กินไข่ 720 ฟอง ใน 1 เดือน นศ.แพทย์ฮาร์วาร์ด ทดลองเอง ผลลัพธ์ที่ได้ทำเอาอึ้ง
นศ.แพทย์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ทดลองด้วยตนเอง กินไข่ 720 ฟอง ภายใน 1 เดือน ผลลัพธ์ที่ได้ทำเอาตกตะลึง
หลายคนมีความเชื่อทั่วไปว่าไข่แดงมีคอเลสเตอรอลสูง และการบริโภคในปริมาณมากเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดปัญหาหลอดเลือดหัวใจ
ล่าสุด นักศึกษาปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้ทำการทดลองด้วยตนเอง โดยกินไข่ 720 ฟองภายใน 1 เดือน ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้พบว่าคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีลดลงถึง 18 เปอร์เซ็นต์
ดร.นิค นอร์วิตซ์ ซึ่งสำเร็จการศึกษาปริญญาเอกด้านสรีรวิทยาจากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด และกำลังศึกษาต่อในระดับปริญญาแพทยศาสตร์บัณฑิตที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด กล่าวว่า
"ผมคาดการณ์ว่าการกินไข่ 720 ฟองใน 1 เดือน หรือเท่ากับคอเลสเตอรอล 133,200 มิลลิกรัม จะไม่ทำให้คอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีเพิ่มขึ้น ซึ่งก็เป็นจริงตามนั้น ไม่มีการเพิ่มขึ้นเลยแม้แต่น้อย แม้ว่าผมจะบริโภคคอเลสเตอรอลมากกว่าเดิมถึง 5 เท่า แต่คอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีกลับลดลง"
จริง ๆ แล้ว คอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีของนิค หรือที่เรียกว่า LDL (Low-Density Lipoprotein) ลดลงทั้งหมด 18 เปอร์เซ็นต์
ยังไม่ทราบแน่ชัดว่า นิคมีกิจกรรมการออกกำลังกายประเภทใดและความถี่เท่าใด รวมถึงพฤติกรรมการกินอื่น ๆ นอกเหนือจากไข่ แต่หลังจากทดลองไปได้ 2 สัปดาห์ เขาเริ่มรับประทานคาร์โบไฮเดรตวันละ 60 กรัม โดยกินผลไม้อย่างกล้วย บลูเบอร์รี เชอร์รี พร้อมกับเนยถั่วแมคคาเดเมีย
นิค อธิบายว่า ผู้ที่รับประทานอาหารแบบคาร์โบไฮเดรตต่ำมักจะมีคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีเพิ่มสูงขึ้น เพราะร่างกายเริ่มเผาผลาญไขมันเพื่อใช้เป็นพลังงานแทนคาร์โบไฮเดรต แต่เมื่อรับประทานคาร์โบไฮเดรตมากขึ้น ร่างกายจะได้รับพลังงานจากคาร์โบไฮเดรตแทน ทำให้คอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีลดลง
ตามรายงานของ Daily Mail ระบุว่า ไข่แต่ละฟองมีคอเลสเตอรอลประมาณ 186 มิลลิกรัม นักวิทยาศาสตร์บางคนเชื่อว่าไข่ไม่ทำให้คอเลสเตอรอลเพิ่มขึ้น เนื่องจากคอเลสเตอรอลจะจับกับตัวรับบนเซลล์ในลำไส้ ซึ่งจะกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนที่เรียกว่า Cholesin ฮอร์โมนนี้จะเดินทางผ่านกระแสเลือดไปยังตับ และจับกับตัวรับที่ชื่อ GPR146 เพื่อส่งสัญญาณไปยังตับให้ลดการผลิตคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL)