.jpg)
ภาพสยอง ดึงพยาธิตัวเป้ง ออกจากร่างเด็กชาย 3 ขวบ หมอรีบเตือนเรื่อง "เดินเหยียบน้ำ"
หมอผงะ! พบหนอนพยาธิ ยาวเฟื้อยตัวอวบๆ นับสิบตัว ในร่างกายเด็กชายวัย 3 ขวบ เตือนภัยน้ำปนเปื้อน
ตามรายงานของสื่ออินโดนีเซีย แพทย์พบหนอนพยาธิหลายสิบตัว ในร่างกายของเด็กชายวัยเพียง 3 ขวบ โดยสาเหตุคาดว่าเกิดจากการ "ดื่มน้ำที่ปนเปื้อน" และสุขอนามัยที่ไม่เหมาะสม ทำให้มีอาการท้องอืด ท้องผูก มีไข้ และไม่ถ่ายเป็นเวลาสามวัน ก่อนที่ผู้ปกครองจะรีบนำตัวส่งโรงพยาบาล เนื่องจากอาการไม่ดีขึ้น
ในขั้นต้น เด็กชายถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคท้องผูก แต่เพียงหนึ่งวันให้หลัง เขาเริ่มอาเจียนออกมาเป็นพยาธิ ทำให้แพทย์ตัดสินใจส่งตัวไปเอ็กซ์เรย์ช่องท้อง และพบ "ก้อนสีเทา" ที่บ่งบอกว่ากำลังเผชิญกับภาวะลำไส้อุดตัน เมื่อทำการผ่าตัดผ่านกล้อง พบว่ามีพยาธิจำนวนมากอุดตันอยู่ในลำไส้เล็กถึง 3 จุด โดยทั้งหมดถูกระบุว่าเป็น Ascaris lumbricoides หรือที่รู้จักกันในชื่อ "พยาธิไส้เดือน" ซึ่งสามารถยาวได้ถึง 35 เซนติเมตร
แพทย์เผยว่า เด็กชายรายนี้อาจติดเชื้อจากการเดินเท้าเปล่า และสัมผัสน้ำที่มีการปนเปื้อน นอกจากนี้ เขามักจะเล่นน้ำในแม่น้ำกับเพื่อนๆ โดยไม่สวมรองเท้า และยังเก็บของจากกองขยะด้วยมือเปล่า
“ภาวะลำไส้อุดตันจากพยาธิเป็นกรณีที่พบไม่บ่อย แต่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตหากไม่ได้รับการรักษาทันเวลา โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดสูงและสุขอนามัยไม่ดี” แพทย์ระบุผ่าน วารสารรายงานกรณีศึกษา (Case Reports Journal)
แพทย์ได้ตัดลำไส้บริเวณที่ห่างจากจุดเชื่อมกับลำไส้ใหญ่ประมาณ 50 เซนติเมตร และใช้วิธีบีบพยาธิออกมาอย่างระมัดระวัง ก่อนเย็บกลับและส่งตัวอย่างไปตรวจในห้องปฏิบัติการ ผลเลือดยังพบว่าเด็กชายมีภาวะโลหิตจาง ซึ่งอาจเกิดจากการสูญเสียเลือดเรื้อรังจากพยาธิที่กินเลือดในลำไส้ และส่งผลให้ร่างกายผลิตเม็ดเลือดแดงได้ไม่เพียงพอ
หลังการรักษา เด็กชายได้รับยาฆ่าเชื้อ ยาน้ำเกลือ และยาถ่ายพยาธิ pyrantel pamoate พร้อมคำแนะนำให้กินยา albendazole ต่อหลังจากออกจากโรงพยาบาลหนึ่งสัปดาห์ เพื่อกำจัดพยาธิให้หมดจด
เตือนภัยสุขอนามัย มีรายงานว่าทั่วโลกมีประชากรราว 1 ใน 8 คน หรือนับพันล้านคนที่ติดเชื้อพยาธิไส้เดือน โดยส่วนใหญ่ติดเชื้อจากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปือนไข่พยาธิ ซึ่งอาจมาจากมือที่สัมผัสอุจจาระสัตว์ แล้วนำไปปนเปื้อนในอาหารระหว่างการปรุง
พยาธิเหล่านี้มักพบในพื้นที่ชนบทหรือที่ที่สุขอนามัยต่ำ โดยเฉพาะในเด็ก ซึ่งมักส่งผลกระทบต่อการดูดซึมสารอาหาร ทำให้มีอาการปวดท้องเรื้อรัง หรือเติบโตช้า ในบางกรณี พยาธิอาจเคลื่อนย้ายไปยังอวัยวะอื่น เช่น ตับ หรือแม้กระทั่งส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ
แพทย์เน้นย้ำว่า การดูแลสุขอนามัยพื้นฐาน เช่น ดื่มน้ำต้มสุก ล้างมือก่อนกินอาหาร และหลีกเลี่ยงการเดินเท้าเปล่าในพื้นที่สกปรก เป็นสิ่งสำคัญยิ่งในการป้องกันโรคพยาธิ