
ผลวิจัยเผย "สารอาหาร 2 กลุ่ม" ศัตรูตัวฉกาจมะเร็งลำไส้ใหญ่! เปิดชื่อผักผลไม้ที่มีสารนี้
ผลวิจัยเผยสารอาหาร 2 กลุ่มนี้ ศัตรูตัวฉกาจของมะเร็งลำไส้ใหญ่ สามารถกำจัดเซลล์มะเร็งได้ ลดความเสี่ยงได้ถึง 20% เปิดชื่อผักผลไม้ที่มีสารนี้
"มะเร็งลำไส้ใหญ่" ถือเป็นภัยเงียบที่กำลังคุกคามสุขภาพคนไทยมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ซึ่งมักตรวจพบในระยะลุกลาม เพราะไม่มีอาการในช่วงเริ่มต้น
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า การตรวจคัดกรองอย่างสม่ำเสมอ เช่น การตรวจอุจจาระหาเลือดแฝง หรือการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ มีความสำคัญอย่างยิ่ง แต่ที่ขาดไม่ได้คือ การปรับพฤติกรรมการกิน โดยเฉพาะการเพิ่มผักผลไม้ที่อุดมด้วย "ใยอาหาร" (Dietary Fiber) และ "เควอซิทิน" (Quercetin) ซึ่งเป็นฟลาโวนอยด์ธรรมชาติที่มีคุณสมบัติต้านมะเร็ง
นพ.เฉิน เป่าจง แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินอาหาร ชาวไต้หวัน ระบุว่า ผู้ที่รับประทานมังสวิรัติมีโอกาสเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่น้อยกว่าผู้ที่กินเนื้อสัตว์อย่างชัดเจน เนื่องจากผักและผลไม้มีใยอาหารสูง ซึ่งช่วยกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ ทำให้อุจจาระเคลื่อนตัวเร็วขึ้น ลดเวลาที่สารพิษหรือสารก่อมะเร็งสัมผัสกับผนังลำไส้
นอกจากนี้ งานวิจัยจาก The American Journal of Clinical Nutrition ปี 2023 ยังพบว่า การรับประทานใยอาหารมากกว่า 25 กรัมต่อวัน สามารถช่วยลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้มากกว่า 22%
นอกจากใยอาหารแล้ว “เควอซิทิน” (Quercetin) ยังเป็นสารอีกชนิดที่ได้รับความสนใจอย่างมาก โดยเควอซิทินเป็นสารสีธรรมชาติจากพืช พบได้ในผักผลไม้หลายชนิด เช่น หอมหัวใหญ่ แอปเปิ้ล องุ่นแดง พริกหยวก บรอกโคลี และชาเขียว
งานวิจัยพบว่า เควอซิทินมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและลดการอักเสบอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง ปรับสมดุลจุลินทรีย์ในลำไส้ และกระตุ้นให้เซลล์มะเร็งตายไปตามธรรมชาติ จึงช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของลำไส้ได้ดี
นอกจากนี้ จากการทดลองในสัตว์ที่เผยแพร่ในวารสาร Frontiers in Pharmacology ปี 2022 ยังยืนยันว่าเควอซิทินมีผลในการยับยั้งเซลล์มะเร็งลำไส้อย่างชัดเจน
ด้าน นักโภชนาการ เจียง ซินฮวา และ พาน อิงเจิน แนะนำว่า เควอซิทินเป็นสารที่ละลายในไขมัน ร่างกายจึงดูดซึมได้ไม่ดีนัก หากต้องการเพิ่มประสิทธิภาพการดูดซึม ควรรับประทานร่วมกับผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง เช่น กีวี ส้ม และเลมอน
องค์การความปลอดภัยด้านอาหารแห่งสหภาพยุโรป แนะนำว่า สำหรับคนทั่วไป ควรได้รับเควอซิทินจากอาหารตามธรรมชาติในปริมาณวันละ 10–100 มิลลิกรัม แต่หากต้องการเสริมในรูปแบบอาหารเสริม ควรอยู่ในช่วง 500–2,000 มิลลิกรัมต่อวัน โดยเริ่มจากขนาดต่ำก่อนเพื่อให้ร่างกายปรับตัวได้ดี
อย่างไรก็ตาม แพทย์ย้ำว่า แม้เควอซิทินจะมีศักยภาพในการต้านมะเร็ง แต่สารอาหารเพียงชนิดเดียวไม่สามารถป้องกันโรคมะเร็งได้อย่างครอบคลุม ดังนั้นประชาชนควรดูแลสุขภาพแบบองค์รวม ทั้งการออกกำลังกายสม่ำเสมอ ควบคุมน้ำหนัก งดสูบบุหรี่ จำกัดการดื่มแอลกอฮอล์ และลดการบริโภคเนื้อแดง