เนื้อหาในหมวด สุขภาพ

6 พฤติกรรม เสี่ยง “ฟันสึกกร่อน-เสียวฟัน”

6 พฤติกรรม เสี่ยง “ฟันสึกกร่อน-เสียวฟัน”

ตอนเด็กๆ เราอาจไม่ค่อยใส่ใจกับสุขภาพฟันกันสักเท่าไร จนทำให้หลายคนฟันผุกันตั้งแต่อายุยังไม่ขึ้น 2 หลัก แต่มันก็แค่ฟันน้ำนม หลุดไปก็มีฟันใหม่แข็งแรงกว่าเดิมผุดขึ้นมา แต่เมื่อโตแล้ว ฟันไม่มีผลัดเปลี่ยนชีวิตกันอีก พังแล้วพังเลย การดูแลฟันจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นกว่าที่คุณคิดมาก เพราะหากฟันมีปัญหาแล้ว นอกจากเราจะหมดอร่อยกับอาหารตรงหน้าได้ง่ายๆ แล้ว ค่ารักษาฟันอาจทำให้คุณกุมขมับไปหลายวันเลยล่ะ

อาการฟันสึกกร่อน และเสียวฟัน เป็นอีกหนึ่งอาการที่ถึงแม้จะมีความเจ็บปวดทรมานน้อยกว่าฟันผุ หรือโรคทางช่องปากอื่นๆ แต่ก็สร้างความลำบากในการทานอาหารของเราไม่น้อยเหมือนกัน

 

ฟันสึกกร่อน คืออะไร?

ฟันสึก หรือฟันกร่อน เป็นอาการที่ส่วนของฟิวหน้าที่เคลือบฟันอยู่ด้านนอกหลุดลอกหายไป ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของลักษณะฟัน เช่น ฟันลึกเป็นหลุม จนเศษอาหารเข้าไปติดได้ง่ายๆ ก่อให้เกิดอาการฟันผุได้หากไม่ดูแลความสะอาดให้ดีพอ หรือหากผิวเคลือบฟันสึกกร่อนมากขึ้นจนถึงเนื้อฟัน อาจทำให้เกิดอาการเสียวฟันขึ้นได้ โดยจะสร้างความเจ็บปวดแบบเสียวแปล๊บ เสียวจิ๊ดๆ เมื่อทานอาหารเย็นจัด ร้อนจัด หรือเคี้ยวอาหารที่มีความเหนียวหรือแข็ง

 

ฟันซี่ไหน ที่มักมีอาการสึก กร่อน เสียวฟัน?

ฟันที่ส่วนใหญ่จะสึก กร่อน หรือมีอาการเสียวฟัน สามารถเกิดขึ้นได้กับฟันทุกซี่ แต่ที่พบบ่อยจะเป็นฟันซี่หน้าสุดที่เป็นส่วนในการกัด ฉีกอาหาร ซึ่งมักจะถูกใช้งานโดยไม่ระมัดระวัง และฟันด้านที่ใช้เคี้ยวอาหารทั้งหมด เพราะมีการสัมผัส ถูกันไปมาอย่างรุนแรงกับอาหาร และกับฟันเคี้ยวบดด้วยกันเองเสมอๆ

 tooth-erosion-2

 

พฤติกรรมเสี่ยง ฟันสึกกร่อน เสียวฟัน

  • ทานอาหารรสเปรี้ยว
  • หากชอบทานอาหารรสเปรี้ยว ส้ม มะนาว มะม่วงเปรี้ยว มะดัน มะขาม หรืออาหารหมักดองบ่อยๆ อาจเป็นการเร่งให้สารเคลือบฟันด้านนอกหลุดลอกได้ ลองสังเกตดูว่าหากระหว่างที่คุณทานมีอาการเข็ดฟัน เสียวฟันเบาๆ นั่นแสดงว่าสุขภาพฟันของคุณกำลังแย่ ยิ่งหันไปทานอาหารรสหวานจัด หรือมีความเย็นจัดต่อเลยทันที จะยิ่งรับรู้ถึงความรู้สึกเสียวฟันได้มากขึ้น

     

  • ทานอาหารแข็ง และเหนียว
  • การใช้งานฟันที่อยู่ในส่วนของการเคี้ยวมากเกินไป เช่น การทานเนื้อย่างเหนียว เคี้ยวกระดูกอ่อนเป็นประจำ ก็เป็นการกระตุ้นให้สารเคลือบฟันหลุดลอกออกมาได้ง่ายขึ้นเช่นเดียวกัน

     

  • ดื่มน้ำอัดลม
  • นอกจากอาหารรสเปรี้ยวแล้ว ยังมีน้ำอัดลมที่สามารถกัดกร่อนผิวหน้าฟันให้หลุดลอกได้ แถมยังเป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ของอาการฟันผุร่วมด้วยอีกต่างหาก

     

  • แปรงฟันแรงเกินไป / ใช้แปรงสีฟันที่มีขนแปรงแข็งเกินไป
  • หากแปรงฟันแรงเกินไป นานเกินไป หรือใช้แปรงสีฟันที่มีขนแปรงแข็งเกินไป แทนที่ฟันจะสะอาดสมใจ อาจทำให้สารเคลือบฟันด้านนอกหลุดออกไปอย่างช้าๆ เรื่อยๆ นอกจากนี้ยังอาจเป็นสาเหตุของอาการเหงือกร่น เป็นการเร่งให้เกิดอาการเสียวฟันมากยิ่งขึ้น

     

  • นอนกัดฟัน
  • การนอนกัดฟันกรอดๆ อย่างรุนแรง ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่อาจทำให้ฟันสึกกร่อนได้โดยไม่รู้ตัว

     

  • ว่ายน้ำเป็นประจำ
  • ข้อนี้อาจจะแปลกสักหน่อย แต่พบนักกีฬาว่ายน้ำที่มีอาการฟันสึกกร่อน เสียวฟัน จากการที่ฟันถูกกัดกร่อนจากน้ำในสระที่ผสมสารคลอรีน เพราะคลอรีนมีคุณสมบัติเป็นกรดอ่อนๆ จึงสามารถกัดกร่อนผิวเคลือบฟันชั้นนอกได้ หากมีการสัมผัสกันบ่อยๆ

     tooth-erosion

    วิธีป้องกันฟันสึกกร่อน เสียวฟัน

  • หลีกเลี่ยงการทานอาหารรสเปรี้ยวจัด ไม่ควรดื่มน้ำอัดลมเป็นประจำ หรือหลังจากทานเสร็จควรรีบบ้วนปากด้วยน้ำเปล่า เพื่อไม่ให้กรดอ่อนๆ อยู่ที่ฟันนานจนเกินไป

  • หลีกเลี่ยงการทานอาหารที่มีความเหนียว หรือแข็งมากเกินไป

  • เลือกใช้แปรงสีฟันที่มีขนแปรงนุ่มกำลังดี ไม่แข็งจนเกินไป แปรงฟันไม่หนักมือมากจนเกินไป และแปรงฟันให้ถูกวิธี วิธีแปรงฟันคือ แปรงจากโคนฟันที่ติดกับเหงือกออกไปที่ปลายฟัน คือฟันบนแปรงจากบนลงล่าง ฟันล่างแปรงจากล่างขึ้นบน โดยใช้แรงกดแปรงเบาๆ

  • ใช้ยาสีฟันที่มีส่วนผสมในการป้องกันการเสียวฟัน

  • ไม่ควรแปรงฟันทันทีหลังทานอาหาร โดยเฉพาะอาหารที่มีรสเปรี้ยวจัด หรือเป็นกรดอ่อนๆ ควรบ้วนน้ำเปล่าทิ้งทันทีที่ทานอาหาร แต่ควรรออย่างน้อย 30 นาทีแล้วค่อยแปรงฟัน เพราะหากแปรงฟันทันทีจะทำให้สารเคลือบฟันหลุดได้ง่าย

  • หากมีปัญหานอนกัดฟัน ควรปรึกษาแพทย์

  • สวมอุปกรณ์ป้องกันฟันระหว่างว่ายน้ำ

  • ควรพบทันตแพทย์ทุกๆ 6 เดือน เพื่อตรวจเช็กสุขภาพฟันอยู่เสมอ