(1).jpg)
ชาย "ไม่กินของหวาน" แต่เป็นโรคเบาหวานขั้นรุนแรง! เพราะกินสิ่งนี้ซ้ำๆ ทุกมื้อกลางวัน
หมอเปิดเคส ชายวัย 50 ปี “ไม่แตะของหวาน” เลย แต่กลับป่วยโรคเบาหวานขั้นรุนแรง เพราะกินสิ่งนี้ซ้ำๆ ทุกมื้อกลางวัน
คนทั่วไปมักเชื่อว่า “กินของหวาน” ทำให้เป็นเบาหวาน แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่แค่ของหวานเท่านั้นที่ก่อโรคได้
ดร.หลี่ถังเยว่ หมอเวชปฏิบัติทั่วไป ชาวไต้หวัน เผยผ่านช่อง YouTube ของคลินิกว่า ยกตัวอย่างเคสชายวัย 50 ปี คนหนึ่งซึ่งทำงานใช้แรงมาอย่างยาวนาน เขามักกินข้าวกล่องวันละ 2 กล่องในมื้อกลางวัน โดยเมนูหลักมักเป็นขาหมูหรือไก่ตุ๋น แม้จะกินมากทุกวัน แต่กลับไม่อ้วนขึ้น แถมน้ำหนักลดลงฮวบถึง 10 กิโลในเวลาเพียง 3 เดือน ภรรยาจึงรู้สึกผิดสังเกตและพาไปพบแพทย์
เมื่อตรวจเลือดพบว่าค่าน้ำตาลสะสม (HbA1c) สูงถึง 11% ซึ่งเกินค่าปกติที่ควรไม่เกิน 5.6% และค่าน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหารพุ่งถึง 260 mg/dl (ค่าปกติควรต่ำกว่า 100 mg/dl) จึงได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวานขั้นรุนแรง
เมื่อชายคนงานทราบผลตรวจ เขาตกใจมาก เพราะตนเองไม่เคยกินของหวานหรือดื่มชาไข่มุกเลย
ในเรื่องนี้ หมอหลี่ถังเยว่ชี้แจงเพิ่มเติมว่า เบาหวานไม่ได้เกิดจากของหวานเพียงอย่างเดียว แต่การกินแป้งขัดขาว เช่น ข้าวขาวและเส้นก๋วยเตี๋ยวในปริมาณมากเป็นเวลานาน ก็สามารถทำให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้น และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานได้ โดยเฉพาะอาหารนอกบ้านที่เราคุ้นเคย เช่น ข้าวกล่อง ข้าวผัด หรือผัดหมี่ มักมีน้ำมันและเกลือสูง แป้งเยอะแต่ผักน้อย จึงกลายเป็น “กับดักน้ำตาล” โดยไม่รู้ตัว
หลายคนมักเข้าใจว่า ข้าวกล่องที่มีทั้งข้าว เนื้อสัตว์ และเครื่องเคียง น่าจะให้สารอาหารครบถ้วน แต่ความจริงแล้ว เครื่องเคียงเหล่านั้นไม่ได้เป็นผักทั้งหมด เช่น ข้าวโพดก็จัดเป็นแป้ง และแม้จะมีผัก แต่ปริมาณก็น้อยเกินไป จึงไม่เพียงพอต่อการสร้างสมดุลทางโภชนาการ
ตามข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมสุขภาพแห่งชาติ ของไต้หวัน เบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่ซับซ้อน โดยอาการที่พบบ่อยคือ กินมาก ดื่มน้ำมาก ปัสสาวะบ่อย และน้ำหนักลด หากมีอาการเหล่านี้ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจเช็กแต่เนิ่น ๆ