.jpg)
สูงวัยพร้อมลุย! ผลสำรวจล่าสุดชี้ ผู้สูงอายุเกินครึ่งหนุนเลื่อนเกษียณจาก 60 เป็น 65 ปี
จากการสำรวจความคิดเห็นของ “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เกี่ยวกับประเด็นการขยายอายุเกษียณจาก 60 ปี เป็น 65 ปี พบว่า “ผู้สูงอายุส่วนใหญ่” หรือ ร้อยละ 57.71 แสดงความเห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มใหม่ของสังคมผู้สูงวัยที่ไม่ต้องการหยุดอยู่กับบ้านเฉยๆ แต่ยังต้องการมีบทบาท สร้างรายได้ และมีคุณค่าในสังคมต่อไป
เหตุผลหลักที่ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการขยายอายุเกษียณ ได้แก่:
- ร้อยละ 79.50 ระบุว่า สุขภาพยังดี ยังสามารถทำงานสร้างประโยชน์ได้
- ร้อยละ 77.12 ระบุว่า มีเวลาทำงานสร้างรายได้ได้ต่อเนื่อง
- ร้อยละ 36.64 ระบุว่า ช่วยเกื้อกูลลูกหลานได้ ไม่เป็นภาระกับลูกหลาน
แม้ผู้สูงอายุมากกว่าครึ่งจะเห็นด้วยกับนโยบายขยายอายุเกษียณ แต่ก็มีบางส่วนที่ไม่เห็นด้วย คิดเป็น ร้อยละ 42.29 โดยให้เหตุผลเรื่องปัญหาสุขภาพ ควรเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้าทำงานแทน และต้องการใช้ชีวิตหลังเกษียณอย่างสงบสุข
ทั้งนี้ ร้อยละ 75 ของผู้สูงอายุที่ยังทำงานอยู่ ระบุว่ามีความคาดหวังว่ารัฐบาลจะมีระบบประกันสุขภาพที่ผู้สูงอายุสามารถเข้าถึงได้มากขึ้น รองลงมาคือระบบพัฒนาทักษะให้เหมาะกับผู้สูงอายุ มีความยืดหยุ่นในด้านชั่วโมงทำงาน มีการปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ ลดชั่วโมงทำงาน และมีระบบการศึกษาสำหรับผู้สูงอายุ ตามลำดับ
ผลสำรวจนี้สะท้อนถึงการเปลี่ยนมุมมองของผู้สูงอายุที่ไม่ได้มองการเกษียณเป็นการหยุดพัก แต่เป็นโอกาสใหม่ที่จะได้แสดงศักยภาพ สร้างคุณค่าให้กับตนเองและสังคม นโยบายขยายอายุเกษียณจึงอาจเป็นคำตอบที่ตอบโจทย์ชีวิตคนรุ่นเก๋าในยุคปัจจุบัน ดังนั้น หากรัฐบาลพิจารณาขยายอายุเกษียณอย่างเป็นระบบ พร้อมออกแบบสภาพแวดล้อมการทำงานให้เหมาะสมกับผู้สูงวัย ก็อาจช่วยสร้างสังคมสูงวัยที่ยังแข็งแรงและมีคุณภาพได้ในอนาคต