"ใครอายุยืนที่สุด" หนุ่มโสด-ชายแต่งงาน-พ่อหม้าย นักวิจัยกางข้อมูลชัดๆ ไม่ต้องเถียงกัน!
รวมผลวิจัยจากทั่วโลก ชี้ตรงกัน "ใครอายุยืนที่สุด" หนุ่มโสด-ชายแต่งงาน-พ่อหม้าย ไม่ต้องเถียงข้างๆ คูๆ เอาข้อมูลมากาง!
เชื่อหรือไม่ว่า... สถานภาพการสมรส มีความเกี่ยวข้องกับสุขภาพกายและสุขภาพจิตของผู้ชาย รวมถึงการมีอายุที่ยืนยาวด้วย การวิจัยพบความเชื่อมโยงที่น่าประหลาดใจระหว่างการแต่งงานกับการอายุยืนยาว ถือเป็ยข้อมูลที่ช่วยตอบข้อสงสัยที่หลายคนอาจถกเถียงอย่างไม่ยอมกันว่า ระหว่างชายโสดและผู้ชายที่แต่งงานแล้ว ใครอายุยืนกว่ากัน?
งานวิจัยจาก American Heart Association ที่ตีพิมพ์ในปี 2023 แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างชีวิตสมรสกับสุขภาพของผู้ชาย นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโคโลราโด (สหรัฐอเมริกา) ประเมินข้อมูลโดยอิงจากชาวอเมริกันหลายพันคนที่มีอายุระหว่าง 45-84 ปี ใช้พิจารณากรณีของผู้เข้าร่วมที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวและอัตราการรอดชีวิต จากนั้นวิเคราะห์ปัจจัยต่างๆ เช่น สถานภาพสมรส อายุ อารมณ์ เป็นต้น
ผลการศึกษาพบว่า ชายโสดมีแนวโน้มที่จะเสียชีวิตภายใน 5 ปี หลังจากได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยมีอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรสูงกว่า "ชายม่าย" หรือชายที่หย่าร้างกับภรรยา รวมทั้งชายที่แยกกันอยู่ภับภรรยาด้วย ทั้งนี้ "Katarina Leyba" ยังได้กล่าวได้ด้วยว่า แม้ว่าผู้ชายจะแต่งงานเพียงช่วงหนึ่งของชีวิต แต่ก็สามารถช่วยให้พวกเขาอายุยืนยาวขึ้นได้
นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโคโลราโด อ้างหลักฐานจากการศึกษา 80 ปีที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสายสัมพันธ์ทางสังคม เช่น มิตรภาพและการแต่งงาน มีส่วนทำให้อายุยืนยาวขึ้น การแต่งงานยังช่วยให้ผู้ชายเชื่อมโยงเข้ากับการดูแลสุขภาพของตนเองและเรียนรู้นิสัยเชิงบวก
ส่วนรายงานจากการศึกษา Framingham Offspring ที่ทำการประเมินกับผู้ใหญ่เกือบ 4,000 คน ในช่วง 10 ปี ผ่านทางการวิเคราะห์ปัจจัยที่มีส่วนทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น อายุ ไขมันในร่างกาย การสูบบุหรี่ ความดันโลหิต เบาหวาน และคอเลสเตอรอลในผู้ชาย ผลการวิจัยพบว่า "ผู้ชายที่แต่งงานแล้วมีอัตราการเสียชีวิตต่ำกว่าคนโสดถึง 46%"
จากข้อมูลของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ผู้ชายที่แต่งงานแล้วมีความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าน้อยกว่า และมีแนวโน้มที่จะพอใจกับชีวิตหลังเกษียณมากกว่าชายโสด การมีคู่ครองยังแสดงให้เห็นว่าสามารถลดความเสี่ยงของโรคอัลไซเมอร์ ปรับปรุงระดับน้ำตาลในเลือด และปรับปรุงผลลัพธ์การฟื้นตัวของผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลได้ดีอีกด้วย
การแต่งงานที่ไม่มีความสุขส่งผลเสียต่อสุขภาพ
ในทางตรงข้าม การแต่งงานที่ไม่มีความสุข ก็มีความเกี่ยวข้องกับผลลัพธ์ด้านลบต่อสุขภาพของผู้ชายเช่นเดียวกัน เนื่องจากความขัดแย้งในชีวิตสมรสทำให้เกิดฮอร์โมนความเครียด เช่น อะดรีนาลีนในระดับสูง ซึ่งส่งผลให้ความดันโลหิตเพิ่มขึ้น
ความเครียดในความสัมพันธ์ของคู่รัก ยังกระตุ้นให้เกิดการผลิตไซโตไคน์ ซึ่งเป็นโปรตีนขนาดเล็กที่ทำให้เกิดการอักเสบ เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ โดยข้อมูลแสดงให้เห็นว่าผู้ชายที่หย่าร้าง มีอาการอักเสบในระดับที่สูงกว่าผู้ชายที่ชีวิตแต่งงานมีความสุข
นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์ยังประเมินคนที่ยังไม่ได้แต่งงาน หย่าร้าง หรือเป็นหม้าย ว่ามีนิสัยการกินที่ดีต่อสุขภาพน้อยลง ออกกำลังกายน้อยลง สูบบุหรี่มากกว่าผู้ชายที่แต่งงานแล้ว และความเหงาจากการอยู่คนเดียว ยังส่งผลให้มีอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรสูงอีกด้วย โดยการศึกษาของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดรายงานว่า ผู้ชายที่มีความสัมพันธ์ทางสังคมน้อย มีแนวโน้มที่จะเสียชีวิตจากโรคหัวใจ มากกว่าผู้ชายที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดถึง 82%
ก่อนหน้านี้ การสำรวจผู้ใหญ่ชาวอเมริกันจำนวนมากถึง 127,545 คน แสดงให้เห็นว่าผู้ชายที่แต่งงานแล้ว มีสุขภาพดีกว่าชายโสด หรือชายหม้ายที่ผ่านการหย่าร้าง สอดคล้องกับที่นักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่นรายงานว่า ผู้ชายที่ไม่เคยแต่งงานมีแนวโน้มที่จะเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจ มากกว่าผู้ชายที่แต่งงานแล้วถึง 3 เท่า อีกทั้งยังมีงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ JAMA Network Open ในปี 2022 ที่พบว่าการแต่งงานสัมพันธ์กับการลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากทุกสาเหตุลง 15%