
แม่ใจสลาย ลูกสาววัย 18 ไตวายระยะสุดท้าย อาหารสุขภาพ กลายเป็นดาบสองคม
แม่ใจสลาย ลูกสาววัย 18 ไตวายระยะสุดท้าย ให้ลูกกินแต่อาหารที่คิดว่าดีต่อสุข กลายเป็นบทเรียนไปทั้งชีวิต
ณ แผนกไตเทียม โรงพยาบาลแทงห์เญิน กรุงฮานอย เสียงเครื่องฟอกไตดังเป็นจังหวะในเช้าตรู่วันหนึ่ง ขณะที่คุณแม่ นั่งเงียบอยู่ข้างลูกสาว วัย 18 ปี ดวงตาเธอแดงก่ำ คอยก้มลงถามไถ่ลูกเป็นระยะ ลูกสาวของเธอกำลังมีชีวิตอยู่ได้ด้วยเครื่องฟอกเลือด ซึ่งต้องทำถึง 3 ครั้งต่อสัปดาห์
“ถ้าตอนนั้นฉันเข้าใจเรื่องสุขภาพมากกว่านี้ ไม่พยายามบำรุงลูกจนเกินไป…” แม่พูดด้วยน้ำเสียงสะอื้น
จากความหวังดี กลายเป็นความเสียใจ
ผู้ป่วยหญิงวัย 18 รายนี้ เป็นลูกคนเล็กในครอบครัว พ่อแม่รักและเป็นห่วงสุขภาพลูก จึงพยายามหาวิธีบำรุงร่างกายด้วยอาหารเสริมและยาหลากหลายชนิด ตั้งแต่เล็กเธอมักเจ็บป่วยง่าย ร่างกายอ่อนแอ พ่อแม่จึงฟังคำแนะนำจากคนรอบข้าง ใครว่าดีอะไร ก็ซื้อมาทั้งหมด
จุดเปลี่ยนเกิดขึ้นในปี 2022 ช่วงที่โควิด-19 แพร่ระบาด ลูกสาวก็ติดเชื้อ แม้อาการจะไม่รุนแรงและฟื้นตัวเร็ว แต่ครอบครัวกลับยิ่งบำรุงหนักขึ้น ทุกวันเธอต้องกินยาหลายชนิด ทั้งยาที่แพทย์สั่ง ยาที่ซื้อกินเอง และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารรวมเกือบสิบชนิดต่อวัน
หลังจากนั้น ไม่นานแม่เริ่มสังเกตว่าลูกสาวมีรูปร่างอวบขึ้น ใบหน้ากลม แขนขาใหญ่ขึ้น แทนที่จะกังวล กลับรู้สึกดีใจ คิดว่าลูกแข็งแรงขึ้น จนกระทั่งไม่กี่เดือนต่อมา เธอเริ่มมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ ใบหน้าบวม ครอบครัวจึงรีบนำเธอไปตรวจ
ไตเสื่อมทั้ง 2 ข้าง
ผลตรวจเป็นเหมือนสายฟ้าฟาดกลางใจ ไตทั้งสองข้างของลูกสาวเสื่อมหมด ไม่สามารถทำหน้าที่กรองของเสียได้อีก เธอเป็นโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ทางเลือกมีเพียงสองทาง ผ่าตัดเปลี่ยนไต หรือฟอกไตตลอดชีวิต
แต่ด้วยค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนไตที่สูงเกินกำลัง ครอบครัวจึงเลือกใช้วิธีฟอกไตต่อเนื่องสามครั้งต่อสัปดาห์เพื่อยื้อชีวิตไว้
“ทุกครั้งที่เห็นลูกถูกเจาะเข็ม ฉันรู้สึกเจ็บเหมือนหัวใจจะหยุดเต้น ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ ฉันจะไม่มองข้ามอาการบวมของลูก และจะไม่บำรุงโดยไม่คิดหน้าคิดหลัง” แม่พูดทั้งน้ำตา
ใช้ยาบำรุงผิดวิธี เสี่ยงทำลายไตโดยไม่รู้ตัว
เรื่องราวของครอบครัวนี้เป็นบทเรียนสำคัญ “ไม่ใช่ทุกอย่างที่ดูดีต่อสุขภาพจะเหมาะกับทุกคน” ร่างกายของคนเรามีขีดจำกัดในการดูดซึมสารอาหาร และหากเกินพอดี อวัยวะภายในอย่าง “ตับ” และ “ไต” ต้องทำงานหนักขึ้นในการขับออก
ผศ.นพ.เหงียน ดังก๊วก หัวหน้าแผนกไตเทียม โรงพยาบาลแทงห์เญิน กล่าวว่า โรคไตเรื้อรังในวัยรุ่นไม่ใช่เรื่องแปลก และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในเวียดนาม ส่วนหนึ่งเกิดจากพฤติกรรมเสี่ยง เช่น กินโปรตีนมากเกินไป ขาดการออกกำลังกาย และที่สำคัญคือการใช้ยาบำรุงหรืออาหารเสริมโดยไม่ผ่านคำแนะนำของแพทย์
วิธีป้องกันโรคไตในวัยรุ่น
-
รับประทานอาหารที่สมดุลและมีคุณภาพ
-
ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
-
หลีกเลี่ยงอาหารที่มีสารกันบูดหรือวัตถุเจือปนที่อาจทำร้ายไต
-
นอนพักผ่อนให้เพียงพอ อย่าหักโหม
-
ตรวจสุขภาพเป็นประจำเพื่อตรวจหาความผิดปกติแต่เนิ่นๆ