รสชาติขมปี๋: อาหารมื้อนี้ คือเรื่องราวชีวิตผู้ลี้ภัยที่ถูกลืม
Highlight
- Sanook ไปร่วมรับประทานอาหารกลางวันจากฝีมือผู้ลี้ภัย ด้วยเมนูที่สะท้อนชีวิตผู้ลี้ภัยในประเทศที่ถูกลืม และเนื่องในโอกาสวันมนุษยธรรมโลก วันที่ 19 สิงหาคมที่ผ่านมา
- ในปี 2022 มีจำนวนผู้ถูกบังคับพลัดถิ่นหรือคนไร้รัฐ ทะลุ 112.6 ล้านคน ภายในเวลาเพียง 10 ปี โลกมีผู้พลัดถิ่นเพิ่มขึ้นถึง 35.8 ล้าน โดยในทวีปแอฟริกา ถือเป็นทวีปที่เกิดการพลัดถิ่นและมีผู้ลี้ภัยมากที่สุดในโลก
- แต่ละวิกฤติมีความต่อเนื่องยาวนานและซับซ้อนมาก ในทุกวิกฤติ ผู้ลี้ภัย ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ หรือบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ ต้องการความช่วยเหลือ และความต้องการเหล่านี้ยังอยู่ไปอีกนาน แม้วิกฤติจะจางหายไปจากหัวข้อข่าว
- UNHCR ประเทศไทย ได้เปิดตัว Empathy Emergency Fund หรือ กองทุนภาวะฉุกเฉิน ระดมทุนเพื่อสนับสนุนการทำงาน และให้ความช่วยเหลือในภาวะฉุกเฉินในพื้นที่ทั่วโลกอย่างครอบคลุมที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
ชาด เอริเทรีย บูร์กินาฟาโซ ไนเจอร์ แองโกลา มาลาวี เอธิโอเปีย ซูดาน ซูดานใต้ โมซัมบิก ฯลฯ
ประเทศเหล่านี้อาจเป็นชื่อที่คนไทยไม่ค่อยคุ้นหูเท่าไรนัก แต่ทั้งหมดข้างต้นคือส่วนหนึ่งของทวีปแอฟริกาที่กำลังเผชิญหน้ากับภาวิวิกฤติมากมาย และพวกเขากำลัง “ถูกลืม” เสมือนว่าประเทศเหล่านี้กำลังเลือนหายไปจากแผนที่โลก ไร้การเหลียวแลและความช่วยเหลือ เนื่องจากวิกฤติที่พวกเขาต้องเผชิญเกิดขึ้นเป็นเวลาต่อเนื่องและยาวนาน จนแทบไม่ได้รับการมองเห็น และไม่ได้รับการสนับสนุนช่วยเหลือจากสังคม ส่งผลให้หลายล้านชีวิตต้องดิ้นรนเอาตัวรอด เพื่อให้ยังมีชีวิตก้าวข้ามวันพรุ่งนี้ไปได้
เนื่องในโอกาสวันมนุษยธรรมโลก วันที่ 19 สิงหาคม สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (Office of the United Nations High Commissioner for Refugees หรือ UNHCR) จึงเชิญ Sanook ไปร่วมรับประทานอาหารกลางวันจากฝีมือผู้ลี้ภัย ด้วยเมนูที่สะท้อนชีวิตผู้ลี้ภัยในประเทศที่ถูกลืม เพื่อรับรู้และตระหนักถึงสถานการณ์ผู้ลี้ภัยที่กำลังวิกฤติ และต้องการความช่วยเหลือจากเพื่อนร่วมโลกทุกคน
อาหารมื้อนี้ห้ามเปิดเผยใบหน้าของ “เชฟ”
มือฉุกเฉินเพื่อผู้ลี้ภัยที่ถูกลืม จัดขึ้น ณ Na Cafe at Bangkok 1899 ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นที่พักอาศัยของเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี และเป็นคฤหาสน์ทรงยุโรปอายุร้อยกว่าปีริมถนนนครสวรรค์ โดยมื้อพิเศษมื้อนี้เป็นฝีมือปลายจวักของ “ผู้ลี้ภัย” ที่พักพิงอยู่ในประเทศไทย หลังจากที่พวกเขาหนีตายออกมาจากวิกฤติเลวร้ายที่ประเทศของตัวเอง อาหารมือนี้จึงเป็นมื้ออาหารที่เราไม่สามารถถ่ายรูปหรือเปิดเผยใบหน้า “เชฟ” ผู้อยู่เบื้องหลังมื้ออาหารแสนอร่อยของเราได้
ในปี 2022 มีจำนวนผู้ถูกบังคับพลัดถิ่นหรือคนไร้รัฐ ทะลุ 112.6 ล้านคน ภายในเวลาเพียง 10 ปี โลกมีผู้พลัดถิ่นเพิ่มขึ้นถึง 35.8 ล้าน โดยในทวีปแอฟริกา ถือเป็นทวีปที่เกิดการพลัดถิ่นและมีผู้ลี้ภัยมากที่สุดในโลก และเป็น “วิกฤติที่ถูกลืม” จากคนในสังคม ซึ่งเป็นผลกระทบอย่างหนักจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง เรียกว่าเป็นส่วนที่ทำให้เกิดการเพิ่มขึ้นของการพลัดถิ่น และความต้องการการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่ “รุนแรงที่สุด” ในประวัติศาสตร์โลก
ผู้พลัดถิ่นทุก ๆ 100 คน เป็นเด็ก 41 คน หรือคิดเป็น 41 เปอร์เซ็นต์ของะพื้นที่พักพิงทั่วโลก ที่นั่นไม่มีอาหารที่เพียงพอต่อการดำรงชีพ ทำให้เด็กเล็กที่เป็นผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นเกือบทั้งหมด มีร่างกายที่อ่อนแอ แคระแกร็น และโลหิตจาง ส่งผลให้เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ทุก ๆ 1,000 คน จะมี 2 คนเสียชีวิตทุกเดือน
“เมล็ดบัว” อาหารว่างจากพื้นที่น้ำท่วม
อาหารจานแรกถูกยกมาเสิร์ฟ ปรากฏเป็น “เมล็ดบัวสด” บนจานสังกะสี สร้างความงุนงงให้กับผู้ร่วมงาน นี่คืออาหารว่างที่หากินได้จากพื้นที่น้ำท่วมหนักหลายปีติดต่อกันในซูดานใต้ และเป็นอาหาร “ชนิดเดียว” ที่ผู้ลี้ภัยทั้งหลายในกินเพื่อประคองตัวให้รอดไปถึงค่ายผู้ลี้ภัย
ปีที่ผ่านมา UNHCR มอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในวิกฤติฉุกเฉิน ให้คนมากกว่า 25 ล้านคน แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ ยังมีผู้คนจำนวนมากที่รอคอยความช่วยเหลือ แต่ UNHCR ก็กำลังเผชิญความท้าทาย เนื่องจากขาดแคลนงบประมาณอย่างมากจากสถานการณ์ความขัดแย้ง ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ความรุนแรงที่เกิดขึ้นมากมายและยาวนานต่อเนื่อง ทำให้ผู้คนมากมายต้องเผชิญกับการถูกบังคับให้พลัดถิ่นสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์
IMAGINE น้ำรสขมปี๋ที่ให้นึกถึงการเดินทางลี้ภัย
เมนูเครื่องดื่มถูกยกตามออกมา เป็นแก้วน้ำสีน้ำตาลผสมใบไม้และใบหญ้า ที่ใครได้ชิมก็ต้องทำหน้าเหยเก เพราะรสชาติขมปี๋และไม่อร่อยเลยสักนิด นี่คือเมนูที่ผู้ลี้ภัยใช้ประทังชีวิตระหว่างการเดินทางลี้ภัย แม่ต้องหลอกลูกเล็กว่านี่คืออาหารที่แสนอร่อย เพื่อให้ลูกได้อิ่มท้อง แม้ในความเป็นจริงแล้ว เมนูนี้จะมีส่วนประกอบเป็นใบไม้จากข้างทางกับน้ำเปล่าก็ตาม นี่คือเครื่องดื่มที่เรียกว่า Imagine เพื่อให้ทุกคนที่ได้ลิ้มลองได้จินตนาการว่า “ถ้าต้องเดินทางลี้ภัย อะไรที่เราอยากดื่มกินระหว่างทาง” และเครื่องดื่มขมปี๋แก้วนี้ก็อาจจะเป็นน้ำอัดลมเย็นฉ่ำก็ได้ในความคิดของคุณ
ยังไม่ทันหายขมในคอ น้ำดื่มสีขุ่นก็ถูกเสิร์ฟตามมา นี่คือ Refugee welcome drink เครื่องดื่มจากแหล่งน้ำธรรมชาติแท้ ๆ ท่ามกลางปัญหาความแห้งแล้งและสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน
แต่ละวิกฤติมีความต่อเนื่องยาวนานและซับซ้อนมาก ในทุกวิกฤติ ผู้ลี้ภัย ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ หรือบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ ต้องการความช่วยเหลือ เช่น ได้กลับบ้าน ได้รับการรักษาพยาบาล ได้รับที่พักพิง ได้โอกาสในการทำงาน ได้กลับไปเรียน ได้เป็นส่วนหนึ่งของสังคม ได้สัญชาติ หรือได้กลับมาพบกับครอบครัวที่พลัดพรากอีกครั้ง ความต้องการเหล่านี้ยังอยู่ไปอีกนาน แม้วิกฤติจะจางหายไปจากหัวข้อข่าว
DIPFERENCE รสชาติของชีวิตเดิมที่หายไปหลายสิบปี
แป้ง Injera รสเปรี้ยวจากการหมัก เสิร์ฟคู่กับ Lentill Wat แกงถั่วสัญชาติเอธิโอเปียที่มีหลากหลายรสชาติให้ลองได้ Dip ชิมความอร่อยที่แตกต่างกัน นี่คืออาหารประจำชาติของชาวเอธิโอเปียที่หลายคนถูกบังคับให้ต้องพลัดถิ่น และอาหารประจำชาติแสนอร่อยก็กลายเป็นเพียงแกงถั่วชนิดเดียวที่ใช้กินเป็นอาหารประจำวัน นี่เป็นราชาติแห่งความแตกต่างจากชีวิตเดิมที่หายไปหลายสิบปี หรือบางคนก็ทั้งชีวิต
ระหว่างกำลังรับประทานอาหารอยู่นั้น วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล ผู้สนับสนุนที่มีชื่อเสียงของ UNHCR นักเดินทาง พิธีกร นักคิด นักเขียนและผู้ผลิตรายการสารคดี ก็มาแบ่งปันประสบการณ์การเดินทางไปเยือนหลาย ๆ ประเทศในทวีปแอฟริกา พร้อมนำภาพถ่ายที่เขาเป็นคนลั่นชัตเตอร์ด้วยตัวเองมาแสดง เพื่อให้ทุกคนได้เห็น “สภาพจริง” ของสถานการณ์วิกฤติที่คนในพื้นที่เหล่านั้นกำลังเผชิญ
“สงครามยุคใหม่ไม่ใช่การรบเพื่อเอาชนะ แต่เป็นการรบเพื่อรักษาให้สงครามอยู่ต่อไป เพื่อให้สิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ ดำเนินต่อไป และผู้ที่ได้รับผลกระทบ ก็คือคนที่ UNHCR เข้าไปช่วยเหลือ” วรรณสิงห์กล่าว
THE OTHER SIDE DISH เมนูที่แทบไม่มีทางจะได้กิน
จานต่อมาคือเส้นพาสต้าโซมาเลียที่แบ่งครึ่งสองรสชาติในจานเดียว ด้านหนึ่งคือพาสต้าเปล่ากินคู่กับกล้วย แบบที่ผู้ลี้ภัยในค่ายกินเพื่อประทังชีวิต อีกด้านคือ “ซอสไก่” ที่ผู้ลี้ภัยเหล่านี้แทบไม่มีทางจะหากินได้เลย แม้ในชีวิตประจำวันปกติ เพราะพวกเขาอยู่ในประเทศที่ต้องเผชิญวิกฤติหลายด้านอยู่ตลอดเวลา
นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ บรรณาธิการบริหารสำนักข่าว THE STANDARD ได้มาแบ่งปันเรื่องราวการเดินทางไปสัมผัสชีวิตของผู้คนชาวเวเนซุเอลาในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจของประเทศ ที่ผลักดันให้คนหลายล้านคนต้องเดินทางออกจากบ้านเกิด ภาพของผู้คนเดินเท้าข้ามพรมแดนเพื่อตามหาความปลอดภัยให้กับชีวิตถูกถ่ายทอดผ่านสายตาของนครินทร์ ก่อนที่เขาจะทิ้งท้ายว่าผู้ลี้ภัยเหล่านี้ไม่ได้ต้องการเงินทองหรือชีวิตที่ดีกว่า แต่พวกเขาต้องการ “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” ผ่านการทำงานและได้รับค่าตอบแทนจากงานที่พวกเขาทำ ดังนั้น ทุกคนอยากกลับไปใช้ชีวิตปกติ เหมือนก่อนประเทศจะเกิดวิกฤติ
HUMAN RICE ขนมส่งท้ายจากผู้ลี้ภัย
จานสุดท้ายที่ถูกยกเสิร์ฟคือ Dabo Kolo ขนมปังจากข้าวบาร์เลย์ของชาวเอธิโอเปีและเอริเทรีย รสชาติหวาน เนื้อสัมผัสกรอบนอกนุ่มใน คล้ายกับปาท่องโก๋ที่พวกเราคุ้นเคยกัน ทานคู่กับกาแฟเอธิโอเปียที่มีความหอมเป็นเอกลักษณ์ ทว่าประเทศแห่งกาแฟที่ขึ้นชื่อไปทั่วกำลังเผชิญภาวะสงคราม ความยากจน และการเปลี่ยนแปลงสภาพทางอากาศอย่างรุนแรง จึงปิดท้ายมื้ออาหารด้วยกาแฟเข้ม ๆ ที่หวังว่าจะกาแฟถ้วยนี้จะสร้างโอกาสให้ผู้ลี้ภัยได้ “ตื่นขึ้นมา” พบกับชีวิตที่ดีกว่าเดิม
UNHCR ทำงานตอบสนองวิกฤตใหม่ทุก 8 - 10 วัน เพื่อช่วยชีวิต มอบความคุ้มครอง ให้ความช่วยเหลือ ไปจนถึงการสนับสนุนการหาทางออกที่ยั่งยืนให้กับผู้ลี้ภัย ผู้พลัดถิ่น และบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ โดยตอนนี้ UNHCR ประเทศไทย ได้เปิดตัว Empathy Emergency Fund หรือ กองทุนภาวะฉุกเฉิน ระดมทุนเพื่อสนับสนุนการทำงาน และให้ความช่วยเหลือในภาวะฉุกเฉินในพื้นที่ทั่วโลกอย่างครอบคลุมที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
ร่วมบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัยในภาวะฉุกเฉินผ่าน www.unhcr.org/th หรือผ่านธนาคารที่
- ธ.ไทยพาณิชย์ (SCB) ชื่อบัญชี UNHCR Special Account เลขที่บัญชี 004-225-8596
- ธ.กสิกรไทย (K BANK) ชื่อบัญชี UNHCR Special Account เลขที่บัญชี 030-288-8043
เงินบริจาคทั้งหมดไม่หักค่าใช้จ่าย 100% เข้ากองทุนเพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือ และแปรเปลี่ยนเป็นความช่วยเหลือทั้งหมดทันทีที่เกิดภาวะฉุกเฉินที่ใดก็ตามบนโลกใบนี้