
หนุ่มอายุแค่ 22 ป่วยโรคเกาต์ ต้นเหตุไม่ใช่ "กินไก่เยอะ" แต่เมนูโปรดคือเนื้อชนิดนี้!
หนุ่มอายุแค่ 22 ป่วยโรคเกาต์ ต้นเหตุไม่ใช่ "กินไก่มากไป" แต่เป็นเนื้อชนิดนี้! หมอแจ้งผลตรวจช็อก ไม่ได้เป็นแค่โรคเดียว
ชายหนุ่มชาวฮานอย ประเทศเวียดนาม อายุเพียง 22 ปี ต้องเข้ารับการรักษาอย่างเร่งด่วนหลังมีอาการปวดข้อเท้าซ้ายอย่างรุนแรง โดยก่อนหน้านั้น 1 วัน เขาเริ่มมีอาการปวดแบบหน่วงๆ และรุนแรงขึ้นในเวลากลางคืนหรือขณะเดินจนไม่สามารถเดินได้เอง
จากการตรวจของแพทย์พบว่า เขามีค่าดัชนีมวลกาย (BMI) สูงถึง 35.01 เข้าข่ายโรคอ้วนระดับ 2 นอกจากนี้ยังพบข้อเท้าซ้ายบวม แดง ร้อน เจ็บ และเคลื่อนไหวได้จำกัด
ผลตรวจทางห้องปฏิบัติการพบว่ามีกรดยูริกในเลือดสูงผิดปกติ ไขมันในเลือดผิดปกติ (คอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์สูง) มีของเหลวในข้อเท้าซ้าย ไขมันพอกตับระดับ 2 และพบติ่งเนื้องอกในถุงน้ำดี
พฤติกรรมเสี่ยงของชายหนุ่มคนนี้คือ การรับประทานเนื้อสัตว์มาก โดยเฉพาะเนื้อแดง แต่กลับไม่ค่อยออกกำลังกาย ทำให้ควบคุมน้ำหนักไม่ได้ และนำไปสู่ปัญหาการเผาผลาญผิดปกติหลายด้านพร้อมกัน
โรคเกาต์ในคนวัยหนุ่มสาว : แนวโน้มที่เพิ่มขึ้น
แพทย์เตือนว่าในปัจจุบันโรคเกาต์เริ่มพบมากขึ้นในคนอายุน้อย ต่างจากอดีตที่มักพบในผู้สูงวัย สาเหตุหลักคือการรับประทานอาหารที่มีโปรตีนและไขมันสูง ดื่มแอลกอฮอล์ และการใช้ชีวิตแบบไม่ค่อยเคลื่อนไหว ส่งผลให้คนวัย 20 กว่าปีเริ่มป่วยด้วยโรคนี้
แพทย์ได้ให้ยารักษาอาการอักเสบและกรดยูริกสูง พร้อมทั้งแนะนำให้พักผ่อน ประคบเย็น และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน เช่น ลดเนื้อแดง เครื่องในสัตว์ อาหารทะเล งดแอลกอฮอล์ เพิ่มการดื่มน้ำ รับประทานผักและผลไม้มากขึ้น รวมถึงออกกำลังกายเบาๆ อย่างสม่ำเสมอ
พญ.ตรินห์ ถิ งา ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคข้อและกระดูก จาก Medlatec Health System ประเทศเวียดนาม ระบุว่า เกาต์คือโรคที่เกิดจากการสะสมของผลึกยูเรตในข้อต่อ หากไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้ข้อผิดรูป ไตเสียหาย และคุณภาพชีวิตแย่ลง
คำแนะนำจากแพทย์
-
รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
-
จำกัดเนื้อแดง เครื่องในสัตว์ อาหารทะเล
-
หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์
-
ดื่มน้ำวันละ 2–3 ลิตร
-
ออกกำลังกายเป็นประจำ
โรคเกาต์ คืออะไร
โรคเกาต์ (Gout) เป็นหนึ่งในโรคข้ออักเสบที่พบได้บ่อยในคนไทย โดยเฉพาะในเพศชายวัยกลางคนขึ้นไป สาเหตุหลักของโรคนี้มาจากระดับกรดยูริกในเลือดที่สูงเกินไปจนตกผลึกสะสมในข้อ ทำให้เกิดอาการปวด บวม แดง ที่ข้ออย่างเฉียบพลัน โดยเฉพาะข้อนิ้วเท้า ข้อเท้า ข้อเข่า หรือข้ออื่น ๆ ในร่างกาย
หลายคนเข้าใจผิดว่าโรคเกาต์เกิดจาก “การกินไก่มากเกินไป” แต่ในความเป็นจริงแล้วมีหลายปัจจัยร่วมกัน
กรดยูริกเป็นของเสียที่ร่างกายสร้างขึ้นจากการย่อยสลายสารพิวรีน ซึ่งพบได้ในอาหารหลายชนิด เช่น เครื่องในสัตว์ อาหารทะเล หรือแม้แต่ในเนื้อแดง
โดยปกติแล้ว กรดยูริกจะถูกกรองออกทางไตและขับออกทางปัสสาวะ แต่ถ้าร่างกายผลิตกรดยูริกมากเกินไป หรือไตไม่สามารถขับกรดยูริกได้ดีพอ ก็จะทำให้เกิดการสะสมในกระแสเลือด จนตกผลึกและสะสมในข้อต่อ ทำให้เกิดการอักเสบเฉียบพลันหรือเรื้อรัง
โรคเกาต์อาจเกิดเป็นครั้งคราวหรือเป็น ๆ หาย ๆ แต่หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม ก็สามารถทำลายข้อต่อและส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาวได้
โรคเกาต์เกิดจากอะไรได้บ้าง
สาเหตุของโรคเกาต์มีทั้งจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตและปัจจัยภายในร่างกาย เช่น
- พันธุกรรม หากคนในครอบครัวมีประวัติโรคเกาต์ ก็มีโอกาสที่จะเกิดโรคนี้สูงขึ้น
- การบริโภคอาหารที่มีพิวรีนสูง เช่น เครื่องในสัตว์ อาหารทะเล เนื้อแดง เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และน้ำหวานที่มีฟรุกโตสสูง
- น้ำหนักตัวเกินหรือโรคอ้วน เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเกาต์และทำให้ไตขับกรดยูริกได้ยากขึ้น
- โรคประจำตัวบางอย่าง เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไตเรื้อรัง
- การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาขับปัสสาวะ หรือแอสไพริน
การควบคุมปัจจัยเหล่านี้สามารถช่วยลดโอกาสการเกิดหรือกำเริบของโรคเกาต์ได้อย่างมาก โดยเฉพาะการเลือกกินอาหารอย่างเหมาะสม
อาการของโรคเกาต์เป็นอย่างไร
อาการของโรคเกาต์มักจะเกิดขึ้นแบบเฉียบพลัน โดยมีลักษณะเด่นคือ
- ปวดข้อรุนแรง โดยเฉพาะตอนกลางคืนหรือตอนเช้ามืด มักเริ่มจากข้อเดียว เช่น ข้อหัวแม่เท้า
- ข้อบวม แดง ร้อน และเจ็บมาก จนไม่สามารถขยับหรือเดินได้ตามปกติ
- อาการมักดีขึ้นภายใน 3-10 วัน แต่หากไม่ได้รับการดูแลหรือหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้น ก็อาจเกิดซ้ำอีก
- กรณีเรื้อรัง อาจมีปุ่มก้อนใต้ผิวหนังที่เรียกว่า ”โทฟี (Tophi)” จากการสะสมของผลึกกรดยูริก และทำลายข้อต่อถาวร
หากคุณมีอาการเหล่านี้ควรพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง
เป็นโรคเกาต์ ห้ามกินอาหารอะไรบ้าง ?
ผู้ป่วยโรคเกาต์ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีพิวรีนสูง เพราะจะเพิ่มระดับกรดยูริกในเลือด เช่น
- เครื่องในสัตว์ เช่น ตับ ไต หัวใจ กระเพาะหมู
- อาหารทะเล เช่น หอย ปลาหมึก กุ้ง ปู ปลาซาร์ดีน ปลาทู
- เนื้อสัตว์แดง เช่น เนื้อวัว เนื้อหมูที่ติดมันมาก
- อาหารแปรรูป ไส้กรอก เบคอน แฮม
- เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะเบียร์ เพราะมีพิวรีนและส่งผลต่อการขับกรดยูริกทางไต
- น้ำหวานที่มีฟรุกโตสสูง เช่น น้ำอัดลม น้ำผลไม้เข้มข้น
การหลีกเลี่ยงอาหารเหล่านี้จะช่วยควบคุมอาการและลดการเกิดการอักเสบได้ดีขึ้น นอกจากนี้ ควรเน้นอาหารที่มีพิวรีนต่ำ เช่น ผัก ผลไม้ ข้าวกล้อง ธัญพืช และเนื้อปลาไขมันต่ำในปริมาณพอเหมาะ