ผู้ประกอบการร้านอาหารลั่น “เปิดให้เล่นดนตรีได้ ยังไงก็ไม่คุ้ม”
หลังจากศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) มีมติเห็นชอบอนุญาตให้เล่นดนตรีในร้านอาหารได้ แต่จำกัดจำนวนของนักดนตรีไม่เกิน 5 คน และต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ยกเว้นนักร้องที่สามารถถอดหน้ากากอนามัยได้เฉพาะตอนร้องเพลงเท่านั้น ขณะเดียวกันก็ยังคงห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้าน ก็มีเสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการร้านอาหารถึงมาตรการผ่อนคลายดังกล่าว โดยระบุว่ามาตรการเปิดให้เล่นดนตรีในร้านอาหารไม่ใช่การช่วยเหลือผู้ประกอบการที่แท้จริง
จอจาน เจ้าของร้าน Area 11 ให้สัมภาษณ์กับ Sanook ว่า การอนุญาตให้เล่นดนตรีในร้านอาหาร แต่ห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่เป็นผลดีกับผู้ประกอบการ เนื่องจากผู้ประกอบการยังต้องแบกรับค่าจ้างนักดนตรี แต่กลับไม่สามารถขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเชื่อมโยงกับการขายอาหารและเครื่องดื่มชนิดอื่น ๆ ดังนั้น การผ่อนปรนให้สามารถขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้จึงมีความจำเป็นพอ ๆ กับการอนุญาตให้เล่นดนตรีในร้านอาหารได้
“ถ้าคุณไม่อนุญาตให้ขายแอลกอฮอล์ ใครจะมาซื้อน้ำแข็งถังละ 30 บาท 50 บาท ใครจะซื้อมิกซ์เซอร์ ใครจะมาซื้อเฟรนช์ฟราย มันต้องคู่กับการขายแอลกอฮอล์เท่านั้น”
“ไม่คุ้มครับ ไม่มีใครเขาทำ มีแต่เศรษฐีทำ ตอนนี้ประชาชน รวมถึงผู้ประกอบการร้านอาหารแทบจะแทะกระทะกินกันอยู่แล้ว การที่ ศบค. ออกมาตรการ และไม่มีพิจารณาผ่อนคลายร้านอาหารที่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อันนี้เป็นอะไรบ้าที่สุด เพราะสุดท้ายประชาชนเขาหิวโหย เขาก็สั่งกลับบ้าน เลิกสี่ทุ่ม เข้าก็กลับบ้านไปนั่งกิน หลบกินกันได้อยู่ดี” คุณจอจานชี้
นอกจากมาตรการผ่อนคลายการเล่นดนตรีในร้านอาหารแล้ว คุณจอจานยังแสดงความคิดเห็นไปถึงเรื่องมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการที่ไม่ตรงจุดของภาครัฐ ซึ่งเขาก็คาดหวังว่าจะมีการช่วยเหลือผู้ประกอบการอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น
“วันนี้ยังไม่มีการพูดเรื่องชดเชยร้านที่เป็นร้านอาหารกลางคืน แล้วก็มาตรการชดเชยที่เกิดขึ้น เช่น เยียวยานายจ้างตามมาตรา 33 นับหัวลูกจ้าง หัวละ 3,000 บาท มันเป็นอะไรที่เยียวยาไม่ตรงจุด แล้วก็น้อยเกินไป เพราะปัญหาค่าแรงก็ส่วนหนึ่ง แต่ส่วนใหญ่ที่ต้องแบกรับคือค่าเช่าที่ แต่รัฐบาลไม่รู้ประชุมปรึกษาหารือใคร แต่ว่าถ้ามาถามร้านอาหารตรง ๆ ไม่มีใครอยากได้หรอก” คุณจอจานกล่าวปิดท้าย