ปฏิบัติการด่วน! แอมเนสตี้ยื่น 3 ข้อเรียกร้องต่อนายกฯ ปล่อยตัว-หยุดดำเนินคดี "อานนท์ นำภา"
วันนี้ (5 ก.พ. 67) แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ร่วมกับเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน ได้นำ 7,301 รายชื่อจากการเปิดปฏิบัติการด่วน (URGENT ACTION) เข้ายื่นข้อเรียกร้องถึงเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ซึ่งคนทั่วโลกได้ร่วมลงชื่อและส่งจดหมายเรียกร้องถึงรัฐบาลให้ปล่อยตัว “อานนท์ นำภา” นักปกป้องสิทธิมนุษยชนโดยทันทีและไม่มีเงื่อนไข พร้อมยกเลิกข้อความกล่าวหาและคำตัดสินในกระบวนการยุติธรรมที่เขาถูกดำเนินคดีความทั้งหมด รวมไปถึงประชาชน เด็กและเยาวชนทุกคนที่ถูกดำเนินคดี เนื่องจากการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกของตัวเอง ทั้งนี้ สมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมืองพร้อมคณะ เป็นผู้ออกมารับหนังสือ
ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เผยว่า การนำรายชื่อประชาชนและนักกิจกรรมจากทั่วโลกมายื่นเรียกร้องให้รัฐบาลไทยปล่อยตัวและยกเลิกข้อกล่าวหาทั้งหมดกับอานนท์ นำภา รวมถึงนักกิจกรรมคนอื่นๆ ในครั้งนี้ คือปฏิบัติการด่วนที่สำนักเลขาธิการใหญ่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ต้องการกระตุ้นให้ทางการไทยปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ที่กำหนดให้รัฐบาลไทยต้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนประชาชนทุกคน ทั้งสิทธิในเสรีภาพการแสดงออก การสมาคม และการชุมนุมโดยสงบ รวมถึงการยกเลิกแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่จำกัดสิทธิมนุษยชน
“4 ปีที่ผ่านมาพบว่าเกิดการดำเนินคดีความกับนักกิจกรรมและผู้ที่ออกมาใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบจำนวนมาก สะท้อนให้เห็นว่าการออกมาใช้สิทธิมนุษยชนในประเทศของตัวเองกลายเป็นเรื่องน่าเศร้า เพราะทุกคนถูกจับกุมคุมขัง ถูกคุกคาม ถูกติดตาม หรือต้องจากบุคคลอันเป็นที่รัก ปัจจุบันพบตัวเลขผู้ถูกละเมิดสิทธิเรื่องนี้มากกว่า 1,938 คน ในจำนวนนี้มีเด็กถูกดำเนินคดีความไปแล้วอย่างน้อย 286 คน ซึ่งทำให้เห็นถึงความบกพร่องในหน้าที่ของรัฐบาลไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”
ปิยนุชยังได้เน้นย้ำเรื่องสิทธิในการประกันตัวหรือปล่อยตัวชั่วคราวคือสิทธิมนุษยชนที่ทุกคนควรได้รับ สอดคล้องกับหลักการทางกฎหมายที่ให้สันนิษฐานก่อนว่า “ผู้ถูกกล่าวหาในคดีอาญาเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด” พร้อมกันนี้ ยังได้ย้ำถึงคำประกาศที่รัฐบาลไทยได้กล่าวกับนานาชาติและประชาคมโลก ว่าประเทศไทยจะลงสมัครสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (HRC) ระหว่างปี พ.ศ. 2568 - 2670 หากรัฐไทยต้องการเป็นส่วนหนึ่งของคณะมนตรีฯ รัฐไทยต้องเคารพและคุ้มครองสิทธิมนุษชนในประเทศของตนตามที่ประกาศไว้
ข้อเรียกร้องของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลถึงรัฐบาลไทย มีดังต่อไปนี้
ด้านสมคิด เชื้อคง ซึ่งเป็นตัวแทนรัฐบาลที่ออกมารับหนังสือเปิดเผยว่า เรื่องนี้ทางรัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ และจะรับไปเร่งรัดพิจารณาโดยเฉพาะเรื่องกฎหมายนิรโทษกรรม มองว่าสำหรับนายอานนท์แล้วก็ถือว่าเป็นคนบ้านเดียวกับตน ก็ไม่ควรที่จะต้องถูกดำเนินคดีทางการเมืองลักษณะแบบนี้ ซึ่งในวันที่ 8 กุมภาพันธ์นี้ สภาผู้แทนราษฎรจะมีการอภิปรายร่างกฎหมายนิรโทษกรรม ก็จะนำข้อเสนอต่างๆ จากประชาชนไปอภิปรายชี้แจงในที่ประชุมสภาให้ โดยเน้นย้ำว่า การยื่นนิรโทษกรรมในเวลานี้ ยังไม่ต้องพูดถึงว่าจะต้องยกเว้นความผิดตามกฎหมายข้อใดก็ตาม แต่ทางรัฐบาลจะเร่งรับเรื่องนี้ไปดำเนินการให้ต่อไป