
สื่อเปิดทรัพย์สิน "เจ้าอาวาสเส้าหลิน" ถูกจับฉาวสนั่นโลก แฉใต้จีวรคืออาณาจักรหุ้น 80%
จากวิถีพุทธสู่ศาลยุติธรรม เจ้าอาวาสวัดเส้าหลินถูกจับสอบสวนคดีอาญา ใต้จีวรคืออาณาจักรพาณิชย์เต็มรูปแบบ!
พระซื่อหย่งซิ่น พระธรรมาจารย์วัย 60 ปี เจ้าอาวาสวัดเส้าหลิน ซึ่งเป็นหนึ่งในพระสงฆ์ที่มีชื่อเสียงที่สุดในจีน และดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 1999 ขณะนี้กำลังถูกเจ้าหน้าที่ทางการสอบสวนในคดีอาญา เกี่ยวกับการยักยอกทรัพย์และเงินโครงการของวัด รวมถึง ละเมิดศีลธรรมร้ายแรงทางพุทธศาสนา
เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม มีข่าวที่สร้างความสั่นสะเทือนในวงการศาสนาของจีนถูกเผยแพร่พร้อมกัน ทั้งทางเว็บไซต์ทางการและบัญชี Weibo ของฝ่ายบริหารวัดเส้าหลินออกแถลงการณ์ โดยทันทีที่เผยแพร่ออกมา ก็ได้จุดกระแสวิพากษ์บนโซเชียลมีเดียอย่างรุนแรง
แถลงการณ์ดังกล่าวใช้ถ้อยคำที่รุนแรง ระบุว่า พระซื่อหย่งซิ่น เจ้าอาวาสวัดเส้าหลิน กำลังถูกสอบสวนในคดีอาญา โดยมีข้อกล่าวหาหนัก 2 ประการ คือยักยอกและยึดครองทรัพย์สินของวัด รวมถึงมีความสัมพันธ์ต้องห้ามกับสตรีหลายคนและมีบุตรนอกสมรส โดยทางวัดจะเปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมต่อสาธารณชนอย่างโปร่งใส ซึ่งสร้างความตกตะลึงให้กับประชาชนอย่างมาก
เจ้าอาวาสซึ่งมีปริญญาโท MBA และได้รับฉายาว่า “พระ CEO” เคยถูกวิจารณ์หนักในอดีตว่าทำให้วัดกลายเป็นธุรกิจ โดยมีบทบาทในแผนสร้างรีสอร์ตหรูในออสเตรเลีย รวมถึงมีข่าวฉาวเกี่ยวกับความสัมพันธ์ส่วนตัวเมื่อปี 2015 ซึ่งต่อมาทางการจีนเคยปัดตกข้อกล่าวหาในปี 2017 ด้วยเหตุ "หลักฐานไม่เพียงพอ"
กระทั่งล่าสุด สื่อจีนรายงานว่า เขาถูกจับที่เมืองซินเซียง เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2568 และมีความเชื่อมโยงกับองค์กรธุรกิจถึง 8 แห่ง โดย 3 แห่งยังคงดำเนินกิจการอยู่ รวมถึงวัดเส้าหลิน กรณีนี้กลายเป็นกระแสแรงในสังคมจีน โดยเฉพาะบน Weibo ซึ่งวิพากษ์วิจารณ์การแปรสภาพวัดพุทธอายุกว่า 1,500 ปีให้กลายเป็น "เครื่องจักรหาเงิน" ของเจ้าอาวาสมากกว่าการเผยแผ่ธรรมะ
“เส้าหลิน” ใต้จีวรคืออาณาจักรพาณิชย์เต็มรูปแบบ วัดหรือบริษัท?
ตามรายงานของสื่อระบุอ้างว่า ตลอด 36 ปีในการครองตำแหน่ง เจ้าอาวาสรูปนี้ได้แปลงวัดเส้าหลินจากสถานที่ปฏิบัติธรรม ให้กลายเป็นอาณาจักรการค้าเต็มรูปแบบ ภายใต้แนวคิด "พุทธไม่ปฏิเสธโลก"
-
วัดจดทะเบียมากกว่า 700 เครื่องหมายการค้า ครอบคลุมตั้งแต่สื่อ, อาหาร, เสื้อผ้า, ไปจนถึงแบรนด์ “SHAOLIN” เอง
-
จัดตั้ง 18 บริษัท ที่ดำเนินกิจการเกี่ยวกับการท่องเที่ยว, ภาพยนตร์, วัฒนธรรม, และศิลปะการต่อสู้
-
รายได้รวมทะลุหลักพันล้านหยวนต่อปี
-
แม้แต่ราคาตั๋วเข้าชมวัดก็พุ่งจากหลักสิบ เป็นกว่า 100 หยวน พร้อมระบบจ่ายเงินผ่านเครื่องรูดบัตรแม้กระทั่งค่าสักการะ
โครงสร้างภายในแบบบริษัท – คุมเบ็ดเสร็จถือหุ้น 80% โดยภายในวัดเส้าหลินมีโครงสร้างคล้ายองค์กรธุรกิจ มีแผนกประชาสัมพันธ์ แผนกต่างประเทศ และทีมจัดการบริษัทในเครือ เช่น บริษัท “วู๋ซิ่งเส้าหลิน” ที่เจ้าอาวาสถือหุ้นถึง 80% โดยตรง
แม้เคยอ้างว่าได้รับเงินเดือนแค่ 700 หยวน (ประมาณ 3,500 บาท) ต่อเดือน แต่สื่อจีนพบว่า พระรูปนี้ใช้ชีวิตหรูหรา ขับรถตัวท็อป สวมจีวรทองคำ และเครื่องประดับราคาหลายล้าน
-
สวมจีวรที่ทำจากทองคำ มูลค่า 160,000 หยวน (ประมาณ 812,000 บาท)
-
สวมสายประคำมูลค่าหลายสิบล้านหยวน ซึ่งทำจากวัสดุหายาก
-
ใช้รถหรู Audi Q7 และยังเคยมีรายงานว่า วัดมี รถหรู 15 คัน รวมถึง Mercedes, BMW, และ Land Rover
ปัญหาด้านการเงินของวัดเส้าหลินและพระซื่อหย่งซิ่น เป็นจุดที่ถูกตั้งข้อสงสัยมาโดยตลอด หลายปีก่อนสื่อจีนเคยเปิดโปงว่าวัดเส้าหลินมีรถหรูถึง 15 คันที่กล่าวไปข้างต้น แต่เมื่อถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องนี้ เจ้าอาวาสชี้แจงว่า รถเหล่านั้นเป็นของขวัญที่ได้รับเพื่อเป็นการยกย่องการมีส่วนร่วมของวัดในการเผยแพร่วัฒนธรรม และยืนยันว่าใช้รถเพียงในกิจกรรมแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมเท่านั้น
หนังสือพิมพ์ HK01 รายงานว่า ความทะเยอทะยานของพระซื่อหย่งซิ่น ยังสะท้อนผ่านการขยายอาณาจักรเชิงพาณิชย์ “ในเดือนเมษายน ปี 2022 ที่ผ่านมา มีการขายที่ดินเชิงพาณิชย์ขนาด 38,200 ตารางเมตรในเมืองเจิ้งโจว ในราคา 452 ล้านหยวน และเมื่อประชาชนพบว่า บริษัทที่ชนะการประมูลคือบริษัทเทคโนโลยีเส้าตงเหอหนาน ซึ่งเพิ่งก่อตั้งมาได้เพียง 2 สัปดาห์ และอยู่ภายใต้การควบคุมของพระซื่อหย่งซิ่น ก็เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงทันที"
"เหตุการณ์นี้จุดชนวนให้เกิดข้อถกเถียงครั้งใหญ่เกี่ยวกับการทำวัดเส้าหลินให้กลายเป็นเชิงพาณิชย์ และทำให้สาธารณชนตระหนักว่า ใต้จีวรของพระซื่อหย่งซิ่น คืออาณาจักรธุรกิจที่มีถึง 18 บริษัทอยู่เบื้องหลัง”
ภายใต้การบริหารของพระซื่อหย่งซิ่น วัดเส้าหลินเริ่มมีกลิ่นอายของความเป็นธุรกิจมากขึ้น ค่าเข้าชมวัดจากเดิมเพียงไม่กี่หยวน เพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 100 หยวน กลายเป็นแหล่งรายได้หลัก เงินทำบุญและจุดธูปไหว้พระของผู้ศรัทธาถูกนำไปชำระผ่านเครื่องรูดบัตร POS กลายเป็นธุรกรรมดิจิทัล ขณะที่พิธี “ไขแสง” หรือพิธีปลุกเสกวัตถุมงคล ก็มีการตั้งราคาแยกตามประเภทวัตถุและระดับของพิธี กลายเป็นบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม
ตามรายงานของ Sina เรื่องการจัดการเงินทำบุญของผู้ศรัทธาถือเป็นปริศนาครั้งใหญ่ อาสาสมัครที่เคยทำงานในวัดเปิดเผยว่า มีห้องรับบริจาคตั้งอยู่ทั่วศาลา และเก็บเงินได้จำนวนมากในแต่ละวัน แต่ไม่มีใครรู้ว่าเงินเหล่านั้นถูกนำไปใช้ในทางใด บริษัทวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับวัดเองก็มีรายได้สูงจากการจำหน่ายสินค้าและบริการทางวัฒนธรรม แต่กลับไม่มีรายงานการตรวจสอบบัญชีที่เปิดเผยต่อสาธารณะ ทำให้เกิดข้อสงสัยถึงการถ่ายโอนผลประโยชน์ในเชิงธุรกิจ
- สะพรึง หนังสือลับวาติกัน ทำนายถึง "วันสิ้นโลก" ระบุชัดจะเกิดใน ค.ศ.เท่าไหร่ อีกแค่ไม่กี่ปี!
- โฟกัสผิดจุด! ฮือฮารูป "อดีตแม่ชีจีน" ขอละทางธรรม ลาชีวิตในวัด ไปสร้างรังรักกับ "หนุ่มน้อย"
สังคมจีนตั้งคำถาม “นี่คือพุทธแท้ หรือแค่ธุรกิจแฝงผ้าเหลือง?” โดยคำถามใหญ่คือ เงินบริจาคและเงินค่าสักการะไปอยู่ที่ไหน เพราะไม่มีรายงานตรวจสอบบัญชีอย่างเป็นทางการ ขณะที่ประชาชนเริ่มหมดศรัทธากับพฤติกรรมของผู้ที่ควรเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ
อย่างไรก็ดี เมื่อถูกวิจารณ์หนัก เจ้าอาวาสตอบเพียงว่า “พุทธศาสนาสอนว่าไม่ควรถกเถียงเรื่องถูกผิดเพื่อหลุดพ้น เราเพียงแต่มองไปข้างหน้า มีบางสิ่งที่ต้องใช้เวลาและพื้นที่ในการแก้ไข”
และ “ผลกำไรจากกิจกรรมทางการค้าทั้งหมดล้วนเพื่อสนับสนุนการเผยแผ่พระธรรม พุทธไม่ลี้หนีโลก หากลี้หนีโลก ก็จะดับสูญ... ทั้งหมดนี้คือเพื่อการเผยแผ่พระธรรม”