CMMU เผยผลสำรวจคนไทยเสนอใช้อาหารเครื่องดื่ม เป็น Soft Power ดึงรายได้เข้าประเทศ
วานนี้ (7 กันยายน 2565) วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) เผยผลสำรวจมุมมองของคนไทยในการใช้ Soft Power เพื่อส่งเสริมในการพัฒนาเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และภาพลักษณ์เพื่อสร้างพลังของประเทศ พบว่าคนไทย 73.2% ชี้ว่าควรนำเสนออาหารและเครื่องดื่ม รองลงมา 59.1% คือการบริการที่ยิ้มแย้มแจ่มใส และ 56.8% คือการเผยแพร่ศิลปะและวรรณกรรม นอกจากนี้ CMMU ได้ทำการวิจัยนำ Soft Power มาปรับใช้กับภาคธุรกิจเพื่อเพิ่มยอดขาย และคิดกลยุทธ์ SOFT ที่จะทำให้แบรนด์สินค้าแทรกซึมเข้าไปอย่างแนบเนียบในกลุ่มผู้บริโภค
ผศ.ดร.บุญยิ่ง คงอาชาภัทร หัวหน้าสาขาการตลาด วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จากข้อมูลของ Brand Finance บริษัทด้านกลยุทธ์การประเมินมูลค่าแบรนด์ชั้นนำระดับโลก ได้แบ่ง Soft Power ออกเป็น 7 หมวดหมู่ย่อย ประกอบด้วย 1. การบริหารและการปกครอง 2. ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ 3. คุณภาพความเป็นอยู่ของประชากร 4. การส่งต่อด้านมรดกและความมั่งคั่งทางวัฒนธรรม 5. การศึกษาและวิทยาศาสตร์ 6. ด้านธุรกิจและการค้า และ 7. สื่อและการสื่อสาร ทั้งนี้ Soft Power ได้นำมาใช้อย่างเด่นชัดผ่านภาพลักษณ์และการสื่อสาร ทั้งโดนตั้งใจและไม่ตั้งใจของประเทศต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม หมวดสื่อและการสื่อสาร เป็นหมวดที่มีอิทธิพลกับผู้บริโภคที่เด่นชัดที่สุด ผ่านภาพบนตร์ ซีรีส์ ดนตรี โฆษณา และการสตรีมมิ่ง เป็นต้น
จากผลสำรวจของ CMMU ต่อมุมมองคนไทยในการใช้ Soft Power ของประเทศต่าง ๆ ก็มีมุมมองที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งอเมริกาถือเป็น “ขั้วอำนาจตะวันตก” ที่มีอิทธิพลต่อทั่วทั้งโลกมากที่สุด ขณะที่จีนเป็น “ขั้วอำนาจตะวันออก” ที่มีอิทธิพลกับคนไทยมากกว่า ในส่วนของแฟชัน ไลฟ์สไตล์ และวัฒนธรรม เกาหลีใต้ยังครองตำแหน่ง “ประเทศที่มีอืทธิพลต่อคนไทยมากที่สุด” นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบว่า คนไทยอยากใช้กลยุทธ์ Soft Power เพื่อส่งเสริมในการพัฒนาเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และภาพลักษณ์เพื่อสร้างพลังของประเทศ โดย 73.2% ชี้ว่าควรนำเสนออาหารและเครื่องดื่ม รองลงมา 59.1% คือการบริการที่ยิ้มแย้มแจมใส และ 56.8% คือการเผยแพร่ศิลปะและวรรณกรรม
ด้านกีรติ ศิริมงคล นักศึกษาปริญญาโท วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมวิจัย ระบุว่า CMMU ได้สำรวจกลุ่มตัวอย่างประชาชนและวิเคราะห์ข้อมูลงานวิจัย เรื่อง “Soft Power ละมุนยังไงให้สุดปัง” เพื่อศึกษากลยุทธ์การตลาดแบบ Soft Power ถ่ายทอดผ่านสื่ออย่างไรให้มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมผู้บริโภคชาวไทย และคิดค้นกลยุทธ์ SOFT ที่ทำให้แบรนด์สินค้าแทรกซึมเข้าไปอย่างแนบเนียนในกลุ่มผู้บริโภค พร้อมข้อเสนอแนะเพื่อให้นักการตลอดและผู้ประกอบการ รวมถึงคนทั่วไปที่สนใจ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งประกอบด้วย 4 กลยุทธ์ ดังนี้
- ABSORB (S) แบรนด์ต้องแทรกซึมเข้าไปอยู่ใกล้ตัวผู้บริโภคแบบแนบเนียน ให้เชื่อมโยงกับไลฟ์สไตล์และความชื่นชอบของผู้บริโภค เพื่อให้เกิดความรู้สึกยึดโยงกับแบรนด์
- EXTRAORDINARY (O) ทำความธรรมดาให้พิเศษ แบรนด์ต้องสร้างจุดขายของตนเองได้จากสิ่งที่เรียบง่าน โดยจับลักษณะทั่วไปของแบรนด์มาสร้างสรรค์ผ่านสื่อและเนื้อหาให้น่าสนใจจนเกิดเป็นภาพลักษณ์ที่ประทับใจกลุ่มเป้าหมาย
- FAST (F) การตลาดของแบรนด์จะต้องทันกระแสและสถานการณ์เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงกับการรับรู้ของผู้บริโภค รวมถึงต้องปรับตัวให้เท่าทันพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว
- CONSISTENCY (T) การสื่อสารของแบรนด์ต้องทำอย่างต่อเนื่องและเป็นไปในทิศทางเดียวกันทุก ๆ ช่องทาง เพื่อให้เกิดความกลมกลืน ซึมซับจนนำไปสู่การสร้างภาพจำของแบรนด์ต่อไป
นอกจากกิจกรรมสัมมนา “Soft Power ละมุนยังไงให้สุดปัง” แล้ว CMMU ยังได้รับเกียรติจากผู้คร่ำหวอดในวงการ Soft Power มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ อาทิ ปิง - เกรียงไกร วชิรธรรมพร ผู้กำกับซีรีส์ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น ซีซัน 2-3 และโปรดิวเซอร์ซีรีส์แปลรักฉันด้วยใจเธอ, บุ๋ม - บุณย์ญานุช บุณบำรุงทรัพย์ อดีตหัวเรือใหญ่บาร์บีคิว พลาซ่า ปัจจุบันดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ YourNextU by SEAC และปราบ เลาหะโรจนพันธ์ Communication Director แคมเปญเลือกตั้งผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธ์ โดยทั้ง 3 ท่านได้พูดคุยถึงมุมมองที่มีต่อ Soft Power และการนำไปต่อยอด ประยุกต์ใช้เพื่อสร้างผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง รวมทั้งสะท้อนกลยุทธ์ Soft Power ในไทยที่มีมากขึ้นทุกวัน