจ้างรายวัน ยาวไปจนถึงสิ้นปี จากเดิมที่จ่าย 62% ของค่าจ้างรายวัน เพียง 3 เดือน ระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษาภาคม 2563 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ซึ่งเกิดจากภาวะเศรษฐกิจที่มีแววว่าจะแย่ลงและอาจจะมีผู้ตกงานเพิ่มขึ้น
นอกจากจะเสนอ ครม. ช่วยลูกจ้างแล้ว นายจ้างก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน จึงเตรียมเสนอลดอัตราการเงินจ่ายเงินสมทบของนายจ้างเหลือเพียง 1% จากเดิมจ่าย 4% เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ทุกกลุ่ม ไม่เฉพาะแค่ลูกจ้าง
ม.ร.ว.จัตุมงคล กล่าวถึงความคืบหน้าของการจ่ายเงินสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานจากไวรัสโควิด-19 ว่า ตนได้สั่งการให้สำนักงานประกันสังคมเร่งจ่ายเงินให้ผู้ว่างงานที่ยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ว่างงานจากเหตุสุดวิสัย ให้เสร็จภายในวันที่ 15 พฤษภาคมนี้
โดยเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคมที่ผ่านมา มีผู้ยื่นข้อรับสิทธิ์จำนวน 990,523 ราย เจ้าหน้าที่วินิจฉัยอนุมัติแล้ว 492,273 ราย เป็นงิน 2,563.612 พันล้านบาท และมีลูกจ้างที่ว่างงาน 289,104 ราย ที่ยังรอนายจ้างเข้ามารับรองสิทธิ์ ซึ่งกลุ่มนี้สำนักงานประกันสังคมและเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานจะส่งหนังสือแจ้งเตือนนายจ้างขอให้เข้ามารับรองการหยุดงานของลูกจ้างภายในวันที่ 8 พฤษภาคมนี้ ไม่เช่นนั้นจะถูกปฏิเสธการรับเงิน
ส่วนลูกจ้างและผู้ประกันตนที่ได้รับการวินิจฉัยว่าไม่ได้รับสิทธิประมาณ 1 แสนรายนั้น สำนักงานประกันสังคมได้เตรียมความพร้อมรองรับการอุทธรณ์ไว้แล้ว โดยจะเปิดให้ยื่นอุทธรณ์ในวันที่ 18 พฤษภาคมนี้เป็นต้นไป และต้องยื่นอุทรณ์ภายใน 30 วันหลังถูกปฏิเสธ ทั้งนี้ ต้องยื่นผ่านสำนักงานประกันสังคมทุกจังหวัดที่ลูกจ้างทำงานอยู่หรือส่งไปรษณีย์เท่านั้น ไม่สามารถยื่นอุทรณ์ผ่านระบบออนไลน์ได้