
หมอมาเผยเอง คนที่มีความเสี่ยงเป็น "มะเร็ง" น้อย มักมี 5 คุณลักษณะนี้เหมือนกัน
หมอเวียดนามเผย คนที่มีสุขภาพแข็งแรง และมีโอกาสเป็น "มะเร็ง" น้อย มักมีคุณลักษณะร่วมกัน 5 ประการ
ตามคำแนะนำของแพทย์ ไม่มีใครที่ปลอดภัยจากมะเร็งได้ 100% แต่ทุกคนสามารถลดความเสี่ยงลงได้อย่างมาก หากปฏิบัติตาม 5 ข้อนี้
นพ.เหงียน ดึ๊ก ติ่ญ แพทย์เฉพาะทางจากแผนกรังสีวินิจฉัย โรงพยาบาลทหาร 175 ประเทศเวียดนาม เผยว่า คนที่มีสุขภาพแข็งแรงและมีโอกาสเป็นมะเร็งน้อย มักมีคุณลักษณะร่วมกัน 5 ประการ ซึ่งไม่ได้เกิดจากโชคช่วย แต่เป็นผลลัพธ์จากการเลือกใช้ชีวิตอย่างมีวินัยและใส่ใจสุขภาพ
5 ลักษณะร่วมของคนที่มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งน้อย
1. มีทัศนคติเชิงบวก และรู้จักควบคุมอารมณ์
งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดพบว่า คนที่มองโลกในแง่ดีมีอัตราเสียชีวิตจากมะเร็งน้อยกว่าคนทั่วไปถึง 16% เพราะเมื่อจิตใจแจ่มใส ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนแห่งความสุข เช่น เอ็นดอร์ฟินและเซโรโทนิน ซึ่งช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง สามารถตรวจจับและกำจัดเซลล์ผิดปกติตั้งแต่ระยะแรก
ในทางตรงกันข้าม หากเครียดสะสมเป็นเวลานาน ระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลจะเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง ดังนั้นการรักษาใจให้สงบและอารมณ์ให้มั่นคง จึงเป็นหนึ่งในวิธีป้องกันมะเร็งที่ได้ผลที่สุด ตามคำแนะนำของคุณหมอติ่ญ
2. ทานผักผลไม้เยอะ ลดเนื้อแดงและอาหารแปรรูป
องค์การอนามัยโลก (WHO) จัดให้เนื้อแดง โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์อย่างไส้กรอกและเบคอน เป็นอาหารที่มีความเสี่ยงก่อมะเร็งสูง ในทางกลับกัน หากรับประทานผัก ผลไม้ ธัญพืชไม่ขัดสี และถั่วเมล็ดแห้งเป็นประจำ ซึ่งอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ จะช่วยปกป้องเซลล์ไม่ให้ถูกทำลาย
จากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Clinical Oncology ปี 2020 พบว่า “อาหารแบบเมดิเตอร์เรเนียน” สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านมและมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้อย่างชัดเจน
3. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
นพ.ติ่ญ แนะนำว่า การเคลื่อนไหวร่างกายเป็นประจำ เช่น เดินเร็ว ปั่นจักรยาน หรือว่ายน้ำ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 150 นาที ช่วยลดการอักเสบ เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน และควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยสำคัญในการป้องกันมะเร็ง
ข้อมูลจากสมาคมมะเร็งแห่งสหรัฐอเมริการะบุว่า ผู้ที่ออกกำลังกายเป็นประจำ มีความเสี่ยงต่อมะเร็งบางชนิดน้อยกว่าผู้ที่ไม่ค่อยขยับตัวถึง 20–30%
4. นอนหลับเพียงพอและตรงเวลา
การนอนหลับมีบทบาทสำคัญต่อการฟื้นฟูและซ่อมแซมเซลล์ในร่างกาย หากนอนน้อยกว่า 5 ชั่วโมงต่อคืน หรือทำงานกะดึกเป็นเวลานาน จะส่งผลให้ระดับเมลาโทนิน – ฮอร์โมนที่ช่วยยับยั้งการเติบโตของเซลล์มะเร็ง – แปรปรวน
งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดยังพบว่า ผู้ที่ทำงานกลางคืนมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมและมะเร็งต่อมลูกหมากสูงกว่าผู้ที่นอนหลับเป็นเวลาอย่างมีนัยสำคัญ
5. งดบุหรี่ และลดการดื่มแอลกอฮอล์
หมอติ่ญ เตือนว่า บุหรี่มีสารก่อมะเร็งมากกว่า 70 ชนิด ส่วนแอลกอฮอล์เมื่อเข้าสู่ร่างกายสามารถเปลี่ยนเป็นสารที่ก่อให้เกิดการกลายพันธุ์ของดีเอ็นเอ องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า 22% ของผู้เสียชีวิตจากมะเร็งมีสาเหตุมาจากการสูบบุหรี่
การเลิกบุหรี่และลดการดื่มแอลกอฮอล์จึงเป็นวิธีง่าย ๆ แต่ทรงพลังในการดูแลสุขภาพระยะยาว
หมอติ่ญเน้นย้ำว่า "ภูมิคุ้มกันไม่ใช่เวทมนตร์ แต่เป็นผลลัพธ์จากการใช้ชีวิตอย่างถูกต้อง ไม่มีใครปลอดภัยจากมะเร็งได้ 100% แต่ทุกคนสามารถลดความเสี่ยงได้มาก หากเลือกใช้ชีวิตอย่างมีสติ สุขภาพดี และให้คุณค่ากับตัวเองในทุก ๆ วัน"