แอมเนสตี้ร้องรัฐบาลไทยแก้ปัญหาสิทธิมนุษยชน “ปริญญา” ชี้เลือกตั้งไม่เปลี่ยนประเทศ เหตุติดล็อก ส.ว.
Highlight
- รายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลก ประจำปี 2565/66 ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เน้นย้ำถึงภาวะสองมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นทั่วโลก และความล้มเหลวของประชาคมโลกที่จะรวมตัวสนับสนุนหลักการนำหลักสิทธิมนุษยชนและคุณค่าอันเป็นสากลมาใช้อย่างต่อเนื่อง
- สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ซึ่งมีหลายประเด็นที่ยังน่าเป็นห่วง เช่น สิทธิในเสรีภาพการชุมนุม สิทธิในเสรีภาพการแสดงออก สิทธิในเสรีภาพการสมาคม การบังคับบุคคลให้สูญหาย การทรมาณและการปฏิบัติที่โหดร้าย สิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง สิทธิของผู้ลี้ภัย ผู้ขอลี้ภัยและผู้อพยพ รวมถึงการเลือกปฏิบัติ
- ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขึ้นกล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “เลือกตั้ง 66: อนาคตประเทศไทยและก้าวต่อไปของสิทธิมนุษยชน” ระบุว่าการเลือกตั้งทั่วไปครั้งนี้จะไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง หาก ส.ว. ไม่โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ตามเจตนารมณ์ของประชาชน
ในช่วงปีที่ผ่านมา สถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลกทวีความรุนแรงและน่าเป็นห่วงมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ สงครามเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วโลก เช่นเดียวกับปัญหาเรื่องการลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ซึ่งแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้จัดแถลงข่าวเปิดตัว “รายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลก ประจำปี 2565/66” เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมเดอะสุโกศล กรุงเทพฯ โดยได้เชื่อมโยงให้เห็นสถานการณ์มนุษยชนตลอดปี 2565 ใน 156 ประเทศ พร้อมเรียกร้องให้มีการดำเนินการ นำเสนอขึ้นตอนที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถดำเนินการ เพื่อรับมือกับความท้าทายที่เกิดขึ้นและพัฒนาชีวิตของผู้คนทั่วโลก
สถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลกน่ากังวล
ฐิติรัตย์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล ประธานกรรมการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวถึงภาวะสองมาตรฐานที่ด้านสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นทั่วโลก และความล้มเหลวของประชาคมโลกในการรวมตัวสนับสนุนการนำหลักสิทธิมนุษยชนและคุณค่าอันเป็นสากลมาใช้อย่างต่อเนื่อง ท่าทีแข็งกร้าวของชาติตะวันตกต่อการรุกรานยูเครนของรัสเซีย ซึ่งเป็นภาพที่ตรงข้ามอย่างชัดเจนกับพันธมิตรบางประเทศ เช่น ในอิสราเอล ซาอุดีอาระเบีย และอียิปต์ ซึ่งไม่ได้มีปฏิบัติการจริงจังเพื่อแก้ไขการละเมิดที่ร้ายแรงเลย รวมไปถึงประเด็นเรื่องการคุกคามสิทธิและเสรีภาพของผู้หญิงในหลายประเทศ
“วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจส่งผลให้ราคาอาหารและเชื้อเพลิงปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และเพิ่มแรงกดดันต่อบริการสุขภาพและบริการทางสังคมอื่น ๆ ซึ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดคือบุคคลชายขอบ ท่ามกลางความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มสูงขึ้น ผู้หญิง เด็กผู้หญิง และผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ต้องเผชิญกับความรุนแรงและการเลือกปฏิบัติบนฐานเพศสภาวะ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลล้มเหลวในการสนับสนุนประชาชนเนื่องจากสถานะของพวกเขาย่ำแย่ลง”
“สถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลกที่ได้รับผลกระทบ ส่วนหนึ่งเกิดจากการละเมิดกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ รวมถึงการใช้อาวุธและกำลังทางการทหาร ซึ่งตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐหรือบริษัทต่าง ๆ มีผลอย่างมากต่อการละเมิด เช่นเดียวกับผลกระทบต่ออัลกอริทึมของแพลตฟอร์มออนไลน์ ที่กระทบต่อการสร้างความเกลียดชังทางเชื้อชาติ” ฐิติรัตน์กล่าว
แอมเนสตี้ยื่น 7 ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทย
ด้านปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ชี้ให้เห็นสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ซึ่งมีหลายประเด็นที่ยังน่าเป็นห่วง เช่น สิทธิในเสรีภาพการชุมนุม สิทธิในเสรีภาพการแสดงออก สิทธิในเสรีภาพการสมาคม การบังคับบุคคลให้สูญหาย การทรมาณและการปฏิบัติที่โหดร้าย สิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง สิทธิของผู้ลี้ภัย ผู้ขอลี้ภัยและผู้อพยพ รวมถึงการเลือกปฏิบัติ
“สิทธิในเสรีภาพด้านการแสดงออก การสมาคม และการชุมนุมโดยสงบถูกโจมตีอีกครั้ง กฎหมายใหม่เพื่อป้องกันการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย รวมถึงการบังคับบุคคลให้สูญหาย ยังไม่พอที่จะคุ้มครองบุคคลจากอาชญากรรมเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้ลี้ภัยที่หลบหนีมาจากเมียนมายังคงถูกจับกุม ควบคุมตัว และถูกรีดไถโดยเจ้าหน้าที่ไทยบริเวณพรมแดนประเทศไทย-เมียนมา ชาวมุสลิมเชื้อสายมลายูในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังตกเป็นเป้าหมายของการเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอในวงกว้างและถูกเลือกปฏิบัติ”
พร้อมกันนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้ส่งข้อเรียกร้องถึงรัฐบาลไทย จำนวน 7 ข้อ ดังนี้
“เรารายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนเพื่อการรับรู้ร่วมกัน เพื่อจะมีพื้นที่พูดคุยปรึกษาว่าเราจะสร้างความเปลี่ยนแปลงเรื่องสิทธิมนุษยชนร่วมกันอย่างไรได้บ้าง” ปิยนุชกล่าว
ในช่วงท้าย แอมเนสตี้ ประเทศไทย ได้มอบรายงานฉบับดังกล่าว พร้อมยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทย โดยมีเกิดโชค เกษมวงศ์จิตร รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม เป็นตัวแทนรัฐบาลไทยรับมอบรายงานและข้อเรียกร้องจากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล
การเลือกตั้งจะมีความหมาย หาก ส.ว. เคารพเสียงของประชาชน
ในงานเดียวกันนี้ ยังมีปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “เลือกตั้ง 66: อนาคตประเทศไทยและก้าวต่อไปของสิทธิมนุษยชน” โดย ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเห็นว่าจากรายงานของแอมเนสตี้ แสดงให้เห็นปัญหาน่ากังวลใจมากมาย แต่การจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ ต้องเริ่มต้นจากเรื่องสำคัญ นั่นคือ “กระบวนการยุติธรรม”
ผศ.ดร.ปริญญา ระบุว่า รัฐธรรมนูยไทยยึดหลัก “สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์” แต่ในทางปฏิบัติกลับใช้หลัก “สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผิด” ดังจะเห็นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) ที่ระบุให้การประกันตัวผู้ต้องหา ใช้คำว่า “ปล่อยชั่วคราว” ไม่ใช่ “ขังชั่วคราว” ซึ่งขัดกับหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ เนื่องจากหลักนี้เริ่มเขียนในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2492 และในทุกรัฐธรรมนูญหลังจากนั้น แต่ไม่เคยมีการแก้ไข ป.วิอาญา ซึ่งสร้างวิธีคิดที่จะทำให้ผู้พิพากษามีแนวโน้มไม่ปล่อยตัวผู้ต้องหา ตัวอย่างกรณีที่ศาลบอกว่าไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราวเพราะคดีมีอัตราโทษสูงนั้น ไม่อยู่ในเงื่อนไขที่จะปล่อยชั่วคราวตามที่กฎหมายระบุ
“เหตุผลของศาลที่บอกว่าคดีมีอัตราโทษสูง หรือพฤติการณ์ของคดีเป็นเรื่องร้ายแรง ไม่อยู่ในเหตุผลที่จะไม่ปล่อยชั่วคราว ศาลไทยทำผิดกฎหมาย นี่คือปัญหาของประเทศไทย เพราะศาลมีทัศนคติที่จะเชื่อตำรวจและอัยการ มากกว่าเชื่อผู้ต้องหา ศาลลืิมไปว่าหน้าที่ของศาลคือการปกป้องคุ้มครองสิทธิของประชาชนจากการกล่าวหาของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ศาลมีหน้าที่ปกป้องสิทธิมนุษยชน”
“นอกจากนี้ เรื่องความไม่เป็นอิสระของศาล ในทางปฏิบัติหลายกรณีเชื่อได้ว่ามีการแทรกแซงโดยผู้บริหารศาล จนเกิดกรณีการฆ่าตัวตายของผู้พิพากษาคณากร เพียรชนะ และเร็ว ๆ นี้ ส.ส.รังสิมันต์ โรม ก็ออกมาพูดถึงกรณี ส.ว.คนหนึ่ง ซึ่งมีการออกหมายจับโดยตำรวจ แต่วันเดียวกันนั้น ผู้บริหารศาลอาญาก็ได้เรียนตำรวจและผู้อนุมัติหมายจับมาบอกว่า ส.ว.เป็นบุคคลสำคัญ จำออกหมายจับเช่นนี้ไม่ได้ ซึ่งกรณีนี้กระทบเรื่องความเป็นอิสระของฝ่ายตุลาการ”
ผศ.ดร.ปริญญา ยังกล่าวถึงการสลายการชุมนุมที่มีการใช้กระสุนยางโดยผิดหลักการ และไม่ทำตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ที่ต้องใช้อำนาจศาลในการอนุมัติการสลายการชุมนุม โดยเฉพาะช่วงปลายปีที่แล้ว หลักการยกเลิก พ.ร.บ.ฉุกเฉิน ตำรวจก็ยังสลายการชุมนุมโดยไม่ขออำนาจศาลซึ่งผิดกฎหมาย นอกจากนี้ ยังได้กล่าวถึงเรื่องการบังคับสูญหาย ที่มีการออก พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหาย แต่มีการใช้ พ.ร.ก. ให้เลื่อนการบังคับใช้เรื่องการติดกล้องของตำรวจ ไปเป็นวันที่ 1 ตุลาคม 2566 โดยให้เหตุผลว่าจัดซื้อกล้องไม่ทัน ซึ่งผศ.ดร.ปริญญา ได้ตั้งข้อสังเกตว่าเหตุผลของการเลื่อนการบังคับใช้ อาจเป็นเพราะผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนปัจจุบัน จะเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 กันยายน 2566 และหากการเลือกตั้งเสร็จสิ้น สภาใหม่ก็ต้องกลับมาพิจารณาเรื่อง พ.ร.ก. ฉบับนี้
“ถามว่าการเลือกตั้งทั่วไปครั้งนี้จะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ผมเห็นว่ายังมีปัญหาอยู่ เพราะมีเสียง ส.ว. มากำหนดนายกฯ และไทยยังมีปัญหาเรื่อง ส.ส.งูเห่า เพราะการเลือกตั้ง 2562 พรรคพลังประชารัฐไม่ใช่พรรคที่ได้เสียงส่วนใหญ่ แล้วพลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ ได้อย่างไร ปัญหาเรื่องการใช้เงินทางการเมืองจึงหนักกว่าช่วงก่อนการรัฐประหาร ภาพที่เกิดเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ก็จะยังเกิดขึ้นในการเลือกตั้งครั้งนี้อีก ทางออกคือ ส.ว.ต้องโหวตนายกฯ ตามเจตนารมณ์ของประชาชน” ผศ.ดร. ปริญญากล่าวปิดท้าย