(1).jpg)
งานวิจัยเผย "นิสัย 1 อย่าง" ทำร้ายสมองอย่างรุนแรง เสี่ยงซึมเศร้า-ความจำถดถอย
หมอไต้หวัน เปิดงานวิจัย เผย “พฤติกรรมหนึ่ง” ทำร้ายสมองอย่างรุนแรงโดยไม่รู้ตัว ทั้งเสี่ยงซึมเศร้า และความจำถดถอย
เมื่อสมาร์ตโฟนกลายเป็นสิ่งสามัญ พฤติกรรมการ “ไถหน้าจอไม่หยุด” ก็ยิ่งแพร่หลายมากขึ้นโดยไม่รู้ตัว แต่อุปนิสัยที่ดูเหมือนธรรมดานี้ กำลังบ่อนทำลายสุขภาพสมองอย่างเงียบ ๆ
นพ.หวงเซวียน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านทรวงอกและโรควิกฤต ชาวไต้หวัน เผยว่า หลายคนตั้งใจแค่เปิดดูข้อความสั้นๆ แต่กลับไถหน้าจอยาวนานเกิน 2 ชั่วโมงโดยไม่รู้ตัว พฤติกรรมเช่นนี้จัดเป็น “โรคย้ำคิดย้ำทำทางดิจิทัล” ซึ่งเป็นปัญหาสุขภาพยุคใหม่ และส่งผลกระทบต่อสมองรุนแรงกว่าที่เราคิด
นพ.หวงเซวียน โพสต์ผ่านเพจเฟซบุ๊กว่า จากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Frontiers in Psychology พบว่า การใช้มือถืออย่างหมกมุ่นในระยะยาว อาจทำให้ปริมาตรของ “เนื้อสมองสีเทา” ลดลง โดยเฉพาะในบริเวณ prefrontal cortex ซึ่งเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับสมาธิและการควบคุมความหุนหันพลันแล่น
พูดง่าย ๆ คือ การใช้มือถือเกินพอดี ไม่ได้แค่ทำให้ตาล้า แต่ยังอาจทำลายส่วนสำคัญของสมองที่ควบคุมสมาธิ ความจำ และการยับยั้งชั่งใจอีกด้วย
หลายคนเข้าใจว่าการเล่นมือถือไปพร้อมกับทำงานหรืออ่านหนังสือจะช่วยประหยัดเวลา แต่ นพ.หวงเซวียน อธิบายว่า แท้จริงแล้ว สมองมนุษย์ไม่สามารถทำหลายอย่างพร้อมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ การที่ต้องสลับความสนใจไปมาอยู่บ่อยครั้ง จะทำให้สมองล้าอย่างต่อเนื่อง ส่งผลเสียต่อการเรียนรู้และความจำ
งานวิจัยที่เผยแพร่ใน PubMed ยังระบุว่า วัยรุ่นที่ใช้มือถือเกินวันละ 4 ชั่วโมง จะมีความสามารถด้านความจำใช้งาน (working memory) และผลการเรียนลดลงอย่างชัดเจน นอกจากทำลายความสามารถด้านการคิดและจดจำแล้ว สุขภาพจิตใจก็ได้รับผลกระทบไม่น้อย
นพ.หวงเซวียน อ้างงานวิจัยว่า การใช้โซเชียลมีเดียและมือถือเป็นเวลานาน มีความเชื่อมโยงอย่างชัดเจนกับภาวะซึมเศร้า ความวิตกกังวล และการลดลงของความภาคภูมิใจในตนเอง จากผลสำรวจในปี 2021 ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Frontiers in Psychiatry ยังพบว่า วัยรุ่นที่ใช้มือถือเกินวันละ 6 ชั่วโมง มีความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า
นพ.หวงเซวียน เตือนว่า ปัญหาทางอารมณ์เหล่านี้ไม่ใช่แค่ “คิดมาก” แต่เป็นปฏิกิริยาจริงของสมองต่อ “พิษทางดิจิทัล” แสงจ้าจากหน้าจอและเนื้อหาที่เปลี่ยนตลอดเวลาจะกระตุ้นสมองอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้จิตใจแปรปรวน เกิดวงจรอันตรายที่ “ยิ่งไถยิ่งเครียด ยิ่งใช้ยิ่งซึมเศร้า”
เพื่อปกป้องสมองจากพิษดิจิทัล นพ.หวงเซวียน แนะนำให้ลองทำ “ดีท็อกซ์ดิจิทัล” โดยจัดเวลาวันละอย่างน้อย 1 ชั่วโมง เพื่อห่างจากหน้าจอ ในช่วงเวลานี้ควรทำกิจกรรมที่ไม่ต้องใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ เช่น อ่านหนังสือกระดาษ เดินเล่น หรือแค่นั่งพักผ่อนปล่อยใจให้ว่างบ้างก็ได้
นพ.หวงเซวียน ยังอ้างงานวิจัยจากวารสาร Cyberpsychology, Behavior, and Social Networking ปี 2022 ซึ่งพบว่า เพียงแค่หยุดใช้โซเชียลมีเดียเป็นเวลา 7 วัน ก็สามารถลดความเครียดและเพิ่มความรู้สึกมีความสุขได้อย่างชัดเจน