แหล่งเรียนรู้ธรรมชาติระดับสากล องค์การสวนสัตว์ฯ เตรียมเปิด 2 โซนนำร่องให้เข้าชมปลายปี 69
องค์การสวนสัตว์ฯ จัดโครงการ "สื่อสารสวนสัตว์สร้างสรรค์ : เที่ยวสวนสัตว์ไทยไปด้วยกัน" พร้อมนำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่เยี่ยมชมความคืบหน้าการก่อสร้าง "สวนสัตว์แห่งใหม่" เฟส 1 เผยความก้าวหน้าเตรียมเปิดเข้าชมนำร่องโซนสวนสาธารณะขนาด 30 ไร่ และอาคารเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 10 ปลายปี 69 และพื้นที่จัดแสดงสัตว์โซนแอฟริกา โซนเอเชียในปี 68
นายอรรถพร ศรีเหรัญ ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า "เพื่อประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข้อมูลโครงการสวนสัตว์แห่งใหม่ระยะที่ 1 คลองหก เมื่อวันที่ 19 กรกฏาคม 2567 ผ่านมา องค์การสวนสัตว์ฯได้จัดประชุมประชาสัมพันธ์และรับฟังความคิดเห็นต่อโครงการก่อสร้างสวนสัตว์แห่งใหม่ เฟส 1 ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและลดผลกระทบจากโครงการก่อสร้างสวนสัตว์แห่งใหม่แก่ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่โครงการ, กลุ่มผู้นำชุมชนในพื้นที่ 4 อำเภอตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งได้จัดกิจกรรม 'สื่อสารสวนสัตว์สร้างสรรค์ : เที่ยวสวนสัตว์ไทยไปด้วยกัน' โดยได้นำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมความคืบหน้าก่อสร้างสวนสัตว์แห่งใหม่ ระยะที่ 1 บริเวณคลองหก จ.ปทุมธานี"
นายอรรถพร ศรีเหรัญ ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยความคืบหน้าในการก่อสร้างสวนสัตว์แห่งใหม่คลอง 6 บนพื้นที่พระราชทาน 300 ไร่ในขณะนี้ว่า "การก่อสร้างมีความก้าวหน้าตามลำดับ โดยเฟสแรก คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติวงเงินในการก่อสร้างจำนวน 5,314 ล้าน กำหนดระยะเวลาก่อสร้างไว้ 900 วัน ขณะนี้สามารถเบิกจ่ายได้แล้วประมาณ 1,500 ล้านบาท ส่วนการเปิดให้บริการให้ประชาชนเข้าชมในเฟสแรกเบื้องต้นกำหนดให้เข้าชมได้ช่วงต้นปี 2569 แต่เนื่องจากเกิดปัญหาการเบิกงบประมาณล่าช้าและประสบปัญหาฝนตกไม่ตรงตามฤดูกาลส่งผลกระทบน้ำท่วมขังบริเวณก่อสร้าง ทำให้การก่อสร้างล่าช้าจากเดิมเลยอาจต้องขยายการเปิดให้บริการเช้าชมเฟสแรกออกไปเป็นปลายปี 2569 โดยวางแผนให้เข้าชมนำร่องฟรีในระยะแรก 2 โซน คือ สวนสาธารณะขนาด 30 ไร่ และอาคารเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 10 และในปี 2568 วางแผนให้เข้าชมพื้นที่จัดแสดงสัตว์โซนแอฟริกา โซนเอเชีย ตามลำดับ โดยในช่วงแรกเปิดให้ประชาชนเข้าชมฟรีก่อน"
"อยากให้คนไทยมีความภาคภูมิใจในสวนสัตว์ใหม่ที่กำลังสร้างบนแผ่นดินพระราชทานซึ่งมีอาณาจักรกว้างขวางกว่า 300 ไร่กำลังจะเกิดขึ้น เป็นสวนสัตว์ที่ได้รับการยกระดับเป็นแหล่งเรียนรู้ธรรมชาติระดับสากลและเป็นแหล่งเรียนรู้แห่งใหม่ล่าสุดของไทยที่นักท่องเที่ยวจะได้เข้าชมธรรมชาติและสัตว์ป่าอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน มีสัตว์หลายชนิดที่ไม่เคยเห็นในเมืองไทย คนไทยก็จะได้เห็น โดยเราจะมอบประสบการณ์ในการดูสัตว์แบบใหม่ เหมือนได้เข้าไปในพื้นที่ถิ่นที่อยู่เดียวกับสัตว์จริงๆ และจะยกระดับเป็นศูนย์กลางเรียนรู้เชิงนิเวศน์ย่านปทุมธานีที่นอกจากได้เรียนรู้เรื่องสัตว์แล้วยังได้เรียนรู้ระบบนิเวศน์ของแต่ละถิ่นที่อยู่ของสัตว์ต่างๆรวมไปถึงแหล่งเรียนรู้อื่นๆที่ผู้ชมได้สัมผัสธรรมชาติและสัตว์อย่างใกล้ชิด โดยช่วงแรกเปิดให้ประชาชนเข้าชมฟรีก่อน ส่วนการเปิดให้บริการเต็มรูปแบบมั่นใจว่าสามารถเปิดบริการได้ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2571 เป็นต้นไป คาดมีประชาชนเข้าชม 1.2 ล้านคนต่อปี ทำรายได้ 5 พันล้าน/ปี จากตั๋วเข้าชมและร้านค้าโดยรอบ" ผอ.องค์การสวนสัตว์ฯ กล่าวย้ำ
สำหรับสวนสัตว์แห่งใหม่ ได้ก่อสร้างบนแผ่นดินพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานโฉนดที่ดินที่คลอง 6 ต.รังสิต อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี จำนวน 300 ไร่ เพื่อทดแทนสวนสัตว์ดุสิตที่มีขนาดแค่ 118 ไร่ เพื่อให้สัตว์มีพื้นที่อยู่อย่างกว้างขวาง ไม่แออัด และเป็นแหล่งเรียนรู้สัตว์ป่าในระดับสากล เป็นห้องเรียนธรรมชาติ ศูนย์เรียนรู้แห่งใหม่ของไทย ภายใต้แนวคิด "ชุบชีวิตทุ่งน้ำ" เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตามแนวพระราชดำริ ในพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร แบ่งการใช้ประโยชน์พื้นที่ออกเป็น 6 ส่วน ได้แก่
1. พื้นที่จัดแสดงสัตว์โซนแอฟริกา โซนเอเชีย โซนออสเตรเลีย โซนอเมริกาใต้ โซนสวนสัตว์เด็กและนิทรรศการ 171 ไร่
2. พื้นที่ป้องกันน้ำท่วมและถนน 42 ไร่
3. พื้นที่ส่วนบริหารและวิจัย 33 ไร่
4. พื้นที่สวนเฉลิมพระเกียรติ 21 ไร่
5. พื้นที่ส่วนกลางและเชิงพาณิชย์ 18 ไร่
6. พื้นที่จอดรถ 15 ไร่
โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติวงเงินในการก่อสร้าง 10,974 ล้านบาท กำหนดระยะเวลาดำเนินโครงการ 5 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2566 – 2570 โดยแบ่งการก่อสร้างเป็น 2 ระยะ ระยะที่ 1 มีมูลค่าการก่อสร้าง 5,383.82 ล้านบาท และระยะที่ 2 มีมูลค่าก่อสร้าง 4,340.16 ล้านบาท คาดว่าจะเปิดให้บริการระยะแรก ในปีพ.ศ. 2569 และเปิดให้บริการเต็มรูปแบบตั้งแต่ปีพ.ศ. 2571 เป็นต้นไป
ปัจจุบันองค์การสวนสัตว์ฯ สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีภารกิจหลักคือ การอนุรักษ์และขยายพันธุ์การให้การศึกษา และการจัดสวนสัตว์ให้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชนทั่วไป ซึ่งปัจจุบันมีสวนสัตว์อยู่ในความดูแล 6 แห่ง และ 2 โครงการ คือ สวนสัตว์เปิดเขาเขียว สวนสัตว์เชียงใหม่ สวนสัตว์นครราชสีมา สวนสัตว์สงขลา สวนสัตว์อุบลราชธานี สวนสัตว์ขอนแก่น โครงการคชอาณาจักร จังหวัดสุรินทร์ และโครงการก่อสร้างสวนสัตว์แห่งใหม่ จังหวัดปทุมธานี
ทั้งนี้ ตามแผนวิสาหกิจ พ.ศ. 2565 – 2569 องค์การสวนสัตว์ฯ ยุทธศาสตร์ที่ 4 กำหนดให้มีการพัฒนาธุรกิจสวนสัตว์ให้ทันสมัย (Smart Zoo) สร้างรายได้เพื่อความยั่งยืนขององค์กร โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มรายได้ทางธุรกิจและสร้างความแข็งแกร่งกับพันธมิตรสู่การเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยนำอัตลักษณ์ของสวนสัตว์ในสังกัดมาจัดกิจกรรมทางการตลาด การสื่อสารประชาสัมพันธ์รวมทั้งการสร้างเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจ รวมทั้งให้ความสำคัญในการสร้างการรับรู้ด้านความคืบหน้าของการก่อสร้างสวนสัตว์แห่งใหม่ จังหวัดปทุมธานี และสวนสัตว์อยู่ในความดูแล 6 แห่ง และ 2 โครงการให้ประชาชนได้รับทราบอย่างกว้างขวาง